เครือข่ายชาวบ้าน หนองแซง-ภาชี ประณาม สผ.เร่งอนุมัติ อีไอเอโรงไฟฟ้า ไม่แจ้งตามสัญญา-ขัดร่างผังเมืองจังหวัด ที่ให้ อ.หนองแซงและภาชีเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
|
. |
เครือข่ายชาวบ้าน หนองแซง-ภาชี ประณาม สผ.เร่งอนุมัติ อีไอเอโรงไฟฟ้า ขัดกับเจตนารมณ์ผังเมืองรวมจังหวัดที่ ให้ อ.หนองแซงและภาชีเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม |
. |
นักข่าวพลเมืองรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) ว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ส.ค.ชาวบ้านจากกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1600 เมกกะวัตต์ จาก อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี อยุธยา ประมาณ 70 คน ได้เดินทางมาที่ สผ. เพื่อทวงถามผลการประชุมคณะชำนาญการวิเคราะห์รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการนี้ |
. |
ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะชำนาญการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา และกรรมการชำนาญการด้านพลังงานมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว โดยชาวบ้านไม่รู้กำหนดการประชุมในครั้งนี้มาก่อน ทั้ง ๆ ที่ทาง สผ. ได้ให้สัญญาไว้แล้วว่าแจ้งชาวบ้านทุกครั้งที่จะมีการพิจารณาของคณะชำนาญการ |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมได้ใช้รถเครื่องเสียงเปิดการปราศรัยที่หน้า สผ. โจมตีความไม่โปร่งใสของการพิจารณาอีไอเอ โดยนายสมคิด ดวงแก้ว ชาวบ้านเจ้าของนาในอ.หนองแซง 30 ไร่ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สผ. มักพูดว่าเราพิจารณาอีไอเอ ไม่ได้พิจารณาให้สร้างหรือไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านที่จบแค่ ป.4 ก็รู้ว่า ถ้าบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าไม่ได้รับการอนุมัติรายงานอีไอเอ ไม่มีจดหมายอนุมัติอีไอเอจาก สผ. ก็ไม่มีทางจะได้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ |
. |
นักวิชาการที่ถูกเรียกว่าผู้ชำนาญการชอบบอกว่าตัวเองต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาตามที่กำหนดในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยที่พวกเขาไม่ได้เห็นอกเห็นใจคนในชุมชนที่เป็นคนเล็กคนน้อย ซึ่งคัดค้านโครงการ 2 ปีที่ผ่านมาพวกชาวบ้านเป็นคนให้ข้อมูลผลเสียที่จะเกิดขึ้น จนทำให้มีการตีกลับอีไอเอ ถึง 3 ครั้ง |
. |
ป้าทอง ชาวบ้านคนหนึ่ง กล่าวว่า "ในเมื่อพวกข้าราชการเป็นแบบนี้ ป้าจะบอกชาวบ้านทั่วประเทศว่าอย่ายอมให้บริษัทลงพื้นที่ได้ เพราะถ้าอีไอเอเสร็จ นักวิชาการก็จะอนุมัติลูกเดียว" |
. |
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ประธานเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวว่า คณะชำนาญการที่พิจารณาอีไอเอ ไม่เคยตอบจดหมายที่เราถามไปแม้แต่ข้อเดียว แม้ว่าตัวแทนชาวบ้านจะเคยเข้าไปให้ข้อมูลแก่คณะผู้ชำนาญการคณะนี้ ถึง 2 ครั้ง แต่เมื่ออนุมัติอีไอเอ คณะผู้ชำนาญการคณะนี้ก็ไม่ตอบคำถามชาวบ้านว่าโรงไฟฟ้าจะแก้ไขผลกระทบต่อต้นข้าว การออกรวงของข้าวอย่างไร เมื่อชาวบ้านมาขอข้อมูลก็ไม่ให้ ขอคุยกับเลขาธิการ สผ. ก็ไม่ได้ ได้แต่รับหนังสือไปอย่างเดียว และการอนุมัติอีไอเอครั้งนี้ก็ขัดกับร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ที่กำหนดให้ อ.หนองแซงเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมซึ่งไม่ให้มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม |
. |
นายตี๋กล่าวอีกว่า ชาวบ้านเคยทำจดหมายถามคณะผู้ชำนาญการไปว่าทำไมจึงไม่มีการหยิบยกเรื่องร่างผังเมืองมาพิจารณาโครงการนี้ เพราะร่างผังเมืองแม้จะยังไม่ประกาศใช้แต่ก็คือการวางแผนการใช้ที่ดินและจัดระเบียบชุมชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ของ อ.หนองแซง ซึ่งการทำอีไอเอของโรงไฟฟ้าก็เป็นการคาดการณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และการใช้ที่ดินเช่นกัน ถ้าคณะชำนาญการมีความกล้าหาญและมองความเป็นจริงว่า ผังเมืองคือเจตจำนงที่กำหนดให้ อ.หนองแซงไม่มีอุตสาหกรรม ต้องรักษาพื้นที่เกษตรไว้ก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย |
. |
แต่คณะนักวิชาการกลับไม่หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาเลย ทำเป็นเถรตรงบอกว่าผังเมืองเป็นแค่ร่าง ยังไม่ประกาศใช้ แต่ความจริงผังเมืองนี้อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาที่กำลังตรวจดูความถูกต้องแล้ว และไม่สามารถขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อีก ซึ่งหากผ่านกฤษฎีกาก็จะส่งไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากเห็นชอบรัฐมนตรีมหาดไทยก็ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ |
. |
นางปฐมมณ กัณหา กล่าวด้วยความผิดหวังว่า คณะชำนาญการทำงานโดยไม่ดูความเป็นจริงอ้างแต่กฎหมายว่าผังเมืองยังไม่ประกาศทั้ง ๆ ที่มีข้อเสนอแนะจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีสั่งระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพราะถ้าสร้างไปก็ขัดกับร่างผังเมืองที่จะประกาศในอนาคต เสียเวลาและงบประมาณที่จังหวัดสระบุรีได้ทำกระบวนการร่างผังเมือง และรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดมาแล้ว |
. |
ผู้ตรวจการฯ ออกคำวินิจฉัยมาตรงกับที่ชาวบ้านได้เรียกร้องมาตลอด แต่หน่วยราชการไม่สนใจ เป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก ดูเหมือน สผ.ไม่ใช่หน่วยงานรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่เป็นหน่วยงานทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะการอนุมัติอีไอเอคือใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าไปทำลายชุมชน และทำลายพื้นที่เกษตรของชาวบ้านหนองแซงและภาชี |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สผ. ได้ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจบางซื่อ มาตั้งแผงเหล็กกั้นบันไดทางขึ้นตึก สผ.ไว้ แต่ชาวบ้านผู้หญิงจำนวนหนึ่งได้บุกขึ้นไปทางประตูด้านข้าง เดินขึ้นไปถึงห้องทำงานของนางนิศากร โฆษิตรัตน์เลขาธิการ สผ. ซึ่งนางนิศากรมีท่าทีโกรธจัดและไม่ยอมคุยกับชาวบ้าน โดยชาวบ้านได้ถามถึงรายละเอียดการอนุมัติอีไอเอ และเหตุผลที่ไม่มีการแจ้งชาวบ้านตามที่รับปาก เมื่อนางนิศากรเดินหนีไป ชาวบ้านจึงลงมาร่วมกับกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เปิดปราศรัยอยู่หน้าตึก สผ. จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ทั้งหมดจึงเดินทางกลับ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |