เนื้อหาวันที่ : 2009-09-04 11:54:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2317 views

อย่าปล่อยให้

มีคนเคยพูดว่า "โอกาส" ในที่ทำงาน คือ "อากาศ" หายใจของพนักงาน นั่นเพราะ "โอกาส" สำคัญแก่ชีวิตการงานของพนักงานจริงๆ แม้ว่าพนักงานจะมีความสามารถสูง แต่ถ้าขาดโอกาสเกื้อหนุนที่จะได้แสดงความสามารถนั้น ๆ ให้เป็นประจักษ์ ตัวพนักงานก็ไปไม่ถึงดวงดาว องค์กรก็สูญเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากบุคคลให้เต็มคุณค่า

จารุนันท์ อิทธิอาวชกุล

รองผู้อำนวยการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
.

.

มีคนเคยพูดถึงขนาดว่า "โอกาส" ในที่ทำงาน คือ "อากาศ" หายใจของพนักงาน นั่นเพราะ "โอกาส" สำคัญแก่ชีวิตการงานของพนักงานจริงๆ เคยมีปรากฎให้เห็นอยู่หลายกรณีว่า พนักงานจบมาพร้อมกัน ฝีมือการทำงานใกล้เคียงกัน แต่เติบโตก้าวหน้าแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น แม้ว่าพนักงานจะมีความสามารถสูง แต่ถ้าขาดโอกาสเกื้อหนุนที่จะได้แสดงความสามารถนั้น ๆ ให้เป็นประจักษ์ ตัวพนักงานก็ไปไม่ถึงดวงดาว องค์กรก็สูญเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากบุคคลให้เต็มคุณค่า วันนี้จึงขอชวนคิดชวนคุยเรื่อง การแสวงหาโอกาสด้วยตัวพนักงานเองและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมภายในองค์กร

.

การแสวงหาโอกาสด้วยตัวพนักงานเอง จริง ๆ แล้วพนักงานทุกคนไม่ได้ต้องการแค่มาทำงานเท่านั้น แต่ปรารถนาที่จะทำงานได้ดีมีความก้าวหน้า แต่พอทำงานนาน ๆ ไป แรงจูงใจ ไฟทำงานก็จางคลาย ครั้นพอโอกาสต่าง ๆ ลอยผ่านมาก็คว้าไม่ทันเอื้อมไม่ถึง ดังนั้น พนักงานต้องสร้างตัวเองทั้งเชิงความสามารถและพลังความมุ่งมั่นให้พร้อมต่อ "โอกาส" ไว้เสมอดังนี้

.

1. ตั้งเป้าหมายและกำหนดความตั้งใจไว้ให้มั่น ต้องศึกษาโอกาสความก้าวหน้าในองค์กรว่ามีเส้นทางในการเติบโตไปได้อย่างไรบ้าง อาจรวมทั้งหาบุคคลต้นแบบในองค์กรไว้เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางที่จะกำหนดจุดมุ่งหมายในเส้นทางอาชีพของตน การตั้งเป้าหมายและการรักษาความทะเยอทะยานอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เป็นหน้าที่พื้นฐานเสียด้วยซ้ำสำหรับการเป็นพนักงานที่ต้องผลักดันตัวเองให้เติบโตไปกับองค์กร

.

2. พัฒนาตนเองให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี  การพัฒนาตนเองให้เก่ง ทำได้หลายวิธี แต่จะได้ผลดีและเร็วกว่า หากไม่รอการพัฒนาจากการฝึกอบรมขององค์กร หรือจากการสอนงานของหัวหน้างานเพียงอย่างเดียว ต้องพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะที่จะสามารถนำมาใช้ในการสร้างผลงานให้โดดเด่น งานทุกงานไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากผุ้เป็นเจ้าของเนื้องานหามุมริเริ่มสร้างสรรค์ หาความรู้มาต่อยอดและนำไปปรับปรุงพัฒนางานก็จะมีคุณค่าและความสำคัญได้

.

การขันอาสาไปเป็นคณะทำงานในโครงการต่าง ๆ ก็ทำให้มีความรอบรู้มากขึ้น การแสดงความเต็มใจในการรับผิดชอบงานที่สูงขึ้น ก็เท่ากับสร้างโอกาสในการพัฒนาฝีมือของตนเอง

.

นอกจากนี้ การขอไปเป็นครูขององค์กร Trainer/Mentor หรือกลุ่มชมุชนผุ้เชี่ยวชาญ (CoP) ต่าง ๆ ก็เป็นการสะสมทุนความรู้ความสามารถและยังเป็นการพัฒนาความเป็นคนดี เป็นที่รู้จักยอมรับจากกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้นด้วย การพัฒนาตนเองให้พร้อมอยู่เสมอนั้น เวลาที่เสี้ยววินาทีที่ประตูลิฟท์แห่งโอกาสเปิด เรามีโอกาสก้าวเข้าไปได้ทันก่อนที่ประตูจะปิด

.

3. รู้จักทำการตลาดผลงานของตนอย่างเหมาะสม ควรรวบรวมผลงานของตนเองไว้อย่างชัดเจนอาจจะจัดเป็ฯบทสรุปการเรียนรู้แนวปฏิบัติต่าง ๆ แล้วนำไปส่งมอบให้หัวหน้า เพื่อขอรับ Feedback เพิ่มเติม หัวหน้าจะได้จดจำได้ และอาจนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานในหน่วยงานของตน รวมทั้งสามารถนำเสนอส่งเข้ารับรางวัลด้านความคิดสร้างสรรค์หรือการปรับปรุงงานขององค์กรได้ หรือนำผลงานไปบรรจุเป็นความรู้ในระบบ Knowledge Management (KM) ขององค์กร เป็นต้น

.

4. สอบถามข้อมูลรายละเอียด เรื่อง เส้นทางก้าวหน้าในสายวิชาชีพ โดยปรึกษากับทาง HR เพื่อเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำไปหารือกับหัวหน้างาน เพื่อขอโอกาสไปหมุนเวียนเรียนงานบางด้าน ที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถเดินไปตามเส้นทางความก้าวหน้าตามที่ตนเองคาดหวัง

.

การสร้างโอกาสโดยองค์กร องค์กรต้องสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับพนักงานโอกาสที่พนักงานล้วนต้องการได้รับจากองค์กร ก็คือ โอกาสในการเรียนรู้ และโอกาสได้แสดงผลงาน ดังนั้น องค์กรควรดำเนินการดังนี้

.

1. ให้โอกาสในการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ทั่วถึง และทันเวลา โดยจัดให้มรแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น KM การฝึกอบรม ทั้งลักษณะการสัมมนาและการเรียนรู้ด้วยตนเอง จัดให้มีศูนย์การประเมินความสามารถ เพื่อให้พนักงานรู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตนและพัฒนาได้อย่างถูกต้อง

.

2. จัดให้มีการวางผังเส้นทางความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ เพื่อให้ข้อมูลในการพัฒนาความรู้ความสามารถ และให้เห็นหนทางก้าวหน้าที่มีทางเลือกที่หลากหลายเพื่อให้พนักงานสามารถออกแบบเส้นทางการพัฒนาความก้าวหน้าของตนได้ระดับหนึ่งและเข้าใจองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยในการเติบโตไปกับองค์กรด้วย

.

3. จัดให้มีเวทีให้พนักงานได้แสดงผลงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดงาน Mini Expo ให้พนักงานมาอวดผลงานประเภทต่าง ๆ หรือจัดให้มีวง share Learning เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน

.

4. จัดให้มีระบบการหมุนเวียนเรียนงานภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้งานด้านต่าง ๆ อันเป็นการเสริมความเข้าใจในการดำเนินงานในภาพรวมขององค์กร

.

5. ส่งเสริมให้หัวหน้างานมอบหมายงานที่ท้าทาย มีความหลากหลายเพิ่มเติม เนื้อหางานทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ให้มีการมอบอำนาจให้ดำเนินการตัดสินใจต่าง ๆ

.

จะเห็นได้ว่า โอกาสเป็นเรื่องที่ทั้งตัวพนักงานเองก็ต้องขวนขวายองค์กรเองก็ต้องจัดเตรียมให้พร้อม เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายทำให้ “โอกาส” มาบรรจบกัน เมื่อนั้นก็จะกลายเป็น "โอกาสทอง" win-win ไปด้วยกัน ทั้งคนทำงานและองค์กร

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
.