เนื้อหาวันที่ : 2006-11-28 09:08:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 805 views

ครม.ยกเลิกปิดปั๊ม 4 ทุ่ม เพราะไม่ได้ช่วยประหยัดพลังงาน

กระทรวงพลังงานเสนอ ครม.ยกเลิกมาตรการปิดปั๊ม 4 ทุ่ม เพราะไม่ได้ช่วยประหยัดพลังงาน โดยตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้ จะเปิดให้บริการได้ 24 ชั่วโมง ส่วนปั๊มไหนจะปิดให้บริการหลัง 22.00 น. ก็สามารถทำได้ โดยให้ถือว่าเป็นทางเลือก ส่วนมาตรการปิดไฟส่องป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ยังไม่ยกเลิก

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกระทรวงพลังงานเสนอ ครม.ยกเลิกมาตรการปิดปั๊ม 4 ทุ่ม เพราะไม่ได้ช่วยประหยัดพลังงาน โดยตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้ จะเปิดให้บริการได้ 24 ชั่วโมง ส่วนปั๊มไหนจะปิดให้บริการหลัง 22.00 น. ก็สามารถทำได้ โดยให้ถือว่าเป็นทางเลือก ส่วนมาตรการปิดไฟส่องป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ยังไม่ยกเลิก

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่ ครม.เคยมีมติให้สถานีบริการน้ำมัน หรือปั๊มน้ำมันปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เพื่อประหยัดพลังงานนั้น จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่ามาตรการดังกล่าว ไม่ได้ช่วยลดการใช้น้ำมันลง แต่มาตรการที่ทำให้การใช้น้ำมันลดลงคือ ราคาน้ำมัน และมาตรการอื่น ๆ เช่น การดูแลความเร็วของรถยนต์บนถนน ซึ่งจะให้ผลมากกว่า ดังนั้น ในการประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) กระทรวงพลังงานจะเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณายกเลิกการปิดสถานีบริการน้ำมันตั้งแต่เวลา 22.00 น. โดยให้สามารถเปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงแทน ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบก็จะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

.

สำหรับสาเหตุที่ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 เพราะว่าจะมีช่วงวันหยุดยาว หากไม่ทำ อาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกค่อนข้างมากในวันที่ 2, 3, 4 และ 5 ธันวาคม 2549  ซึ่งประชาชนจะเดินทางไปต่างจังหวัดรวมถึงวันที่ 9,10 และวันที่ 11 ธันวาคม 2549 รวมถึงช่วงปีใหม่ อย่างไรก็ตาม ปั๊มบางแห่งต้องการปิดการให้บริการตั้งแต่ 22.00 น. ก็สามารถดำเนินการได้ เป็นทางเลือกของเจ้าของปั๊มที่จะเลือกได้ 

.

ส่วนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตั้งแต่ 33 ตารางเมตรขึ้น ที่ต้องปิดไฟส่องสว่างตอน 22.00 น.นั้น มาตรการดังกล่าวยังไม่เสนอยกเลิก เพราะประเทศไทยมีป้ายเยอะมาก หากปิดไฟจะทำให้ประเทศไทยสวยขึ้นมาก นายปิยสวัสดิ์กล่าว

.

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาโดยตัวเลขย้อนหลัง จะพบว่าหลังจากที่รัฐบาลยอมปล่อยให้ราคาน้ำมันเบนซินสูงขึ้นมาในช่วงปลายปี 2547 มาถึงปี 2549 ปริมาณการใช้ลดลงประมาณร้อยละ 8 ส่วนน้ำมันดีเซลช่วงที่รัฐบาลไม่ลอยตัวราคาน้ำมัน ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี จนกระทั่งปีที่ผ่านมารัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ปริมาณการใช้น้ำมันจึงลดลงมาร้อยละ 9 ในปีที่ผ่านมาและปีนี้ลดลงต่อเนื่องเหลืออีกร้อยละ 8 จะเห็นได้ว่าการใช้น้ำมันที่ลดลงไม่เกี่ยวข้องกับการปิดปั๊มน้ำมัน 22.00 น.

.

นอกจากนี้ การปิดปั๊มยังทำให้เกิดความไม่สะดวก ประชาชนเปลี่ยนเวลาเติมน้ำมัน และทำให้เกิดความไม่สะดวก สำหรับผู้ที่ต้องทำงานกลางคืน เช่น สื่อมวลชน นอกจากนั้นยังส่งผลผู้ที่ทำงานในปั๊มน้ำมัน เช่น พนักงานที่คอยให้บริการเติมน้ำมันที่หารายได้เพิ่มเติมจากการเป็นพนักงานปั๊ม หวังว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) นายปิยสวัสดิ์ กล่าว.