เนื้อหาวันที่ : 2009-09-02 09:41:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 632 views

เตรียมพร้อมผู้ประกอบการไทย รับการขยายแนวท่อก๊าซฯ

JGSEEจับมือบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ก๊าซจากประเทศฟินแลนด์ จัดเวทีให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วม (Cogeneration) เตรียมพร้อมสู่การใช้จริง หากการวางแนวท่อก๊าซธรรมชาติสำเร็จโดยเฉพาะกทม. ปริมณฑล และเขตนิคมอุตสาหกรรม มีเฮได้ใช้ก่อน เผยผู้ประกอบการสามารถเชื่อมต่อระบบกับท่อก๊าซไปผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง และความร้อนส่วนที่เหลือนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกหนึ่งต่อ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

.

เมื่อวันอังคารที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ได้ร่วมกับบริษัทวาร์ทสิล่า (Wartsila) จากประเทศฟินแลนด์ จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "การใช้พลังงานไฟฟ้าความร้อนร่วมกับเครื่องยนต์ก๊าซในประเทศไทย - Gas Engine based CHP in Thailand"

.

โดยมีนักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วม หรือ Cogeneration อาทิ ความสามารถของระบบ, เทคโนโลยีการใช้เครื่องยนต์ก๊าซกับระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วม, กฎเกณฑ์การเชื่อมต่อระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วมกับท่อก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า, กฎเกณฑ์การเชื่อมโยงกับกริดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการเข้าใจการทำงานของระบบ และสามารถนำการใช้ได้ในอนาคต

.

ดร.อธิคม บางวิวัฒน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วมเป็นระบบที่มีประโยชน์มากในโรงงาน หรือสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการใช้ไฟฟ้าและใช้ความร้อนในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากระบบดังกล่าวสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 1 รูปแบบ คือ ผลิตกระแสไฟฟ้า (พลังงานรูปที่ 1) และนำความร้อนที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนผลิตกระแสไฟฟ้าไปเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่นๆ เช่น การต้มน้ำร้อน หรือการทำความเย็น เป็นต้น 

.

โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ ผู้ประกอบการสามารถพึ่งพาตัวเองในแง่ของการผลิตไฟฟ้า และลดต้นทุนเชื้อเพลิงในส่วนของการผลิตความร้อน ทั้งนี้ ในปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วมมีใช้อยู่เฉพาะในโรงงานที่อยู่ใกล้แนวท่อก๊าซธรรมชาติเท่านั้น แต่ในอนาคตอันใกล้ที่การขยายแนวท่อก๊าซธรรมชาติ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงบริเวณนิคมอุตสาหกรรมสำเร็จ โรงงานและอาคารในบริเวณดังกล่าวก็สามารถใช้ประโยชน์จากระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วมได้        

.

สำหรับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่นิยมใช้กันทั่วไป มีอยู่ 2 ชนิด คือ เครื่องกังหันก๊าซ (Gas turbine) และเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ (Gas engine) โดยที่ผ่านมาในประเทศไทยนิยมใช้ Gas turbine จึงอยากแนะนำให้ลองหันมาใช้ Gas engine บ้าง เนื่องจาก Gas engine จะให้ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานค่อนข้างสูง          

.

ทั้งนี้ข้อดีของ Gas engine คือ สามารถเดินเครื่องได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยก๊าซที่มีความดันสูง จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบเพิ่มความดันก๊าซ (Gas Compressor) อีกทั้งยังสามารถเร่งกำลังการผลิตได้เร็ว และอุณหภูมิของก๊าซที่ส่งเข้าสู่ระบบไม่มีผลต่อเครื่องยนต์มากนัก จึงไม่ต้องติดตั้งระบบลดอุณหภูมิก๊าซ (Chiller) ดังนั้น Gas engine จึงเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทย

.

ดร.อธิคมยังได้กล่าวอีกว่าการผลิตไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้า-ความร้อนร่วม หากผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการใช้ภายในโรงงาน ยังสามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือไฟฟ้านครหลวงได้ด้วย ตามนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) หรือ ขนาดเล็กมาก (VSPP) นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ระบบผลิตพลังงานร่วมจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

.

เพราะความร้อนจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นไอเสียจะถูกนำไปใช้ในการผลิตพลังงานรูปอื่นต่อไป ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าไปได้ 1 ขั้นตอน ซึ่งจะมีประโยชน์มากสำหรับการวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย เพราะเป็นไปได้ว่าในอนาคตประเทศไทยอาจต้องร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

.