สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กว่า 100 คนบุกพรรคประชาธิปัตย์ ทวงสัญญา "ประชาชนต้องมาก่อน" บีบ "มาร์ค" คัดค้าน กม. อุ้มนายจ้าง ย้ำ "กฎหมายของคนงานต้องมาก่อน"
. |
วานนี้ (8 ก.ย.52) เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่ นนทบุรี อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ อยุธยา สมุทรปราการ กว่า 100 คน ได้เดินทางมายังบริเวณหน้าที่ทำการสำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ถนนเศรษฐศิริ โดยรวมตัวกันอยู่บนฟุตบาตฝั่งร้านค้าสวัสดิการกองทัพบก เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... |
. |
กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูประบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมของแรงงาน ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... โดยระบุว่า พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... เป็นกฎหมายอุ้มนายทุน ผ่านข้อความบนป้ายผ้าที่ระบุว่า "หยุดกฎหมายอุ้มนายจ้าง และรีบนำร่างกฎหมายของคนงานเข้าสภาฯ" "สถาบันความปลอดภัยคือหัวใจของประชาชน" "คัดค้านกฎหมายอุ้มนายจ้าง ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ" |
. |
นอกจากนี้ยังได้มีการปราศรัยโดยแกนนำบนรถเครื่องเสียงทวงสัญญาจากทางพรรคประชาธิปัตย์ว่า กว่า 14 ปี ของการต่อสู้เพื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ความหวังของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเรืองรองขึ้นในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านและมีรัฐมนตรีเงา เคยมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ฉบับผู้ใช้แรงงาน |
. |
แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล กระทรวงแรงงานโดยการนำของ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.กระทรวงแรงงาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น รมว.กระทรวงแรงงานเงาในอดีต กลับนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ผ่านเข้ารับรองในมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกำลังจะเสนอผ่านเข้าไปในการพิจารณาของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในระยะเวลาอันใกล้ |
. |
"ประชาชนต้องมาก่อนใช้ได้จริงหรือไม่ หรือประชาชนต้องไปก่อน" ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งคำถามถึงรัฐบาลผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมระบุถึงข้อเรียกร้องว่า ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการนำเอากฎหมายของกระทรวงแรงงานเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และให้นำเอากฎหมายของภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาแทน |
. |
. |
นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการมาชุมนุมในวันนี้เพื่อประท้วงพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ทำตามสัญญาทั้งที่ได้เป็นรัฐบาล อีกทั้งยังได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีการผลักดันร่างกฎหมายสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหา เน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม บริหารโดย จตุภาคี ที่ทำงานแบบครบวงจร คือ รักษา คุ้มครอง ทดแทน ฟื้นฟู รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบสถานประกอบการ และเป็นต้นแบบคลินิกโรคจากการทำงาน |
. |
ในขณะที่ร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานนั้น เน้นการบริหารโดยราชการที่ไปเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ โดยการสร้างองค์กรใหม่ในหน่วยงานภาครัฐที่คนทำงานก็เป็นคนเดิมๆ ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับแรงงาน อีกทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพที่ให้นายจ้างหรือองค์กรเอกชนกู้ยืมเงินในการส่งเสริมความปลอดภัย แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับแรงงานโดยตรง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการแสวงหาผลกำไรมากกว่า |
. |
นอกจากนั้นยังได้แสดงความเห็นว่าในเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากในการทำความเข้าใจ ยิ่งกฎหมายที่ออกมามีความคลายคลึงกัน ยกตัวอย่างกฎหมายฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆ ว่ากฎหมายความปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนบอกว่าได้ถูกผลักดันแล้ว แต่เมื่อมาดูในส่วนเนื้อหาสาระจะพบว่าร่างกฎหมายฉบับของแรงงาน มีความแตกต่างจากฉบับของกระทรวงแรงงานมาก ดังนั้นเรื่องนี้ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิด |
. |
นางสมบุญ กล่าวด้วยว่าปัญหาผู้ป่วยจากการทำงานเป็นปัญหาที่ครุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในส่วนของการเข้าไปช่วยเหลือของเครือข่ายทำได้เป็นรายกรณีๆ ไป ไม่สามารถติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในขณะที่ระบบยังคงไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาแรงงานเกิดขึ้นเรื่อยๆ |
. |
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรคที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในกลุ่มแรงงานคือโรคกล้ามเนื้ออักเสบและกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งนอกจากแรงงานจะประสบกับปัญหาความเจ็บป่วย ยังมีเรื่องของการฟ้องคดีเนื่องจากกองทุนเงินทดแทนตีความไม่ใช่การป่วยจากการทำงาน และการถูกนายจ้างให้ออกจากงาน |
. |
. |
ในส่วนการรักษาพยาบาล แม้ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงแรงงานจะได้ทำข้อตกลง MOU ให้ มี โรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ 24 แห่ง (คลินิกโรคจากการทำงาน) ในประเทศไทย เพื่อตรวจรักษาโรค การบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ แต่ก็ยังไม่มีระบบการตรวจรักษาที่ครบวงจรจริง |
. |
ยกตัวอย่าง การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของโรคต้องไปตรวจกับโรคพยาบาลภาพนอก และผู้ป่วยต้องเป็นคนเสียค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนี้แรงงานยังไม่รู้ว่ามีโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ให้บริการ ซึ่งก็ได้มีการเรียกร้องให้ทางผู้เกี่ยวข้องมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น |
. |
"ไม่ใช่ว่ามีไว้โก้ๆ ให้รู้ว่ามี แต่ไม่ได้ทำงาน" นางสมบุญแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานในเรื่องของโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ |
. |
ทั้งนี้ การชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 14.00 น.นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าพบกับกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมทั้งรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกฯ ให้เร็วที่สุด โดยนายชุมพล กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นประธาน ส.ส.พรรค เมื่อมีใครเดือดร้อนตนจะเป็นผู้รับเรื่องไว้ เพื่อให้นายกฯ พิจารณาสั่งการ และจะติดต่อกลับไปตามที่อยู่ที่มีการระบุไวในหนังสือ |
. |
ส่วนแกนนำกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ฝากให้พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลดูเรื่องแรงงานที่ตกงานด้วย หากรัฐบาลมีความจริงใจตามที่ว่าคนจนต้องมาก่อน ซึ่งนายชุมพลได้รับปากว่าจะประสานนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.กระทรวงแรงงาน ให้รับเรื่องดังกล่าวไปดูแล เพื่อทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วน และถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ |
. |
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมฯ ได้กล่าวว่าจะมีการติดตามผลในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากไม่คืบหน้าก็จะเดินทางมาใหม่อีกครั้งเพื่อทวงสัญญา ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับ |
. |
. |
แถลงการณ์ |
หยุด !! กฎหมายอุ้มนายจ้าง รีบนำร่างกฎหมายของคนงานเข้าสภา |
. |
พวกเรา กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มาชุมนุมร่วมกัน ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันในฐานะผู้นำรัฐบาล เป็นผู้นำที่ไม่แก้ไขปัญหาและไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้กับผู้ใช้แรงงาน |
. |
เมื่อครั้งยังเป็นฝ่ายค้าน รัฐมนตรีเงากระทรวงแรงงานของพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยรับปาก จะยึดถือร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ที่พวกเราร่วมกันเสนอ ไปเป็นมติพรรค |
. |
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญในการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม บริหารโดย จตุภาคี ทำงานแบบครบวงจร เช่นการรักษา ฟื้นฟู ทดแทน และมีอำนาจตรวจสอบสถานประกอบการ โดย โอนเงินกองทุนทดแทนเข้ามาอยู่ในสถาบันฯ ที่เป็นองค์กรอิสระและเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพและความปลอดภัยแบบมีส่วนร่วมให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน |
. |
แต่แทนที่จะเสนอร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญโดยเน้นการป้องกันแบบมีส่วนร่วม ของผู้ใช้แรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรัฐมนตรีเงาท่านเดิมที่ได้ดีจนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน กลับนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นร่างกฎหมาย "อุ้มนายจ้าง" ที่กระทรวงแรงงานร่างโดยขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม |
. |
มีสาระสำคัญที่เพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ เป็นการสร้างกองทุนใหม่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เสนอเข้า ครม.จนมีมติรับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ฉบับราชการ และเตรียมจ่อเข้าวาระ ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยรับปากพวกเราว่าจะยับยั้งร่างกฎหมายนี้ |
. |
หากท่านยังยืนยันนโยบายของพรรคที่ว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" ดังนั้น พวกเราขอบอกว่า "กฎหมายของคนงานต้องมาก่อน" ก่อนที่พวกเราคนงานจะหมดศรัทธาในตัวท่านและพรรคของท่าน วันนี้ พวกเราจึงขอให้พรรคประชาธิปัตย์และ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้รีบนำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ที่พวกเราร่วมกันเสนอ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยเร็ว |
. |
สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่ นนทบุรี อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ อยุธยา สมุทรปราการ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |