คลังเร่งเดินหน้ามาตรการขอคืนที่ดินจากภาครัฐ 3 แห่งที่ไม่ใช้ประโยชน์ กว่า 1 ล้านไร่ เพื่อแบ่งโซนให้เกษตรกรเช่า และสร้างสาธารณูปโภค
คลังเร่งเดินหน้ามาตรการขอคืนที่ดินราชพัสดุจากภาครัฐ 3 แห่งที่ไม่ใช้ประโยชน์ กว่า 1 ล้านไร่ เพื่อแบ่งโซนให้เกษตรกรเช่า และสร้างสาธารณูปโภค |
. |
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง |
. |
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตร ต้องเร่งมาตรการขอคืนที่ดินราชพัสดุจากส่วนราชการที่ยังไม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบอีก 3 หน่วยงาน เพื่อแบ่งโซนทำการเกษตรกรรม ให้เกษตรกรเช่าทำกิน และสร้างสาธารณูปโภค พร้อมกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรผู้เข้าโครงการและเงื่อนไขการจัดให้เช่า |
. |
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ โดยให้มีหน้าที่รวม 4 ประการ คือ 1. การกำหนดมาตรการขอคืนที่ดินราชพัสดุจากส่วนราชการ 2. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตร 3. กำกับและติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน |
. |
นายแพทย์พฤฒิชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการ แปลงที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 1,000 ไร่ขึ้นไป และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ และเป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้ พบว่ามีหน่วยงาน 12 แห่งอยู่ในเงื่อนไขการขอคืนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงการคลังจึงได้ประสานงานให้ส่งคืนพื้นที่ ปรากฎว่ามี 9 แห่งแจ้งผลการตรวจสอบที่ดินราชพัสดุ ประกอบไปด้วยหน่วยงานที่ส่งคืนจำนวน 3 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 533,431 ไร่ |
. |
ไม่ส่งคืน 6 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 123,815 ไร่ คงเหลือหน่วยงานที่ไม่แจ้งผลการตรวจสอบจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1. กระทรวงยุติธรรม จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 29,202 ไร่ 2. กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 41,500 ไร่ และ 3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 13,441 ไร่ กรณีที่หน่วยราชการยังไม่แจ้งส่งคืนกรมธนารักษ์คงต้องประชุมเจรจาขอคืนและแยกเจรจาเป็นรายกระทรวงไป หากปรากฏว่ายังไม่มีการส่งคืนก็จะนำเรื่องมาพิจารณาตามกฎกระทรวงฯ |
. |
"นโยบายการขอคืนที่ดินราชพัสดุเพื่อนำมาให้เกษตรเช่า นอกจากเป็นการใช้พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานให้สมดุลและเหมาะสม สนับสนุนต้นกล้าสำหรับพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานที่มีสายพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มผลผลิต สนับสนุนและดูแลการจัดให้มีการพัฒนาดินและแหล่งน้ำให้เหมาะสมแก่การเกษตร ที่สำคัญยังเป็นการแบ่งพื้นที่เพื่อสร้างถนน และสาธารณูปโภคอื่นๆ |
. |
เพราะนอกจากเป็นการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ และสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ยังเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่คู่กับเกษตรกรผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ตลอดจนสนับสนุนความรู้ด้านการเกษตร และส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร" |
. |
สำหรับหลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขการบริหารโครงการ ในด้านคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการนั้นจะต้องมีสัญชาติไทย บรรลุนิติภาวะ มีภูมิลำเนาหรือเคยมีภูมิลำเนาในจังหวัดที่อยู่ในโครงการ มีอาชีพเกษตรกรและหรือประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ส่วนเงื่อนไขการจัดให้เช่า 1. เนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ ต่อครอบครัว |
. |
2. อัตราค่าเช่าขั้นต่ำ 20 บาทต่อไร่ต่อปี 3. สัญญาเช่าขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3 ปี และ 4. ห้ามโอนสิทธิการเช่า ยกเว้นโอนสิทธิให้ทายาท หรือสถาบันการเงิน กรณีนำสิทธิการเช่าที่ดินไปผูกพันเงินกู้ ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการโครงการนำร่องมาแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ พิจิตร นครสวรรค์ และนครราชสีมา |
. |
และต่อไปจะมอบสัญญาเช่าที่จังหวัดปทุมธานี สระบุรี สระแก้ว กาฬสินธุ์ และบุรีรัมย์ ซึ่งในวันที่ 3 กันยายน 2552 จะมีการมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุให้แก่เกษตรกรจังหวัดปทุมธานีและสระบุรี จำนวน 1,182 ครอบครัว เนื้อที่ประมาณ 7,913 ไร่ ณ วัดนพรัตนาราม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบสัญญาเช่า |
. |