เนื้อหาวันที่ : 2009-08-31 10:06:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2182 views

สมานฉันท์แรงงานไทยชี้รัฐมักผลักคนงานเข้ากระบวนการศาลมากกว่าให้เจรจา

สมานฉันท์แรงงานไทยซัดรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด-ทันใจ แทนที่จะเน้นการเจรจากลับให้คนงานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เผย7 เดือนมีแรงงานร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ปัญหาถูกเลิกจ้าง กว่า16,000 คน ชี้ส่วนใหญ่เป็นกรรมการ-สมาชิกสหภาพฯ

.

สมานฉันท์แรงงานไทยชี้รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด-ทันใจ แทนที่จะเน้นการเจรจากลับให้คนงานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เผยศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ปัญหาถูกเลิกจ้าง มีแรงงานร้องเรียนตั้งแต่ 20 ม.ค.-20 ส.ค. ทั้งสิ้น 16,467 คน ส่วนใหญ่เป็นกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน

.

ชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "วิกฤตเศรษฐกิจกับผลกระทบของผู้ใช้แรงงาน ทางออกบนความร่วมมือระหว่างรัฐกับขบวนการแรงงาน" เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า หลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายองค์กรพันธมิตรได้ร่วมกันเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานขึ้น รวม 20 ศูนย์ ครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิง ที่ทำงานในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีแรงงานมาร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-20 ส.ค. ทั้งสิ้น 16,467 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน

.

ชาลี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คสรท.และเครือข่ายได้ข้อสรุปร่วมกัน 6 ประการคือ 1.นายจ้างจำนวนมากได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่เปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงให้กับผู้ใช้แรงงานเต็มจำนวน

.

ในทางปฏิบัติพบว่า นายจ้างยังมีการให้ผู้ใช้แรงงานบางคนหรือบางกลุ่มหยุดงานชั่วคราวอย่างสม่ำเสมอ โดยละเลยข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือในบางกรณีก็ขอร้องให้ผู้ใช้แรงงานตกลงหยุดงานชั่วคราวในลักษณะสมัครใจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการจ่ายค่าจ้างให้ แต่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

.

2.สะท้อนถึงพฤติกรรมของนายจ้างที่ไม่เป็นธรรม อาทิ การคัดผู้ใช้แรงงานออกโดยไม่แจ้งหลักเกณฑ์ให้ทราบ การเลิกจ้างที่พุ่งเป้าไปที่กรรมการลูกจ้างหรือกรรมการสหภาพ รวมทั้งพยายามโยกย้ายการผลิตออกไปใช้ระบบการจ้างแบบเหมาช่วงแทน เนื่องจากแรงงานเหมาช่วงเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เพราะไม่ถือเป็นพนักงานของบริษัท จึงไม่ได้รับสวัสดิการตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้แรงงานสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมากยิ่งขึ้น

.

3.บางพื้นที่ เช่น สมุทรสาคร ในกิจการจ้างงานทั่วไป พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ที่ไม่มีสหภาพแรงงานหรือที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิที่ควรได้รับจากนายจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง แรงงานจึงตกอยู่ในสภาวะเปราะบางและไร้ความมั่นคงอย่างสูง ยิ่งไปกว่านั้น อำนาจต่อรองของแรงงานที่มีไม่มากอยู่แล้ว กลับลดลงและแทบสูญเสียความสามารถในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิไปอย่างสิ้นเชิง

.

อีกทั้งเมื่อเกิดข้อพิพาทด้านแรงงานขึ้น กระบวนการทางศาลกลับมีความยืดเยื้อยาวนานหลายปี จนผู้ใช้แรงงานไม่สามารถแบกรับต้นทุนของเวลาและค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้กลับกลายเป็นผลดีกับฝ่ายนายจ้างและอาจเป็นแรงจูงใจให้นายจ้างเลือกที่จะฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน

.

4.ประเด็นสำคัญหนึ่งที่กระทรวงแรงงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหามักจะละเลยหรือมองไม่เห็น คือ การลดอำนาจในการต่อรองของสหภาพแรงงานลง โดยอ้างความชอบธรรมจากสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อไม่ต้องปรับเพิ่มสวัสดิการให้กับลูกจ้าง

.

5.กระทรวงแรงงานมักให้ความสำคัญ ยึดติดกับตัวเลขถูกเลิกจ้างงานในลักษณะมหภาคมากกว่าการพิจารณาการเลิกจ้างเป็นรายกรณี ขาดความสนใจในระดับผู้ใช้แรงงานแบบลักษณะคนต่อคน

.

6.มีการถ่วงเวลาให้ปัญหายืดเยื้ออกไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกระทรวงแรงงานและนายจ้างเอง โดยการแก้ปัญหาเป็นเพียงการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งๆ ไป แต่ไม่ใช่บทสรุปของการแก้ไขปัญหาที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาได้จริง สะท้อนถึงตัวบทกฎหมายที่ดำรงอยู่ ว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างมากกว่าผู้ใช้แรงงาน

.

ทั้งนี้ ชาลีกล่าวถึงการแก้ปัญหาแรงงานที่ผ่านมาของรัฐบาลว่า แม้ว่า รัฐบาลจะได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเลิกจ้าง คสรท.เคยเสนอไปตั้งแต่เดือนมกราคม แต่คณะทำงานชุดนี้ก็เพิ่งจะมีการประชุมกันเพียง 1 ครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งพ้นช่วงที่วิกฤตไปแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่าความล่าช้าของระบบราชการไม่สามารถช่วยเหลือคนงานได้ทันการ

.

ส่วนนโยบายลดเงินสมทบผู้ประกันตนจากฝ่ายนายจ้าง จาก 5% เหลือ 3% โดยให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของนายจ้าง ซึ่งจะทำให้คนงานไม่ถูกเลิกจ้างนั้น เขากล่าวว่า หลังประกาศใช้ก็กลับมีการเลิกจ้างคนงาน เช่น กรณีไทรอัมพ์ ซึ่งเลิกจ้างกว่า 1,950 คน นอกจากนี้ การลดเงินสมทบอาจส่งผลถึงเงินสะสมของกองทุนในอนาคตด้วย เมื่อเห็นว่านโยบายผิดพลาดแล้ว ก็ควรจะทบทวนใหม่

.

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาผู้ใช้แรงงาน โดยเล่าว่าก่อนหน้านี้ คสรท.เคยรวบรวมข้อมูลและเสนอต่อนายกฯ ให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นที่ยอมรับทั้งจากทั้งนายจ้างและคนงาน รวมทั้งนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกัน แต่ปรากฎว่ารัฐกลับตั้งคณะทำงานจากสภาทั้งหมด ทำให้คุณสมบัติไม่เป็นที่ยอมรับจากทั้งคนงานและนายจ้าง และทำให้ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบแก้ปัญหาในโรงงานได้

.

ประธาน คสรท. กล่าวว่า นอกจากนี้แล้ว ข้อเสนอที่ให้รัฐบาลตั้งกองทุนเพื่อสำรองจ่ายค่าชดเชยให้คนงานไปก่อน แล้วให้รัฐบาลไปไล่เบี้ยจากนายจ้างต่อไป ก็ปรากฎว่าล้มเหลว โดยนอกจากจะไม่มีการตั้งกองทุนแล้ว กระทรวงแรงงานยังมักผลักให้แรงงานที่มีปัญหาเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมาย มากกว่าการทำให้นายจ้างและลูกจ้างได้เจรจากัน ด้านกองทุนประกันสังคม แม้จะมีการขยายสิทธิได้รับเงินประกันการว่างงาน จาก 6 เป็น 8 เดือน แต่ก็ยังติดปัญหาที่ผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป จะเข้าไม่ถึงสิทธิตรงนี้ ทั้งที่คนเหล่านี้ไม่สามารรถฝึกงานได้และหางานใหม่ได้ยาก

.

สุจิตรา บุญชู รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีลดเงินสมบทผู้ประกันตนจากฝ่ายนายจ้างว่า ทางประกันสังคมก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งหมดขึ้นกับคณะกรรมการประกันสังคม อย่างไรก็ตามชี้แจงว่า จะไม่กระทบกับเงินกองทุนมากนัก เพราะมาตรการนี้จะใช้จนถึง ธ.ค. นี้เท่านั้น จากนั้นจะปรับขึ้นตามปกติ

.

สุจิตรา กล่าวต่อว่า การลดเงินสมบทนี้มีผลมากต่อสถานประกอบการขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น หากสถานประกอบการนั้นต้องจ่ายเงิน 1 ล้านบาทเพื่อสมทบประกันสังคม ก็จะประหยัดไปได้ 2 แสนบาท ซึ่งจะเป็นเงินที่ช่วยชะลอการเลิกจ้างคนงานได้ ทั้งนี้ ตัวเลขการเลิกจ้างที่ผ่านมาสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นก็เป็นตัวเลขไม่ต่างจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขของคนงานที่ลาออกเองมากกว่าที่ถูกเลิกจ้างด้วยซ้ำ

.

ยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานลาออกมากกว่าจะถูกเลิกจ้าง เป็นเพราะไม่มีทางเลือก โดยยกตัวอย่างบริษัทหนึ่งในภาคตะวันออก ที่เรียกพนักงานไปคุยแล้วให้เลือกระหว่างลาออกแล้วได้ค่าชดเชยตามกฎหมาย 3 เดือน หรือถูกเลิกจ้าง โดยได้ค่าชดเชยตามกฎหมาย 1 เดือน

.

ส่วนที่เหลือให้ไปฟ้องร้องเอา ซึ่งนี่เป็นการมัดมือชก และหากคนงานจะต่อสู้กับนายจ้าง รัฐก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรม โดยยงยุทธ ยกตัวอย่างกรณีบริษัทคาวาซากิฯ ซึ่งต้องการปรับสภาพการจ้างจาก 8 ชั่วโมงเป็น 8 ชั่วโมงครึ่ง โดยให้คนงานโหวตรับหรือไม่รับแทน ทั้งที่นายจ้างก็สามารถยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเจรจากันได้ ถามว่า ถ้าลูกจ้างอยากได้เงินเดือนเพิ่มจะให้โหวตบ้างได้หรือไม่

.

เขากล่าวเสริมว่า ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ 2 รุม 1 คือนายจ้างและรัฐรุมลูกจ้าง ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเช่นนี้ กระทรวงแรงงานเกิดจากคนงานก็น่าจะปกป้องคนงานไม่ใช่ปกป้องนายจ้าง นอกจากนี้แล้วยังอยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำงานเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

.

ยงยุทธกล่าวถึงกรณีที่คนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยถูกออกหมายจับข้อหามั่วสุมเกินสิบคน และก่อให้เกิดความวุ่นวาย จากการไปชุมนุมหน้าทำเนียบและรัฐสภาว่า อยากให้มองที่มูลเหตุของเรื่อง คงไม่มีลูกจ้างที่ไหนที่อยู่ดีๆ ก็ออกไปด่านายจ้าง แต่นี่เป็นเพราะพวกเขาถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าบริษัทบริหารไม่ไหวจริงๆ ก็คงรับกันได้ แต่นี่ไม่ใช่เพราะเป็นการย้ายงานไปที่จังหวัดอื่น

.

ขณะที่สมชาย วงศ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้ตั้งศูนย์ติดตามการเลิกจ้างและใช้ระบบไตรภาคี เพื่อหามาตรการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องให้คำแนะนำนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ซึ่งนายจ้างก็มีทั้งที่พร้อมและไม่พร้อม นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ใช้แต่กฎหมายไม่ได้ แต่ต้องใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เพื่อให้นายจ้างดำเนินธุรกิจไปได้ด้วย

.
หมายเหตุ:

อ่านรายงานการเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน ระหว่างวันที่ 20 มกราคม-20 เมษายน 2552 ที่
http://gotoknow.org/file/ngaochan/00-situationabourcenter.pdf

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท