เนื้อหาวันที่ : 2009-09-11 08:24:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2253 views

"แรงงานเหนือ" เสนอ 10 มาตรการแก้ปัญหา"วิกฤติการเลิกจ้างงาน"

ตัวแทนแรงงานในภาคเหนือ ร้องถูกนายจ้างเอาเปรียบ ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จวกรัฐบาลไม่จริงใจในการปัญหา เอื้อประโยชน์ให้นายจ้าง เสนอ 10 มาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเลิกจ้างระยะยาว

.

วานนี้ (9 ก.ย.2552) เมื่อเวลา 8.30-15.30 น ณ ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการชั้น 4 ณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำเสนอเวทีเสวนาหัวข้อ "แรงงานเหนืออยู่อย่างไรในภาวะวิกฤติ" และจัดแถลงข่าว พร้อมทั้งการนำเสนอโดยนักวิชาการ และอาจารย์เรื่องเวทีเสวนา "ทางออกวิกฤติเศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงาน" เพื่อหาทางออกของการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อแรงงานเหนือดังกล่าว

.

ศิริโชค จันยา ตัวแทน อัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างแรงงาน ที่จ.ลำพูน แรงงานราคาถูก 150 บาท ต่างจากเชียงใหม่ 10-12 บาท ทั้งที่ค่าครองชีพของทั้งสองจังหวัดเท่าๆกัน และพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ประสบความยากลำบาก เพราะ พนักงานต้องก้มหน้าก้มตา ทำโอที ซึ่งทำให้พนักงาน ต้องทำงานเป็นเวลาถึง 12 ชั่วโมง เพื่อยังชีพกับครอบครัว และพนักงานในส่วนของสหภาพแรงงาน ก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า บริษัทประสบปัญหาหรือไม่

.

เพราะบริษัทไม่เปิดเผย อยู่ๆ ก็บอกว่า จะใช้มาตรา 75 ซึ่งมันอยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยให้หยุดงานชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างชดเชย 75% ให้ไปอยู่บ้านเฉยๆ แล้วพนักงานไม่พอเลี้ยงครอบครัวตัวเอง กับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญ ฉะนั้น ข้อเสนอ ปรับค่าแรงงาน และรัฐรองรับคนงาน ซึ่งรัฐจัดหางาน และไม่อยากให้บริษัทใช้มาตรา 75 บ่อยเกินไป

.

มนตรี บัวลอย เครือข่ายแรงงานภาคเกษตร (นกน.) กล่าวถึง แรงงานภาคเกษตร ก็มีผลกระทบเรื่องวิกฤติเหมือนกัน ซึ่งกรณีเกษตรพันธสัญญาแถวบ้านของผม นิยมทำข้าวโพด ซึ่งประสบความขาดทุน ทั้งค่าไถนา ค่าพรวนดิน ซึ่งเราไม่ได้เป็นเจ้าของพืช และทางการผลิตของเกษตรพันธสัญญา จริงๆแล้ว เราเป็นลูกจ้างบริษัท หลังจากผลิตเสร็จ ถ้าเราไม่ทำตามสัญญา ก็หมดสิทธิ์ทำกิน และเราถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว เพราะว่า แรงงานเกษตรทำไร่ตัวเอง แต่มันไม่มีสิทธิของตัวเอง

.

ซึ่งข้อเรียกร้อง คือ 1.แรงงานภาคเกษตรต้องไม่ถูกเอาเปรียบจากเกษตรพันธสัญญา 2.รับประกันความเสี่ยงของเกษตรกรทางด้านอาหาร และ ประกันภัยทางธรรมชาติเกี่ยวกับพืชผล 3.คุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตร 4.รัฐควรสนับสนุนปัจจัยการผลิต 5.จัดสรรที่ดินให้พี่น้องของการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

.

พรศักดิ์ หมื่นตา ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานสามัคคี WSA กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่แรงงานข้ามชาติ ทำงานก่อสร้างมากกว่าการเกษตร เช่น ปลูกหน่อไม้ตามอำเภอแม่ริม และสวนส้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น โดยประเด็น ในปัจจุบัน กรณีแรงงานข้ามชาติ 1.อยากให้สังคมไทย สร้างการยอมรับและเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติ 

.

2.อยากให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในสังคมไทยได้ 3.อยากให้เข้าใจซึ่งกันและกัน 4.อยากเข้าถึงกองทุนทดแทน ซึ่งแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงกองทุนนี้ ไม่ว่าการรักษาพยาบาล เข้าไม่ถึง อยากเป็นแรงงานกฎหมายคุ้มครองอย่างทั่วถึง 5.อยากให้นายจ้างไม่กดขี่รังแก 6.อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือให้มีงานทำต่อเนื่อง

.

ซาซุมิ มาเยอะ ตัวแทนพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า ผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ห้ามผู้หญิง ซึ่งทำงานคาราโอเกะเกิดข้อห้ามนั่งดริ๊งค์ และห้ามผู้หญิงคาราโอเกะมานั่งหน้าร้าน และวิกฤติเศรษฐกิจจากธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มาถึงนายจ้างมาบีบเรา ซึ่งทำงานบริการก็ไม่มีสัญญาอยู่แล้ว และเขาพยายามบีบเราโดยลดเงินเดือนจาก 3,500 บาท เหลือแค่ 1,500 บาทต่อเดือน แล้วเราจะอยู่อย่างไร  

.

เพราะ เราต้องเลี้ยงตัวเอง และครอบครัว ซึ่งเราทำงานเพื่อจะเลี้ยงครอบครัว มาตรการ 1.คุ้มครองแรงงาน 2.ประกาศรับรองสุขภาพ 3.อนุญาตให้แรงงานอพยพได้ภายใต้กฎหมายแรงงาน 4.อบรมฝึกทักษะเพื่อขยายโอกาสทางอาชีพ 5.ขอให้เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์

.

ดวงเดือน คำไชย ตัวแทนแรงงานนอกนอกระบบ กล่าวถึง เมื่อปี2540 นั้น ซึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ว่า รัฐบาลยังไม่รู้ว่า แรงงานนอกระบบมีอยู่จริง จนแม่บ้านเอาผ้าจากโรงงานมาขายถึงรู้ว่ามีแรงงานนอกระบบจริง และยอมรับเรื่องแรงงานนอกระบบ จากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้เรารู้ว่า แรงงานนอกระบบว่า ใครไม่มีประกันสังคม ก็คือ แรงงานนอกระบบ ทั้งหาบเร่ แผงลอยเป็นแรงงานนอกระบบ และแรงงานนอกระบบตามหมู่บ้าน ก็เข้าไม่ถึงทั้งเรื่องต้นกล้าอาชีพจากรัฐบาล และเรื่องคนตกงาน  

.

ซึ่งบางคนก็แทบเป็นบ้า จากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งแรงงานนอกระบบโดยพยายามทำสวัสดิการชุมชน และอาชีวะอนามัยของกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยข้อเสนอ จัดทำนโยบายเชื่อมโยงสะท้อนปัญหาของพวกเรา และแรงงานนอกระบบเข้าถึงแหล่งทุนของท้องถิ่นในการรวมตัวกัน

.

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ความสำคัญของมาตรฐานของแรงงานกับการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ โดยปัญหาการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ คือ มันต้องมีมาตรฐานแรงงานสากล ตาม ILO โดยการส่งเสริม เช่น มาตราที่ 1.เสรีภาพ และการรวมตัวเข้าร่วมองค์กร และการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมาจากปัญหานายจ้างเป็นผู้ผูกขาด

.

และมาตราที่ 2.นายจ้างต้องไม่เลือกปฏิบัติ นายจ้างต้องห้ามตั้งสภาพแรงงาน และรัฐต้องส่งเสริม ระหว่างองค์กรแรงงานกับนายจ้าง และเสรีภาพการรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งมาตราส่งเสริม ในกรณียกเลิกการเกณฑ์ และบังคับแรงงานทุกรูปแบบ โดยสิทธิของการรวมตัวเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยตามการสร้างมาตรฐานของแรงงาน ซึ่งมันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาธิปไตย

.

สุทธิพงษ์ คงคาผล มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และปัญหาการเมืองกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัญหาใหญ่แรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ และประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยแรงงานข้ามชาติ ประสบความลำบากเป็นสองเท่าของแรงงานไทย ซึ่งข้อเสนอให้รัฐบาลกลับไปทบทวนเรื่องแรงงานข้ามชาติและสนธิสัญญาการคุ้มครองแรงงานตามแบบอาเซียนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติ ได้รับความคุ้มครองจากวิกฤติเศรษฐกิจ 

.

รศ.ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราต้องต่อสู้และสามัคคีแรงงานเช่นกรณีสหภาพแรงงานไทรอัมส์ฯถูกตำรวจละเมิดสิทธิการชุมนุม ซึ่งเราต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะเราต่อสู้ไม่ให้สหภาพแรงงานถูกทำลายในยุคทุนไร้พรมแดนไปได้ และเราต้องมีการผลักดันเรื่องระบบสุขภาพของความปลอดภัย จากสถาบันส่งเสริมสุขภาพความปลอดภัย  

.

ซึ่งการร่วมมือกันของภาครัฐ สมัชชาคนจน และคนงาน ในช่วงพลเอก ชวลิต เป็นนายกฯ แล้วนโยบายนี้ไม่ได้ถูกนำเข้าแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่กระจายอำนาจ ซึ่งมันเพิ่มอำนาจของรัฐให้ซับซ้อน และประกอบนโยบาย เกิดขึ้นแล้วล้มเหลว แรงงานต้องเข้าไปต่อยอด ในประเด็นที่ผลักไปแล้ว ซึ่งมีส่วนร่วมของกลุ่มแรงงาน

.

ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าสภาพวิกฤติเศรษฐกิจแล้วแรงงานต้องปรับเรื่องวิถีชีวิต เพื่อให้เราสู้ไปสู่มาตรฐานชีวิตที่ดี ก็เป็นทางออกที่ดี โดยการต่อสู้ของภาคเหนือว่า เราจะปรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น และองค์กรท้องถิ่นให้มีบทบาทสำหรับแรงงานภาคเหนือ ซึ่งต้องอยู่ในชุมชน และการสร้างความเอกภาพ

.

เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองให้เกิดการคุ้มครองแรงงานได้ การผลักดันกฎหมายในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ให้แรงงานปรับวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อการปรับปรุงจัดเวทีเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความรู้สำหรับพลิกวิกฤติทางเศรษฐกิจให้เป็นโอกาสสร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น 

.

จรัญ คุณยศยิ่ง เจ้าหน้าสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน กล่าวว่า เรารวมกลุ่มเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ดี ก็จะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจได้ และเรายังมีสิทธิจะรวมกลุ่มได้ ส่วนแรงงานภาคเหนือ ซึ่งก็มีการแสวงหาความรู้เพื่อให้ลูกจ้างกับนายจ้างอยู่ร่วมกันได้ 

 .

ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานภาคเหนือ ได้สะท้อนปัญหาของแรงงาน ในเขตภาคเหนือโดยปรากฏอยู่กับแถลงการณ์ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เป็นศูนย์กลาง สำหรับผู้ใช้แรงงาน ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ประมาณการว่าตั้งแต่ปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2552 มีการเลิกจ้างคนงานกว่า 20,000 คน ซึ่งเป็นทั้งที่มาจากการเลิกจ้างคนงานอย่างตรงไปตรงมา และอาศัยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นเหตุผลในการลดจำนวนคนงานลง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน  

 .

แถลงการณ์

.

จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ได้แผ่ขยายไปในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังจะเห็นได้จากมีการปิดกิจการ หรือลดกำลังการผลิตในสถานประกอบการทั้งสถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่งผลให้มีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก

.

โดยข้อมูลล่าสุด ผู้ว่างงานในเดือน มิ.ย.2552 มีทั้งสิ้น 4.8 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% แยกเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 3 แสนคนซึ่งเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิตมากที่สุด 1.4 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 1.3 แสคน และภาคเกษตรกรรม 30,000 คน ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.8 แสนคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.))

 .

สำหรับในเขตภาคเหนือ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เป็นศูนย์กลาง ผู้ใช้แรงงาน ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ประมาณการว่าตั้งแต่ปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2552 มีการเลิกจ้างคนงานกว่า 20,000 คน ซึ่งเป็นทั้งที่มาจากการเลิกจ้างคนงานอย่างตรงไปตรงมา และอาศัยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นเหตุผลในการลดจำนวนคนงานลง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน อาทิเช่น

 .

การใช้มาตรา 75 ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เรื่องการหยุดงานบางส่วน หรือทั้งหมด เป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ส่งผลให้แรงงานอีกเป็นจำนวนมากเช่นกันที่ต้องมีรายได้น้อยลงกว่าเดิมจนไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้ 

 .

การทำสัญญาจ้างระยะสั้นแบบชั่วคราวและแบบเหมาช่วง ซึ่งทำให้นายจ้างควบคุมคนงานได้ง่ายขึ้น และทำให้คนงานไม่มีอำนาจในการต่อรอง ตลอดทั้งได้มีนายจ้างใช้กลยุทธ์ทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานของคนงานในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่รัฐใช้ความรุนแรงกระทำต่อผู้ใช้แรงงานด้วย เช่น กรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล

 .

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลก็ไม่มีมาตรการและนโยบายที่ปกป้องสิทธิของคนงาน ไม่สร้างความเป็นธรรมให้กับคนงาน กลับปล่อยให้นายจ้างอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบคนงานและฉวยโอกาสจากวิกฤตเศรษฐกิจทำลายสหภาพแรงงาน เสมือนรัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย ตลอดทั้งนโยบายต่างๆของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาคนตกงานโดยคนงานไม่มีส่วนร่วมในนโยบายแต่อย่างใด เช่น นโยบายต้นกล้าอาชีพ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลให้การแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีความมั่นคงแต่อย่างใด

 .

ขณะเดียวกัน นอกจากแรงงานในระบบเหล่านี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ และแรงงานในภาคเกษตรภาคเหนือ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งการถูกเลิกจ้าง รายได้ที่ลดลง และการลดสวัสดิการ รวมถึงปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 .

ดังนั้น เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และนักวิชาการด้านแรงงาน ในภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการเลิกจ้างทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

 .

1 รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องตั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายโดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมทำการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างคนงานและปิดกิจการว่าประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการฉวยโอกาสในการเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต และปิดสถานประกอบการเพื่อย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น รวมถึงการกำกับตรวจสอบไม่ให้นายจ้างฉวยโอกาสใช้มาตรา 75 เป็นเครื่องมือในการจ้างงานไม่เป็นธรรม

 .

2 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 รวมถึงดำเนินการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2551 และพรบ.ประกันสังคม พรบ.เงินทดแทนด้วย โดยต้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ รวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มไม่ว่าแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการและแรงงานภาคเกษตรกรรมด้วย

 .

3 รัฐและสังคมไทย ต้องสร้างการยอมรับความเป็นจริงที่ว่า แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการเป็นแรงงานส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างสรรค์ให้สังคมไทยพัฒนาก้าวหน้าอยู่ถึงปัจจุบัน จึงต้องเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 .

4 รัฐต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ในประเด็นดังต่อไปนี้
4.1 ให้ใช้มาตรฐานดียวกันกับคนไทยในการปรับ ข้อหาไม่มีใบขับขี่ โดยยึดหลักความถูกต้อง ชอบธรม และเหมาะสม
4.2 ให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อหางานใหม่ 

 .

5 รัฐต้องมีนโยบายให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการบริการพื้นฐานด้วย เช่นการรักษาพยาบาลบุตร การศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็ก เป็นต้น

 .

6 กรณีการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทยอัมพ์อินเอตร์เนชั่นแนล เนื่องจากนายจ้างฉวยโอกาสอ้างวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อล้มสหภาพแรงงานทั้งๆที่มีการขยายโรงงานขยายการผลิตไปสู่ที่อื่นๆ รัฐควรเข้ามีบทบาทผลักดันให้นายจ้างรับคนงานเข้าทำงานตามข้อเสนอของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ รัฐควรสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นกลไกคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน และรัฐบาลไม่ควรอย่างยิ่งที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องเสียงทำลายโสตประสาทคนงานผู้ชุมนุมตามสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องถอนหมายจับผู้นำแรงงานโดยเร่งด่วน

.

7 รัฐบาลต้องผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการฉบับผู้ใช้แรงงาน มิใช่ฉบับคณะรัฐมนตรีที่บิดเบือนข้อเสนอและให้อำนาจกับราชการมากกว่าสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

.

8 นโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานโดย เฉพาะคนตกงาน ต้องให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในกรแก้ไขปัญหา มิใช่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ราชการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และตรงต่อความต้องการของแรงงาน

.

9 รัฐต้องปฏิรูประบบการเกษตร ได้แก่ คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม กระจายการถือครองที่ดิน สร้างหลักประกัน ให้แก่เกษตรกร

.

10 รัฐและสังคมไทยต้องผลักดันสังคมไทยจาก สังคมประชานิยม สังคมที่มีหลักประกันสังคมบางระดับบางส่วน ที่เป็นอยู่ สู่สังคมรัฐสวัสดิการ โดยมีมาตราการภาษีที่ก้าวหน้า

.

สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์
สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์
สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์
แรงงานข้ามชาติ
แรงงานนอกระบบ
แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท