เนื้อหาวันที่ : 2009-08-25 16:06:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1858 views

การให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศกำลังพัฒนาของอียู

คต.แนะไทยต้องมองหาช่องทางรักษาศักยภาพในการแข่งขัน ชี้สิทธิ GSP ที่ได้รับไม่แน่นอนหวั่นอียูยกเลิกสิทธิ ระบุการขอรับสิทธิ GSP Plus ไม่ง่ายเหตุอุปสรรคด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)

.

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า สิทธิพิเศษที่ไทยได้รับภายใต้ระบบ GSP นั้นไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ฝ่ายอียูให้ฝ่ายเดียว ซึ่งอียูอาจเลิกให้สิทธิ GSP หากประเทศนั้นๆ มีศักยภาพในการแข่งขันมากเพียงพอ นอกจากนี้ การปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อขอรับสิทธิ GSP Plus อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไทย

.

เนื่องจากมีการโยงประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นเงื่อนไขด้วย ดังนั้น ไทยอาจต้องมองหาช่องทางอื่นเพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น การทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจหรือความตกลงการค้าเสรี เช่นเดียวกับที่กลุ่ม ACP ชิลี เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฯลฯ ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในสัดส่วนที่มาก

.

นางสาวชุติมา เปิดเผยว่า กลุ่มอียูได้จัดทำรายงานเรื่อง "เรื่องจริงหรือหลอกลวง : นโยบายการค้าที่เปิดกว้างของสหภาพยุโรปและการให้สิทธิพิเศษทางการค้า" โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่า การที่อียูให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศต่างๆที่ได้รับสิทธิสามารถส่งออกได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

.

1. กลุ่มประเทศที่อียูให้สิทธิประโยชน์ : ประกอบด้วย 7 กลุ่มประเทศแบ่งตามระดับการพัฒนา ได้แก่ อาเซียน (ยกเว้น สิงคโปร์ พม่า ลาว และกัมพูชา) กลุ่มละตินอเมริกา (ยกเว้น ชิลี และเม็กซิโก) กลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน (ยกเว้น อิสราเอล และตุรกี) กลุ่มประเทศ ACP Non- LDC (ยกเว้น South Africa) กลุ่มประเทศ ACP-LDC กลุ่มประเทศ LDC –Non-ACP (ยกเว้น พม่า) รวมทั้งการค้าเสรีกับประเทศกำลังพัฒนา (ชิลี เม็กซิโก และแอฟริกาใต้)

.
2. รูปแบบการให้สิทธิพิเศษ 

2.1 GSP (Generalised System of Preferences): การยกเว้น (Duty Free) และลดหย่อน (Tariff Reduction) อัตราภาษีศุลกากร โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 อียูเห็นชอบโครงการ GSP ปัจจุบันและเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 – ปลายปี 2554 ครอบคลุมสินค้า 6,300 รายการ

.

2.2 GSP Plus: ยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าแก่สินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการ GSP ทั่วไปและสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมแก่กลุ่มประเทศที่มีความต้องการพัฒนาเป็นพิเศษ (Vulnerable Countries) โดยเน้นประเด็นสิทธิแรงงานและมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม 

.

2.3 Everything but Arms (EBA): ยกเว้นภาษีศุลกากรในการเข้าสู่ตลาดโดยไม่มีการจำกัดแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 49 ประเทศ
2.4 Autonomous Trade Measures (ATMs) : ยกเว้นภาษีและโควตาแก่กลุ่มประเทศบอลข่านตะวันตก และอียูได้ลงนามความตกลงสมาคมและความมั่นคง (Stabilization and Association Agreements) กับบางประเทศในกลุ่มดังกล่าวด้วยเช่นกัน

.

2.5 ความตกลง Cotonou และ EPAs (Economic Partnership Agreements) ระหว่างอียูและประเทศสมาชิก ACP (Africa, Caribbean and Pacific) ซึ่งมีสมาชิก 78 ประเทศ เป็นเรื่องการเปิดเสรีการค้าในลักษณะที่ให้ประโยชน์กับ ACP มากกว่าที่อียูได้รับตอบแทน

.

2.6 ความตกลงการค้าเสรีที่อียูจัดทำกับชิลี เม็กซิโกและแอฟริกาใต้ ครอบคลุมสินค้าเกือบทั้งหมด (Substantially all trade) และครอบคลุมถึงการยกเลิกมาตการข้ามพรมแดนและในพรมแดนที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และด้านอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและต่างตอบแทน 

.

3. ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (preference margins) จากอียูสูงที่สุดคือ กลุ่มประเทศ ACP Non-LDC โดยได้ส่วนลดร้อยละ 13 จากอัตราภาษีนำเข้าปกติ รองลงมาได้แก่กลุ่ม LDC Non-ACP ร้อยละ 9 ตามด้วย ACP- LDC ร้อยละ 7 เมดิเตอร์เรเนียน ร้อยละ 6 และกลุ่มอาเซียนได้สิทธิพิเศษทางภาษีต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 2

.

4. การใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ : การนำเข้าสินค้าภายใต้อัตราภาษี MFN- 0 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2549 จึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปเนื่องจากน้ำมันและสินค้าอื่นๆ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น สำหรับในปี 2550 สรุปได้ดังนี้ 

.

4.1 สินค้าที่นำเข้าภายใต้อัตราภาษี MFN-0 คิดเป็นร้อยละ 60 ของการนำเข้าทั้งหมด
4.2 สินค้านำเข้าที่ยังมีการเก็บภาษี (dutiable imports) คิดเป็นร้อยละ 40 ของการนำเข้าทั้งหมด
4.3 สัดส่วนสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี คิดเป็นร้อยละ 37 ของสินค้านำเข้าที่ยังมีการเก็บภาษี 
4.4 อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ (preference utilization) ประมาณร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี
4.5 การนำเข้าโดยได้รับยกเว้นภาษีจากอียู (EU duty free) คิดเป็นร้อยละ 70 

.

5. การใช้สิทธิประโยชน์ของไทย : ประเทศไทย (เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน) ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี (preference utilization rate) ต่ำ (ตามนิยามของ Candau and Jean (2006) หมายถึงต่ำกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีทั้งหมด) กว่าภูมิภาคอื่นๆ คือใช้เพียงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับร้อยละ 90 ในโมร็อกโกและตูนีเซีย (ในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน) ร้อยละ 85 ในอาร์เจนตินา (ละตินอเมริกา) และร้อยละ 85 ในชิลี 

.

สินค้าออกของไทยไปอียูที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราต่ำ ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องจักร คิดเป็นร้อยละ 55 อุปกรณ์ในการขนส่ง ร้อยละ 48 สำหรับสาเหตุที่ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราต่ำ แยกแยะเป็นรายสินค้าได้ดังนี้

.

5.1 สินค้าเครื่องยกทรง : เนื่องจากอัตราภาษีปกติ (ร้อยละ 6.5) และ GSP (ร้อยละ 5.2) มีอัตราใกล้เคียงกัน ต่างกันเพียงร้อยละ 1.3 จึงไม่ดึงดูดความสนใจจากผู้ส่งออก ประกอบกับอียูใช้เกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดสูง คือ "Manufacture from yarn"   

.

ซึ่งหมายความว่าเครื่องยกทรงจะมีถิ่นกำเนิดในไทยได้ ก็ต่อเมื่อกระบวนการตัดเย็บที่เกิดขึ้นในไทยต้องใช้วัตถุดิบผ้าผืนที่มีถิ่นกำเนิดจากไทยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงการผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ลูกค้าในต่างประเทศจะกำหนดรูปแบบ ชนิด คุณภาพและแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย ทำให้เครื่องยกทรงที่ผลิตได้ไม่เข้ากฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอียู

.

5.2 เตาไมโครเวฟ : อียูใช้เกณฑ์ "Manufacture in which the value of all the materials uses does not exceed 30% of the ex-works price of the product" หมายความว่า สินค้าที่ผลิตได้จะต้องมีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้าหน้าโรงงาน หรือ สินค้ามีสัดส่วนมูลค่าต้นทุนการผลิตในประเทศผู้รับสิทธิรวมทั้งไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของราคาสินค้าหน้าโรงงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงทำให้เตาไมโครเวฟที่ผลิตได้ไม่มีถิ่นกำเนิดในไทย

.

5.3 ปลาทูนากระป๋อง : ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติ (ร้อยละ 24) และ GSP (ร้อยละ 20.5) ต่างกันเพียงร้อยละ 3.5 และอียูกำหนดเกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าตามหลัก "Manufacture from animal of Chapter 1, and/or in which all the materials of Chapter 3 used are wholly obtained" ซึ่งมีความเข้มงวดสูง โดยปลาทูนาจะต้องจับได้ในประเทศไทยหรือจับได้โดยเรือสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งที่ความจริงปลาทูนาที่เป็นวัตถุดิบของไทยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไต้หวัน ญี่ปุ่น วานูอาตู 

.

6. สินค้าที่นำเข้ามายังอียูโดยใช้สิทธิพิเศษ 5 สินค้าสำคัญ ได้แก่ (1) แร่ธาตุ ซึ่งเป็นสาขาหลักที่มีการส่งออกจากทุกกลุ่มยกเว้นอาเซียน (2) สินค้าผัก (3) prepared foodstuffs (4) สิ่งทอ และ (5) สินค้าโลหะ ซึ่ง ร้อยละ 70 อียูนำเข้าจากอาเซียน และร้อยละ 95 นำเข้าจากประเทศ LDC Non-ACP ทั้งนี้ ในปัจจุบันสินค้าจำนวนมากจากประเทศกำลังพัฒนา/ ด้อยพัฒนาต่างๆ (ยกเว้น อาเซียน) ที่นำเข้ามาอียูด้วยภาษีเป็นศูนย์ และมีอัตราการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีที่สูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ACP

.
ที่มา 
1. สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์
2. สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ