เนื้อหาวันที่ : 2009-09-01 09:42:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1398 views

พาณิชย์นำเอกชนบุกแดนมังกร เล็งหนิงเซียะตลาดส่งออกใหม่

พาณิชย์ฝากความหวังไว้กับตลาดจีน เชื่อไทยส่งออกสินค้าเพิ่มได้อีก ขนเอกชนเยือนแดนมังกร หาโอกาสทางการค้า เล็งหนิงเซียะเป็นตลาดส่งออกแห่งใหม่ เชื่อปีหน้ามูลค่าส่งออกเพิ่มถึง 150%

.

แม้วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะวิ่งเลยผ่านจุดตกต่ำสุดมาแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงวันนี้ธุรกิจการส่งออกของไทยยังออกอาการเมาหมัดซวนเซอยู่ มูลค่าการส่งออกในช่วง 3 เดือนล่าสุดแม้จะกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตเทียบเดือนต่อเดือนกับปีที่แล้ว ยังถดถอยถึง 24-26% ขณะที่ยอดการส่งออกรวมทั้งปี 52 ก็ติดลบที่ 23.86% สะท้อนว่าสัญญาณฟื้นตัวของการส่งออกไทยยังไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ของไทย อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่ยังถูกกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกอยู่

.

การหาลู่ทางเปิดตลาดการส่งออกใหม่จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ    ที่กระทรวงพาณิชย์ใช้ผลักดันการส่งออกในขณะนี้ โดยเร่งเปิดตลาดการค้าไปสู่ประเทศใหม่ ๆ และขยายสัดส่วนมูลค่าการค้ากับตลาดคู่ค้าขนาดกลางเพื่อชดเชยรายได้จากตลาดใหญ่ที่ลดลง หนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ฝากความหวัง คือ ตลาดจีน โดยเชื่อว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพิ่มได้อีก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกน้อย มีจำนวนประชากรกว่า 1 พันล้านคน และยังมี   ความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย รวมถึงมีความตกลงการค้าเสรี เอฟทีเอไทย-จีน ร่วมกัน

.

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดย ศูนย์ภูมิภาค (ฮับ) จีน ร่วมกับ หอการค้า 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และ สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยคณะข้าราชการ ตัวแทนนักธุรกิจ สินค้าฮาลาล สินค้าเกษตร อาหาร เดินทางไปเยือน นครหยินชวน มณฑล หนิงเซียะ เพื่อหาโอกาสทางการค้า ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ไทยยังส่งออกไปน้อย 

.

"เบญจวรรณ รัตนประยูร" ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ในฐานะ    หัวหน้าภูมิภาคฮับจีน กล่าวว่า ในปี 52 กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับตลาดจีน เพราะจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย และเป็นประเทศส่งออกอันดับ 3 ของไทย โดยมณฑลหนิงเซียะ ถือเป็นตลาดใหม่ในจีนที่มีศักยภาพ และกำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าจากภาคใต้ สินค้าฮาลาล ที่ไทยน่าจะส่งออกสินค้าได้เพิ่ม เนื่องจากหนิงเซียะมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก

.

จากข้อมูลพื้นฐานของมณฑลหนิงเซียะ มีการปกครองเป็นเขตปกครองตนเอง ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ตอนบนของแม่น้ำหวงเหอหรือแม่น้ำเหลือง มีอาณาเขตติดต่อกับมณฑลส่านซี กานซู และประเทศมองโกเลีย มีประชากร 6 ล้านคน 1 ใน 3 ของประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ด้านเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ยปีละ 2 หลักขึ้นไป คนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม อาหาร และเหมืองแร่ เพราะมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์มากกว่า 50 ชนิด 

.

เป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่านอกจาก จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไปหนิงเซียะได้หลากหลายขึ้น จาก เดิมส่งออกแค่ยางพารา เป็นผลไม้ อาหาร สินค้าเกษตรแปรรูป และอาหารฮาลาล แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมนำสินค้าท้องถิ่นจากภาคใต้มาจำหน่าย  เพิ่มตามยุทธศาสตร์ โลคอล ทู โกลบอล เพื่อช่วยสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้

.

ในครั้งนี้กระทรวงพาณิชย์นำภาคเอกชนไทยไปทดลองเปิดตลาด  ผลไม้ไทยครั้งแรก และได้ลงนามความตกลง (เอ็มโอยู) ในการจะสั่งซื้อ  ผลไม้จากภาคใต้ 11 ตัน ประกอบด้วย มังคุด 6 ตัน เงาะ 2 ตัน ทุเรียน   2 ตัน และลองกอง 1 ตัน เพื่อเพิ่มช่องทางระบายสินค้าเกษตร และช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น พร้อมทั้งได้พบกับ "หวัง เจิ้ง เว่ย" ประธานเขตปกครองตนเองหนิงเซียะ เพื่อหารือถึงการขยายการค้า การลงทุน และพัฒนาระบบการขนส่งร่วมกัน โดยหอการค้าชุมพรและสงขลา พร้อมจะเป็นศูนย์กลางในการช่วยขนส่ง  สินค้ามาหนิงเซียะ

.

นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าไทยแห่งแรกในนครหยินชวน มณฑลหนิงเซียะ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมจำหน่ายสินค้าไทยประเภท ผักสด   ผลไม้ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคของคนไทย ตลอดจนใช้เป็นช่องทางเปิดประตูการค้าไปสู่เมืองใหม่ในภาคตะวันตกและภาคเหนือของจีน โดยสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ ลำไย กล้วย สับปะรด มะละกอ ลองกอง ทุเรียน สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน อาหารกระป๋อง และอาหารฮาลาล รวมถึงได้จัด ไชน่า ไทยแลนด์ คอมเมิร์ซ เน็ตเวิร์ก และสนับสนุนภาคเอกชนเข้าร่วมงาน เทรดแฟร์ ครั้งใหญ่ของเมือง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน

.

อย่างไรก็ตาม ผลการตอบรับในครั้งนี้ "วีระศักดิ์ จินารัตน์" ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ มองว่าสำเร็จดีมาก ทางจีนแสดงความสนใจสินค้าฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคาดว่าปีหน้าสินค้าดังกล่าวจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 150% จากปีนี้ 200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาทได้ ซึ่งช่วยสร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่แก่คนใน 5 จังหวัด

.

ส่วนการเปิดศูนย์กระจายสินค้า จะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าไปยังหนิงเซียะเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 30% จาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 180 ล้านบาท เป็น 6-7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เกิน 220-250 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะผลักดัน     ใช้หนิงเซียะเป็นประตูทางการค้า ส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่ใหม่ในจีน และ   ประเทศใกล้เคียง เช่น ทิเบต มองโกเลีย

.
มุมมองภาคเอกชนผู้ร่วมคณะที่ต้องทำธุรกิจส่งออกจริงกลับมองว่า การเปิดตลาดใหม่ไม่ใช่งานง่ายนัก และในการส่งออกเมืองหนิงเซียะก็ยังมีอุปสรรคที่น่าห่วง โดยเฉพาะระบบการขนส่งสินค้า และงานด้านศุลกากร ที่จะเป็นปัญหาสำคัญกระทบต่อการส่งออกได้ เพราะเมืองหนิงเซียะมีระยะทางไกลใช้เวลามาก ที่สำคัญไม่มีเที่ยวบินตรงจากไทยไป   ถึง ต้องใช้การขนส่งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการทำ  ให้สินค้าเน่าเสียได้ง่าย เห็นได้จากวันเปิดงานศูนย์กระจายสินค้าวันแรก ผลไม้หลายชนิดที่ส่งตรงจากไทยไปขาย เช่น ลองกอง มะม่วง ทุเรียน ยังสุกงอมมากจนใกล้เน่า นอกจากนี้ตัวทำเลที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทย ยังห่างจากย่านธุรกิจในเมืองมาก
.

อีกเรื่องที่ภาคเอกชนกังวล ก็คือกำลังซื้อจากผู้บริโภคว่าจะมีมากจริงเหมือนข้อมูลที่ได้รับหรือไม่ เพราะที่หนิงเซียะ มีประชากรทั้งเมืองแค่ 6 ล้านคนน้อยกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก อีกทั้งบรรยากาศการค้าก็มีความคึกคักน้อยกว่าหลาย ๆ เมืองในประเทศจีนที่ภาคเอกชนเคยเดินทางไปเปิดตลาด

.

ที่สำคัญเมืองหนิงเซียะเป็นเมืองมีพื้นฐานเกษตรกรรม และสามารถผลิตอาหารเองได้เพียงพอต่อการบริโภคภายใน ดังนั้นการเข้ามาเจาะตลาดเพื่อส่งออกสินค้าอาหารมาที่นี่ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยฝั่งนักธุรกิจและสื่อมวลชนท้องถิ่น เองก็เล่าว่า ทางการจีนมีนโยบายต้องการเปิดเมืองหนิงเซียะ ให้เป็นศูนย์กลางการส่งออกอาหารสินค้าอุปโภคบริโภคฮาลาล และการท่องเที่ยวไปทั่วโลก มากกว่านำเข้าสินค้ามาเพื่อบริโภคภายใน

.

"ธนารักษ์ พงษ์เภตรา" ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ มองว่า หากรัฐต้องการให้หนิงเซียะเป็นช่องทาง กระจายสินค้า หรือเกตเวย์ ไปยังเมืองอื่นของจีน ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกเรื่องระบบการขนส่งและศุลกากรเข้าสู่หนิงเซียะ ต้องไม่ผ่านการตรวจสอบหลายรอบ เพราะตอนนี้การส่งสินค้าต้องผ่านกว่างโจว ซึ่งหากมีการตรวจสินค้าหลายรอบ ทำให้สินค้าอาจเสียหายได้ 

.

ด้าน "ประมนต์ สุธีวงศ์" ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าไทย มองในแง่ดีว่า การมาเปิดตลาดสินค้าในตลาดที่ประเทศอื่นยังไม่เข้ามาส่งออก ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ไทยมีคู่แข่งขันไม่มาก แต่ในการเปิดตลาดใหม่ รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาระบบการขนส่งสินค้ารวดเร็ว และคุ้มค่าสูงสุดด้วย ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น 

.

เห็นได้ว่ายังมีการบ้านเหลืออีกเยอะ ในการเปิดตลาดส่งออกสินค้าใหม่ และไม่ใช่งานง่ายที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จะทำสำเร็จด้วยตัวคนเดียว ความสำเร็จของการขยายตลาดส่งออกใหม่จึงขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลทั้งคณะว่า ตั้งใจแก้ปัญหาเหล่านี้ร่วมกันแค่ไหน หากยังมัวทำงานขัดขากันเอง กลัวใครเด่นกว่า ดีกว่าอยู่ ก็ยากที่จะฟื้นการส่งออกกลับมาโดยเร็ว

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
.