เนื้อหาวันที่ : 2009-08-26 15:18:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3563 views

กสิกรไทยหนุนธุรกิจสีเขียว ปล่อยกู้โรงงานใช้พลังงานทางเลือกใหม่

กสิกรไทย หนุนเอสเอ็มอีใช้พลังงานทางเลือก ปล่อยกู้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สุพรรณบุรี และโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากส่าเหล้าที่ฉะเชิงเทรา รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 640 ล้านบาท

กสิกรไทยสืบสานปณิธานสีเขียว หนุนเอสเอ็มอีใช้พลังงานทางเลือก ช่วยลดภาวะโลกร้อน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปล่อยกู้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สุพรรณบุรี และโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากส่าเหล้าที่ฉะเชิงเทรา รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 640 ล้านบาท

.

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

.

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาที่คุกคามมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย จึงได้กำหนดปณิธานสีเขียว ในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนลูกค้าของธนาคารที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม                           

.

โดยล่าสุดได้ให้การสนับสนุนทางการเงินรวม 640 ล้านบาทแก่ บริษัท คิเนติค เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และบริษัท ดีวีเอ็มวีเอส จำกัด เพื่อดำเนินโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากส่าเหล้า ซึ่งบริษัททั้งสองแห่งได้เลือกใช้และผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ที่มีแหล่งกำเนิดจากวัตถุดิบที่เหลือใช้ทางการเกษตรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ 

.

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท คิเนติค เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลอันประกอบไปด้วย เปลือกไม้ยูคาลิปตัส เศษไม้ และแกลบ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 10 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 8 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งใช้พลังงานชีวมวลในการผลิต 

.

ส่วนบริษัท ดีวีเอ็มวีเอส จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่าที่ได้จากการกลั่นสุราผ่านระบบหมัก โดยก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จะจัดจำหน่ายให้แก่องค์การสุรา กรมสรรพสามิต เพื่อนำไปผลิตพลังงานสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียแทนการใช้น้ำมันเตา 

.

ธุรกิจพลังงานทางเลือกใหม่ทั้งสองแห่ง เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการใช้ ทรัพยากรภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานจากต่างประเทศ เนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 1 ล้านล้านบาท และการใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในประเทศเป็นเชื้อเพลิงจะมีความเสถียรของราคาต้นทุนและปริมาณเชื้อเพลิงมากกว่าการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งช่วยลดโอกาสในการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

.