เวลาที่เรานึกถึงคำว่า เศรษฐศาสตร์ เราจะจินตนาการเห็นภาพของเส้นหลายเส้นตัดกันอย่างยุ่งเหยิงสมการที่ยุ่งยาก ที่จริงแล้วสิ่งที่พวกเขาพูดถึงล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งสิ้น
เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่คณะผู้เขียนได้รับใช้ท่านผู้อ่านคอลัมน์ Macroeconomics Outlook ซึ่งพวกเราได้พยายามนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ในหลาย ๆ มิติ ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐไปจนถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับความคิดทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Perception) ในหลากหลายแง่มุม ทั้งนี้เวลาที่เรานึกถึงคำว่า เศรษฐศาสตร์ เราจะจินตนาการเห็นภาพของเส้นหลายเส้นตัดกันอย่างยุ่งเหยิงสมการที่ยุ่งยาก หรือบ่อยครั้งเรามักจะฟังนักเศรษฐศาสตร์ (Economist) พูดจาศัพท์แสงที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งที่จริงแล้วสิ่งที่พวกเขาพูดถึงล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทั้งสิ้น ในสหรัฐอเมริกานักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามสื่อสารกับชาวบ้านทั่วไปให้เข้าใจว่าเรื่องราวของเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องยาก ดังเช่นที่ John Kenneth Gabraith และ Nicole Salinger ได้เขียนหนังสือชื่อ Almost Everyone ’s Guide To Economics ซึ่งวิทยากร เชียงกูลได้นำมาแปลและเรียบเรียงใหม่ในชื่อ เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน (2524) |
. |
สำหรับบ้านเราแล้วการหยิบเอาทฤษฎีทางวิชาเศรษฐศาสตร์ มาอธิบายในภาษาที่คนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องคิดมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นจากการเขียนวิเคราะห์เศรษฐกิจในคอลัมน์เศรษฐกิจตามหนังสือพิมพ์ทั่วไป ต่อมาจึงได้มีการรวมเล่มและตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค เช่น งานของ ราชบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์ อย่าง ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ที่เขียนเกี่ยวกับ เศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน (2518) นอกจากนี้ยังมีงานของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์ที่ร่วมกันเขียนเรื่อง ปัญหา108 ทางเศรษฐกิจ (2523) เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ รวมถึงศัพท์เศรษฐกิจการเงินการคลังที่ชาวบ้านทั่วไปคุ้นหู เช่นเดียวกันนักวิชาการจากฝั่งธรรมศาสตร์อย่างท่านอาจารย์วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน ได้เขียนหนังสือเรื่อง เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด (2536) โดยเนื้อหาได้รวบรวมความคิดและมุมมองทางเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้หนังสืออย่างโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ของท่านอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้คนทั่วไปหันมารู้จักและทำความเข้าใจในวิชาเศรษฐศาสตร์กันมากขึ้น ทั้งหมดที่คณะผู้เขียนร่ายยาวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นในการจับเอาทฤษฎีในตำราออกมาอธิบายให้ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ได้เข้าใจในภาษาที่ง่ายขึ้น |
. |
ในส่วนของ Macroeconomic Outlook ฉบับต้อนรับตรุษจีนปีจอนี้ พวกเราอยากจะนำเสนอเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ว่าคืออะไร และเศรษฐศาสตร์มหภาคได้พูดถึงอะไรบ้างและสำคัญกับพวกเราอย่างไร |
. |
เศรษฐศาสตร์มหภาคเกิดขึ้นได้อย่างไร |
ในแวดวงคนเรียนเศรษฐศาสตร์ยกย่องให้ อดัมส์ สมิธ (Adam Smith) เป็นบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ทั้งที่จริงแล้ว อดัมส์ สมิธ เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวสก๊อตแลนด์ แต่สามารถแต่งตำราทางเศรษฐกิจที่ชื่อว่า The Wealth of Nation ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้ปรากฏสู่สายตาชาวอังกฤษ ครั้งแรกเมื่อปี 1776 โดยกล่าวถึงเหตุที่ทำให้ชาติอังกฤษมั่งคั่ง (Wealth ) หนังสือเล่มนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของความคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจมวลรวม แต่ดั้งเดิมนั้นการศึกษาเรื่องของเศรษฐกิจมักควบคู่ไปกับการศึกษาแนวคิดทางการเมืองหรือที่เรารู้จักกันในนาม Political Economics ซึ่งในปัจจุบัน Political Economics เป็นแขนงวิชาหนึ่งของการศึกษาเศรษฐศาสตร์หรือที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง เนื่องจากนักคิดกลุ่มนี้ได้นำเอาปัจจัยทางการเมืองมาช่วยในกระบวนการวิเคราะห์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่าง ๆ ด้วย เช่นการพูดถึงชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมกร พูดถึงการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น |
. |
กลับมาที่เศรษฐศาสตร์มหภาคกันต่อ จริง ๆ แล้ววิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคปรากฏกายขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ The Great Depression หรือเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1929 และด้วยเหตุนี้นักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจในแนวทางแบบเดิมที่ได้ร่ำเรียนมาแต่ปรากฏว่าไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งในปี 1936 ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้หนึ่งนามว่า John Maynard Keynes ได้เสนอทฤษฎีมหเศรษฐศาสตร์ในหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest and Money แนวคิดของเคนส์ในหนังสือเล่มนี้ได้หักล้างแนวความคิดดั้งเดิมก่อนหน้านี้ที่เชื่อว่าระดับผลิตภัณฑ์ประชาชาติจะอยู่ ณ ระดับการจ้างงานเต็มที่ ถ้าจะมีการผันแปรแตกต่างไปจากระดับการจ้างงานเต็มที่ก็เป็นไปเพียงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะเกิดการปรับตัวผลักให้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติกลับมาอยู่ที่ระดับการจ้างงานเต็มที่อีกครั้งโดยอัตโนมัติ ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาการว่างงานหรือตัวผลิตภัณฑ์ประชาชาติต่ำกว่าระดับการจ้างงานเต็มที่จึงเป็นแค่ปัญหาระยะสั้นและไม่รุนแรง |
. |
อย่างไรก็ตามเคนส์ได้ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดดั้งเดิมนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้ เคนส์เรียกนักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมว่า Classical Economists และเมื่อเคนส์ได้ตีพิมพ์หนังสือของเขาออกมาประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจ และสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงานได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เคนส์ได้รับการยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังว่า เป็นผู้ให้กำเนิดวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาครวมทั้งได้เกิดสำนักคิดที่เรียกว่า Keynesian Economics |
. |
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้กลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ เศรษฐศาสตร์มหภาคได้แตกแขนงแนวความคิดออกไปอีกหลากหลาย บ้างเชื่อในเรื่องนโยบายการเงินว่าสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้บ้างเชื่อเรื่องการค้าระหว่างประเทศ จึงสนับสนุนให้เปิดเสรีทางการค้า บ้างเชื่อในเรื่องนโยบายการคลังและการแทรกแซงของภาครัฐ ความเห็นเหล่านี้ได้เกิดวิวาทะขึ้นมากมายในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่พูดถึงเศรษฐกิจมวลรวม |
. |
เศรษฐศาสตร์มหภาคคืออะไร |
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเมื่อเคนส์เป็นผู้นำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก แนวคิดของเคนส์จึงได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและได้รับการต่อยอดองค์ความรู้จนทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะรู้จักเศรษฐศาสตร์มหภาคมากกว่านี้เราควรรู้ความหมายของมันก่อนว่าหมายถึงอะไร |
. |
เศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจส่วนรวมของระบบเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมส่วนบุคคลหรือพฤติกรรมส่วนย่อยของระบบ แต่เป็นการศึกษาในแง่ของเศรษฐกิจส่วนรวมหรือเศรษฐกิจมหภาค |
. |
เวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ เรามักจะเจอคำว่า GDP ดังที่นายกชอบพูดถึงบ่อย ๆ เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมวลรวมด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเศรษฐศาสตร์มหภาคจะทำการศึกษาตั้งแต่เรื่องของผลผลิตรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจ การบริโภคมวลรวม ระดับราคาสินค้า การจ้างงาน ตลาดเงิน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้นักศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคยังต้องทำความรู้จักกับเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุปเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นการศึกษาเรื่องของเศรษฐกิจส่วนรวมโดยผู้ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจมวลรวมคือรัฐบาล ดังนั้นเศรษฐศาสตร์มหภาคจึงต้องกล่าวถึงบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก |
. |
บทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ |
วิชาเศรษฐศาสตร์ได้แบ่งภาคเศรษฐกิจในระบบออกเป็น 4 ประเภท คือ ภาคครัวเรือน (Household) ภาคผู้ผลิตหรือธุรกิจ (Firm) ภาครัฐบาล (Government) และภาคต่างประเทศ (Foreign) ทั้ง 4 ภาคหรือหน่วยเศรษฐกิจเหล่านี้ล้วนมีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันแต่ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันในลักษณะกระแสหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคณะผู้เขียนจะอธิบายเรื่องนี้ต่อในฉบับหน้า |
. |
สำหรับภาครัฐในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ มีหน้าที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาคได้ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ |
. |
1.การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติและผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ทั้งนี้การกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศล้วนเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลทุกประเทศ แต่การที่ประชาชนจะอยู่ดีกินดีได้รัฐบาลต้องทำให้รายได้ของประชาชนทุกคนเพิ่มขึ้นนั่นรวมไปถึงการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นด้วย ตลอดจนสามารถใช้ทรัพยากรปัจจัยการผลิตภายในประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผลของการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพจะทำให้ประเทศสามารถผลิตสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้นตอบสนองต่อความต้องการของประชากรและท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ของประชากรในประเทศ |
. |
2. การเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน การจ้างงานเป็นการนำทรัพยากรแรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าและบริการ ประเทศใดที่มีกำลังแรงงานมากเป้าหมายการจ้างงานยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น หากประเทศใดเกิดการว่างงานมากย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวมลุกลามไปถึงเศรษฐกิจส่วนบุคคล และอาจกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด ดังนั้นบทบาทภาครัฐจึงต้องพยายามเพิ่มระดับการจ้างงานให้เต็มที่ รวมทั้งลดอัตราการว่างงานลงให้เหลือน้อยที่สุด |
. |
3.การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คำว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือ Stability คือ การที่เศรษฐกิจมวลรวมดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่ผันแปรมากจนเกินไป ทั้งนี้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยัง แบ่งออกเป็นภายในประเทศและภายนอกประเทศ |
. |
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ การที่รัฐสามารถรักษาสมดุลของระบบเศรษฐกิจไม่ให้ซบเซาตกต่ำมากเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรง หรือหากเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปจนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ รัฐต้องสามารถควบคุมเสถียรภาพของระดับราคาไม่ให้ผันแปรไปจนกระทั่งเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ |
. |
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คือ การที่รัฐสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้อย่างราบรื่น ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินของประเทศ หรือปัญหาความผันผวนของค่าเงินซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือในการลงทุนจากค่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง |
. |
4. ความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายนี้รัฐบาลทุกประเทศล้วนต้องการให้เกิดความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งนั้น ความจำเริญ หรือ Growth วัดได้จากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product) ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าภายใน 1 ปี ประเทศของเรามีมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศมากน้อยเพียงใด ในแวดวงการเมืองรัฐบาลทุกประเทศจะพยายามโชว์ตัวเลข Growth ให้ประชาชนและนักลงทุนต่างชาติเห็นเสมอว่าในช่วงที่ตนเองเป็นรัฐบาลได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในบางครั้ง Growth จึงเป็นเป้าหมายแรกของรัฐบาลในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ |
. |
5. ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ หรือ Equity and Income Distribution รัฐมีเป้าหมายในการสร้างความเสมอภาคหรือการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกัน ลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนมีรายได้สูงกับรายได้ต่ำให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันรัฐก็จะเป็นผู้คุมกฎเกณฑ์ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ |
. |
อาจกล่าวได้ว่าในระบบเศรษฐกิจมวลรวม ภาครัฐ นับเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในการสร้างผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน นโยบาย การคลังหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่ทำให้รูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุกหน่วยเศรษฐกิจในระบบเปลี่ยนไปทั้งด้านบวกและด้านลบ อย่างไรก็ตามรัฐควรตระหนักอยู่เสมอว่าบทบาทของตนเองในระบบเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง ควรจัดวางความสำคัญของเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ดีที่สุด |
. |
โดยสรุปแล้วเศรษฐศาสตร์มหภาคถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่เคนส์ได้เสนอแนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เศรษฐศาสตร์มหภาคจึงเป็นการศึกษาเรื่องราวของเศรษฐกิจ มวลรวมโดยพิจารณาจากบทบาทภาครัฐในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ สำหรับในครั้งหน้าเราจะมาคุยกันต่อในเรื่องของกระแสหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจและ GDP |
. |
เอกสารอ้างอิง |
1.รัตนา สายคณิต , มหเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์จากทฤษฎีสู่นโยบาย 2.วิทยากร เชียงกูล, เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน 3.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร , สาระสำคัญของเศรษฐศาสตร์ 4.ชูศักดิ์ จรูญสวัสดิ์ , เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต 5.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน , เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด 6.วรากรณ์ สามโกเศศ , โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี 7.ชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ และคณะ , ปัญหา 108 ทางเศรษฐกิจ |