28 บริษัท ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP จาก อย. ยกระดับผู้ประกอบการไทย ด้วยหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต
สวทช. จัดพิธีมอบโล่ห์แสดงความยินดีแก่ผู้ผลิตของไทย ทางด้านเครื่องสำอาง , ยา และวัตถุอันตราย จำนวน 28 บริษัท หลังได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP จาก อย. พร้อมจัดสัมมนา “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบGMP” เพื่อมุ่งเสริมสร้างผู้ประกอบการไทยยกระดับการผลิตให้คุณภาพ ด้วยหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ระบุยังพบว่าผู้ผลิตวัตถุอันตรายที่ผ่านการรับรองจาก อย. ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ กับITAP ถึงร้อยละ 42 |
จากการที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ทำให้อุตสาหกรรมของไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากระเบียบการค้าโลกมีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจถูกยกเป็นข้อกล่าวอ้างในการกีดกันทางการค้าได้ ประเทศไทยจึงมีการกำหนดมาตรฐาน GMP ( Good Manufacturing Practice ) หรือ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต มาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อป้องกันมิให้อาหารที่ผลิตนั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในประเทศ และเพื่อให้สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ |
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย และความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้แก่ ยา เครื่องสำอาง อาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัตถุอันตราย โดยได้มีการดำเนินการสนับสนุนโครงการ GMP มาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ....ในการพัฒนาระบบGMP ” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการ , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมมอบโล่ห์แสดงความยินดีแก่บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 21 บริษัท ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานฯ จำนวนกว่า 120 คน |
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า “ โครงการพัฒนาระบบ GMP มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ด้วยอุตสาหกรรมจะมีสุขลักษณะที่ดีในการผลิต เนื่องจากเป็นการวางระบบการจัดการด้านการผลิตและการประกันคุณภาพที่ดีที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งนี้ในปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้กำหนดให้ระบบ GMP เป็นข้อบังคับในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมประเภทอื่นนั้นถึงแม้จะยังไม่ได้ใช้บังคับในปัจจุบัน แต่คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และถึงแม้ GMP จะยังไม่ได้บังคับใช้ในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม แต่ก็มีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากที่ได้เริ่มพัฒนาระบบ GMP แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย เนื่องจากเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ |
ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวอีกว่า “ โครงการ ITAP ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบ GMP ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จึงได้ดำเนินการสนับสนุนโครงการ GMP มาอย่างต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็อยู่เกณฑ์ที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ล่าสุด มีบริษัทที่ร่วมโครงการกับ ITAP สามารถผ่านการรับรอง GMP จาก อย. แล้วถึง 28 บริษัท โดยในโอกาสนี้ จึงขอแสดงความยินดีกับทุกบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP โดยเฉพาะกับ 21 บริษัทที่ได้รับมอบโล่แสดงความยินดีครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมระบบ GMP ในปี 2549 นี้ จะประสบความสำเร็จและได้รับการรับรอง GMP ตามที่คาดหวังไว้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป |
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์ TMC กล่าวว่า “โครงการITAP ได้เริ่มโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบ GMP มาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีผู้เชี่ยวชาญภาครัฐทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศเข้าให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่กลุ่มผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจร โดยมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ GMP ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 140 บริษัท โดยมีการจัดฝึกอบรมไปแล้ว 70 บริษัท และมีบริษัทที่ได้รับการรับรอง GMP เรียบร้อยแล้ว 28 บริษัท |
สำหรับบริษัทที่ได้รับมอบโล่แสดงความยินดีครั้งนี้ มีจำนวน 21 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมยา 2 บริษัท , อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 10 บริษัท , อุตสาหกรรมวัตถุอันตราย 8 บริษัท และอุตสาหกรรมอาหาร 1 บริษัท อาทิ บจก.ห้าตะขาบ (ซิมเทียมฮ้อ) , บจก.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร.สาโรช , บจก.อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) , บมจ.เชอร์วู้ด เคมิคอล , บมจ.ล็อกซเลย์ , บจก.ไวท์เฮ้าท์ คลีนนิ่ง โปรดักส์ , บมจ.แจ๊กเจียอุตสาหกรรม(ไทย) , บจก. ไบรด์บิวตี้แคร์คอสเมติก , บจก.ไบโอ แมนูแฟคเจอริ่ง และ บจก. ไบรด์บิวตี้แคร์คอสเมติก เป็นต้น |
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนบริษัทที่ได้รับการรับรอง GMP ด้านวัตถุอันตรายทั้งหมดจาก อย.นั้น เป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการกับ ITAP คิดเป็นสัดส่วนถึง 42% เมื่อเทียบกับบริษัททั้งหมดที่ได้รับการรับรอง |
ด้าน ดร.ประสาน ธรรมอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเภสัชวิทยา คระเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวฝากในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง GMP แล้ว จะต้องรักษามาตรฐานดังกล่าวไว้ให้เป็นนิสัย พร้อมแนะให้ผู้ประกอบการพัฒนาห้องแล็ป เพื่อการทำ QC เพราะถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบคุณภาพ |