เนื้อหาวันที่ : 2009-08-25 14:44:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1319 views

ออเดอร์ดันดัชนีอุตฯ ฟื้น ผู้ประกอบการขอการเมืองนิ่งดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเริ่มฟื้น อานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหนุนยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น วอนรัฐเดินหน้ากระตุ้นศก.ดึงนักลงทุนต่อเนื่อง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,112 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ที่ระดับ 83.5 เป็นผลดีมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ราคาขาย ตลอดจนปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

.

โดยเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย     ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองในประเทศช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ประกอบกับการสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่สะท้อนมาจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้มีการปรับสต๊อกสินค้าคงคลังให้เหมาะสมตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ 

.

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก

.

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 93.0 ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการรับทราบสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า จะได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการที่จะปรับตัวดีขั้น                    

.

แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าดัชนีฯดังกล่าวกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2551) ที่อยู่ในระดับ 82.9 พบว่ามีการปรับตัวที่สูงขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจลดลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่คาดว่าจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แม้ทางด้านการเมืองในประเทศจะยังไม่มีเสถียรภาพก็ตาม 

.

อย่างไรก็ตาม ทั้งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน และเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอจากการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ระดับราคาน้ำมันที่เริ่มกดดันภาวะต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น และล่าสุดสถาณการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของภาคอุตสาหกรรมในระยะถัดไปได้

.

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่าอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้รับผลดีจากการปรับตัวของยอดขายและยอดคำสั่งซื้อในประเทศที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้รับผลดีจากการปรับตัวของยอดขายและยอดคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการปรับตัวดีขึ้นจากตลาดต่างประเทศ

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยหลักที่นำมาใช้คำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น ยกเว้น ภาคเหนือ ที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา                     

.

ทั้งนี้มาจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่นักท่องเที่ยวมีลดจำนวนลงจากภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งการปรับตัวลดลงของคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศลดลงจากอุตสาหกรรมแกรนิตและเซรามิก

.

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศดัชนีปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ มีการปรับตัวดีขึ้นทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศ

.

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผลกระทบด้านราคาน้ำมันในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมองว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมน้อยลงเนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อันดับต่อมาผลกระทบจากการเมือง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการเห็นว่ามีผลต่อผลการประกอบการน้อยที่สุดและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้

.

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน หาแหล่งตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะการค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างภูมิภาค กระตุ้นให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ควรผ่อนคลายกฏหรือเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อลงเพื่อช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมาใช้หมุนเวียนในกิจการได้ เร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

.

พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน เพราะหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจะผลักให้ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วย ในขณะที่ผลิตจะไม่สามารถปรับราคาขายได้ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ลดภาษีนำเข้าในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนและควรมีมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร

.