ไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จีดีพีติดลบ 3% ขยายตัวได้เพียง 1% ในปี 53 ชี้ความวุ่นวายทางการเมือง - วิกฤตเศรษฐกิจโลกถ่วง แนะรัฐบาลอภิประชานิยมเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนระยะ 3 ปี
. |
ไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จีดีพีติดลบ 3% ขยายตัวได้เพียง 1% ในปี 53 ชี้ความวุ่นวายทางการเมือง - วิกฤตเศรษฐกิจโลกถ่วง แนะรัฐบาลอภิประชานิยมเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนระยะ 3 ปี |
. |
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่ผลการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปี 2553 ผ่านเว็บไซต์ของไอเอ็มเอฟ วานนี้ (27 ส.ค.) ว่า ความไม่มีเสถียรภาพการเมืองและการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหลังจากเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศไม่เพียงพอ และภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และในปีนี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่แท้จริง (real GDP) จะติดลบเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤติปี 2540 |
. |
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า หลังจากมีความวุ่นวายทางการเมืองมาหลายปี บรรยากาศทางการเมืองของไทยได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง ความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้น นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 จากนั้นพรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2550 แต่ก็ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ จนความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี |
. |
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลผสม แต่การต่อต้านรัฐบาลก็เกิดขึ้นจนนำไปสู่เหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย. ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นจากภายนอกลดลง จนทำให้สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับไทยเมื่อกลางเดือน เม.ย. |
. |
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าการหดตัวของเศรษฐกิจไทยจะจำกัดอยู่ที่ติดลบไม่เกิน 3% ในช่วงที่รัฐบาลต้องเพิ่มการใช้จ่าย เพื่อแก้ปัญหาภาคส่งออกย่ำแย่ ทำให้คาดการณ์ขาดดุลงบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ของจีดีพี ส่วนปีหน้าคาดเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียง 1% |
. |
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเตือนว่า อุปสงค์ในประเทศย่ำแย่ ความต้องการซื้อในต่างประเทศซบเซา บวกการใช้จ่ายภาครัฐ ล้วนมีความสำคัญช่วยให้แนวโน้มการขยายตัวลดลงมีจำกัด พร้อมเสนอแนะให้ไทยเดินหน้าโครงการลงทุนระยะ 3 ปี ของภาครัฐ ซึ่งอยู่ช่วงเริ่มต้นของโครงการ เพราะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้ฟื้นตัวได้ช่วงที่เหลือของปีนี้ |
. |
ไอเอ็มเอฟ ยังระบุด้วยว่า ความถดถอยของไทยผ่อนคลายลงแล้วไตรมาส 2 เพราะได้การใช้จ่ายภาครัฐช่วย และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพื่อการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยแผนรัฐบาลชุดปัจจุบันจะใช้เงินอีก 1.06 ล้านล้านบาท จนถึงปี 2555 เพื่อกระตุ้นการบริโภค และสนับสนุนให้เกิดการเติบโต หลังจากครึ่งแรกปีนี้ได้ดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.17 แสนล้านบาทไปแล้ว |
. |
ชม ธปท.คุมเงินบาทได้ดี |
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ เป็นการตรึงดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งครั้งล่าสุดนี้ และหลังจากที่การประชุมของ กนง. 4 ครั้ง ระหว่างเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2551 ได้หั่นดอกเบี้ยลงรวม 2.5% แล้ว |
. |
ไอเอ็มเอฟมองว่า ธปท.ได้จำกัดขอบเขตการลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบเกิดกับนโยบายการเงินอาจมีจำกัด เพราะภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ และสภาพคล่องมากเกินไปในระบบการเงิน |
. |
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่เทรดกันอยู่ในช่วงกว้างๆ ถือว่าอยู่ในระดับเหมาะสม และ ธปท.ได้แจ้งแล้วว่าจะยึดมั่นใช้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่น และจะเข้าแทรกแซงเฉพาะเวลาที่ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป เพื่อให้เงินบาทกลับมาอยู่ในภาวะปกติ |
. |
ไอเอ็มเอฟย้ำด้วยว่า รู้สึกยินดีที่ ธปท.ยังคงยึดมั่น ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่น สำหรับค่าเงินบาทของไทย หลังจาก ธปท.เข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินแข็ง และยังได้ประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนในต่างประเทศไปเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ปีนี้นั้น ช่วยให้เงินบาทซื้อขายอยู่ระหว่าง 33.8-34.41 บาทต่อดอลลาร์ และวานนี้เงินบาทเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อยู่ที่ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ |
. |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |
. |