เนื้อหาวันที่ : 2009-09-08 12:15:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2892 views

ผลึก CSR กระทิงแดง เรดบูล สิปิริต

ถ้าบอกว่า "โครงการอีสานเขียว" เป็นภาคหนึ่งของตำนานความสำเร็จเจ้าพ่อกระทิงแดง "เฉลียว อยู่วิทยา" ในครั้งกระโน้น ช่วงรอยต่อของเทคโนโลยี 3G โครงการเพื่อสังคม "เรดบูล สปิริต" อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาคไคลแมกซ์ของตำนาน CSR ในยุคของ "สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา"

วรนุช เจียมรจนานนท์

.

สุทธิรัตน์  อยู่วิทยา

.

ถ้าบอกว่า "โครงการอีสานเขียว" เป็นภาคหนึ่งของตำนานความสำเร็จเจ้าพ่อกระทิงแดง "เฉลียว อยู่วิทยา" ในครั้งกระโน้น ช่วงรอยต่อของเทคโนโลยี 3G โครงการเพื่อสังคม "เรดบูล สปิริต" อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาคไคลแมกซ์ของตำนาน CSR ในยุคของ "สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา" บุตรสาวคนที่ 6 จำนวนพี่น้อง (ต่างมารดา) ทั้งหมด 11 คน

.

7 ปีของการอาบเหงื่อต่างน้ำ จากจุดเริ่มต้นโครงการเพื่อสังคม "กระดานดำกระทิงแดง" ที่เธอเข้ามาหยิบจับ ด้วยพื้นฐานเด็กค่ายเป็นทุนเดิม ทุกวันนี้เธอเปลี่ยนแปลงทางความคิด ไปพร้อม ๆ กับการเติบใหญ่ ของโครงการรับผิดชอบต่อสังคม CSR 

.

"ความคิดเรายุคแรก ๆ เหมือนนักศึกษาเรียนจบ ที่ชอบทำกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท แต่ยังชอบเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง มองออกไปแล้วชอบคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำถูกที่สุด แต่พอนานไป ได้ทำกิจกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้สัมผัสผุ้คน ได้เปิดใจรับมากขึ้น"

.

เธอบอกว่า ใจเหมือนหน้าต่างที่เปิดกว้าง ได้ขยับสายตามามองในมุมที่ไม่เคยมอง มีหลายมุมที่เป็นไปได้ และก็ทำได้ทั้งดีกว่าและสมบูรณ์แบบมากกว่ามุมเดิม ๆ ที่เคยยึดติด  กลายเป็นความสุขเข้ามาแทนที่ความยึดมั่นถือมั่นเดิม ๆ

.

"ความสุขไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ทำไปแล้วเราสบายใจจังเลย ไม่รู้ทำไม เป็นความสุขที่ได้มาโดยไม่ต้องเอาเงินไปซื้อ ไม่ต้องเอาอะไรไปแลก แค่ลงมือทำ ให้เหงื่อหยด ลำบากลำบน แต่ว่าทำไมเรามีความสุขจังเลย ยังอยากก้าวไปเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้ตั้งใจ มีความมุ่งมั่น และมีพลังถึงวันนี้"

.

จากสมการง่าย ๆ ของโครงการกระดานดำ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง การให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาได้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมระหว่างวัยเรียน ผลักดันให้สุทธิรัตน์ได้เข้าถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากเป็นลำดับ  ยิ่งคลุกคลียิ่งใกล้ชิด ความคิดอ่านจากเครื่องหมาย "บวก" ก็หมุนตัวกลายมาเป็นเครื่องหมาย "คูณ" 

.

"เหมือนเราคิดไปเรื่อย ๆ จากโจทย์ที่หนึ่งกระดานดำ พอลงพื้นที่ก็ไปเจอเรื่องน้ำเป็นพลังของชุมชน เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนมาช่วย โจทย์ถัด ๆ ไป ก็เลยคิดต่อว่า น่าจะเป็นเรื่องจิตอาสา ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จ และเป็นจุดกำเนิดพลัง"

.

แนวคิดของเรดบูล สปิริต ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง (2551-2552) จึงเป็นกิจกรรมอาสาสมัครที่ผลักตัวเองออกจากความเป็นค่ายอาสาในมหาวิทยาลัย มาสู่กลุ่มคนทุกเพศทุกวัยในสังคม ที่พยายามรวมตัวกัน ภายใต้ความคิดอ่านในทิศทางเดียวกันคือ ต้องการแบ่งปันทุกข์สุข และเคารพในความแตกต่าง

.

"การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ อาจเริ่มต้นจากคนไม่กี่คน การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังที่สุด เกิดขึ้นข้างในตัวเราเองเปลี่ยนแปลง เป็นสังาคมเปลี่ยนแปลง และทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว"

.

เธอมองว่า การหยุดองค์กรไว้กับโครงการรับผิดชอบต่อสังคมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมต้งใช้เวลายาวนาน แต่ถ้าเลือกที่จะใช้มุมใหม่โดยหยิบเอา "ประสบการ" มาเป็นตัวดำเนินการ ย่อมสามารถสร้างคนในสังคมให้มีจิตอาสา "พร้อมใช้งาน" ได้มากขึ้น

.

"เราเคยเจออาสาสมัครที่เข้มแข็ง เจอชุมชนที่เข้มแข็ง เราอยากเจอคนที่ทำเรื่องนี้ แต่ไม่รู้อยู่แห่งหนตำบลไหน การสร้างโมเดลกิจกรรมเรดบูล สปิริต เป็นการสร้างความมั่นในให้ผู้คนกลุ่มนี้ รู้สึกได้ว่าการทำเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทำได้ทันทีไม่ว่าจะเริ่มต้นจากกี่คนก็ตาม เราก็เลยเปิดประตูตรงนี้ให้กว้าง ถ่ายทอดกิจกรรมอาสาที่เคยทำมา ให้คนที่รู้สึกอยากทำได้กระโดดเข้ามา"

.

โดย 6 กิจกรรมอาสาที่โครงการเรดบูล สปิริต จัดวางตลอดปีนี้ได้แก่น 1.โครงการเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต สือสานพืชพันธุ์พื้นบ้านหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต 2.โครงการปลูกใจเยาวชนรักป่าหนองเยาะ จ.สุรินทร์ ประสานใจอาสา ฟื้นป่าชุมชน 3.โครงการเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลน ลงแรงอาสาปลูกป่าชายเลนอ่าวพังงา 

.

4.โครงการอนุรักษ์ลุ่มแม่มูน เขาแผงม้าร่วมแรงทำฝาย กระจายพันธุ์ไม้ เพื่อเขาแผงม้า 5.โครงการพี่เลี้ยงอาสาเพื่อนักกีฬาพิเศษ หนึ่งวันของพี่เลี้ยงอาสา สร้างประสบการณ์ยิ่งใหญ่ให้คนพิเศษและครอบครัว และ6.โครงการใจอาสาสู่มหาวิทยาลัย ต่อยอดความคิดนิสิต นักศึกษา สู่กิจกรรมอาสาพัฒนาสังคม

 .
สุทธิรัตน์ให้น้ำหนักคำว่า "จิตอาสา" ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นทางความคิด ที่จะลากไปสู่ "ประสบการณ์"
 .

"จิตอาสาคือการไปทำบุญ แต่มองลงลึกไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่นั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าเราไปทำไม ถึงจะเกิดจิตอาสาได้ ไม่ได้เกิดเพราะเพื่อนชวนไป ถ้าเราตัดสินใจลงไปทำสิ่งนั้แล้ว จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร จิตอาสาเป็นคำที่ทุกคนพูดไป แต่สิ่งที่เรดบูล สปิริตลงมือทำและขยายผล เรามองว่าเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือมากกว่าเป็นเรื่องของสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำเพื่อขยายผลเพื่อให้ทุกคนมีจิตอาสาได้พูดบ่อยมากขึ้น ทำบ่อยมากขึ้น และเชื่อมโยงกันมากขึ้น"

 .

ในวัยเรียน เธอรู้สึกค้านในใจเสมอเมื่อครูบอกว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ถูก เพราะครูเป็นคนบอกซึ่งต่างกับการลองผิดลองถูก สัมผัส และเรียนรู้ด้วยตนเอง กลายเป็นสิ่งที่เธอฝังใจ และเป็นที่มาของการสร้างประสบการณ์จริงในโครงการ CSR ไม่ว่าเธอหรือใครที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่อาสาสมัครจิตอาสา ทุกคนต้องมีประสบการณ์ตรงกลับไป

.

"ถ้าเราสัมผัสด้วยตัวเอง เราจะเชื่อสนิทใจ ไม่ต้องบอกให้ทำอะไร การทำโครงการของเรา จะเน้นประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึก ไม่ใช่แค่พูดแล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะความเชื่อถืออาจจะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด แต่ประสบการณ์จริงจะเป็นใครก็มาเรียนรู้ได้ เมื่อลงมือทำแล้วรู้สึกอย่างไร ได้อะไรกลับไป ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ ทุกคนเอาตะกร้ามาเท่ากันคือใจ แต่ได้สิ่งของกลับไปเต็มหรือเปล่าแต่ละคนได้ไม่เท่ากันแน่นอน"

.

สุทธิรัตน์หวังใจลึก ๆ ว่าเรดบูลสปิริตจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนในสังคม ในแง่ของการขยายผล เอาไปต่อยอดจิตอาสา มากกว่าทำหน้าที่ในการสร้างยอดขาย เพราะอยู่กันคนละเส้นทางเดิน "เราพูดถึงแต่โครงการไม่ได้พูดถึงกระทิงแดง" และภารกิจ CSR ก็ยังต่อยอดเชื่อมโยงไปหาผู้คนที่มีจิตอาสาไปได้เรื่อย ๆ ตราบเท่าที่สังคมยังมีคนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่

.

ผลึก CSR กระทิงแดง มาถึงจุดที่เริ่มไกลออกไปจากจุดยืนองค์กร เป็นการสาวเท้าไปข้างหน้าปลายทางอยู่ที่สังคม ไม่ได้เหลียวกลับมามองตัวเอง

.

เธอบอกว่า นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านมุมมอง ความคิด และการเปิดรับ ถ้าบอกว่า "โครงการอีสานเขียว" เป็นภาคหนึ่งของตำนานความสำเร็จเจ้าพ่อกระทิงแดง อาจกล่าวได้ว่า "เรดบูล สปิริต" เป็น CSR ภาคต่อในยุค "สุทธิรัตน์  อยู่วิทยา" ที่ไม่มีวันปิดฉากลงง่าย ๆ

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
.