เนื้อหาวันที่ : 2009-08-24 17:27:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2060 views

ฟังหูไว้หูกับ ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์

อาจารย์ชาวสหรัฐอเมริกาท่านนี้กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึง เพราะรัฐบาลไทยหวังใจให้มาชี้ช่องทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่ท่านเสนอจะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือจะพาเราเข้ารกเข้าพงหรือไม่ ลองมาพิจารณากันดู

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

.

.

อาจารย์ชาวสหรัฐอเมริกาท่านนี้กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึง เพราะรัฐบาลไทยหวังใจให้มาชี้ช่องทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่ท่านเสนอจะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือจะพาเราเข้ารกเข้าพงหรือไม่ ลองมาพิจารณากันดู

.

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2552 ผมได้ไปฟังท่านบรรยายที่กระทรวงการต่างประเทศ จึงขออนุญาตนำมาสิ่งที่ท่านเสนอมาแสดงความเห็นเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอุดมปัญญานี้ และเพื่อหาทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยของเรา

.
โต้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์ท่านนี้ยกขึ้นมากล่าวก็คือเรื่องตัวเลขดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Projects GDP) โดยกล่าวว่าดัชนีดังกล่าวไม่ใช่เครื่องชี้การเจริญเติบโตของประเทศ ข้อนี้ดูเป็น 'แฟชั่น' ที่ผู้รู้หลายคนที่แสดงตัวเป็นผู้ที่ 'คิดต่าง' พยายามมองเช่นนี้ แต่ปัญหาก็คือ ถ้าไม่ใช้ GDP จะมีดัชนีใดอีกที่สามารถชี้วัดแทนได้ อาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวว่าควรเป็นดัชนีใด หรือไม่ได้ยืนยันว่า 'ความสุขมวลรวมประชาชาติ' (Gross National Happiness: GNH) เป็นดัชนีที่เชื่อถือได้ เพราะยังไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน

.

ในความเป็นจริง การวัดความเจริญ ความมั่งคั่งหรือความสุขนั้น ไม่ใช่ดัชนีเดี่ยว แต่เป็นชุดของดัชนีที่นำมาใช้วัด เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ ดัชนีความสงบสุข (Peace Score) เป็นต้น ในการวัดการพัฒนาต่าง ๆ จึงต้องใช้หลาย ๆ ดัชนีมาวิเคราะห์ การจะหวังหาดัชนีเดี่ยวอันใดมาใช้แทนจึงเป็นไปไม่ได้ และการหวังใช้ GDP มาอธิบายทุกอย่าง ก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

.

ในที่นี้ผมได้ทดสอบความสัมพันธ์เชิงตัวแปรของดัชนีต่าง ๆ จากข้อมูลประมาณ 150 ประเทศพบว่า GDP มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรในการทดสอบการวิเคราะห์ถดถอย (Regression Analysis) กับตัวแปรสำคัญ ๆ เช่น 

.

- ดัชนีการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Corruption Index) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 77.54% 

.

- ดัชนีการถือครองสมบัติ (Physical Property Right) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 66.20%

.

-  ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 60.66% เป็นต้น

.
ข้างต้นนี้แสดงว่า GDP เป็นดัชนีที่สะท้อนความเป็นจริงได้พอสมควรทีเดียว แต่จะให้เป็น 'แก้วสารพัดนึก' หรือหาดัชนีอื่นมาแทนคงไม่มี
.
จับแพะชนแกะ

ตอนที่อาจารย์ท่านนี้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ GDP เป็นดัชนีความเจริญเติบโตนั้น ท่านบอกว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวน 'คนคุก' สูงที่สุดในโลก จากข้อมูลของ http://hdrstats.undp.org/indicators/265.html พบว่า สหรัฐอเมริกามีคนคุกสูงถึง 738 คนต่อประชากร 100,000 คน สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 มี 350 คน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 32 มี 256 คน หากพิจารณาดูตัวเลขเพียงเท่านี้ก็อาจคล้อยตามอาจารย์ท่านได้ว่า สหรัฐอเมริกามี GDP สูง แต่สังคมไม่สงบเพราะมีคนคุกมาก

.

แต่ในความเป็นจริง หากเรามาพิจารณาประเทศที่มีคนคุกจำนวนน้อยที่สุดในโลก จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศ 'ด้อยพัฒนา' และไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น แองโกลา คองโก ซูดาน ชาด มาลี แกมเบีย อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ มีใครอยากไปอยู่ประเทศเหล่านี้ไหม ความจริงที่พึงทราบประการหนึ่งก็คือ การกวาดเก็บอาชญากรไว้ในคุกย่อมดีกว่าปล่อยให้เดินเล่นอยู่บนถนนทั่วไป

.

ผมจึงตกใจที่อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อการสร้างคุกไม่ควรถือเป็นเครื่องวัดใน GDP ทั้งที่การก่อสร้างซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ก่อให้เกิดการจ้างงาน แสดงผลิตภาพ และที่สำคัญเป็นกิจกรรมหนึ่งใน GDP ที่ทำให้เกิด "มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนดไว้" นั่นเอง

.
การส่งออกคือพระเอกต่างหาก

ในขณะนี้ พอประเทศไทยส่งสินค้าออกไม่ค่อยได้ รัฐบาลก็มักจะคิดว่าเราน่าจะพึ่งตนเองมากกว่าการคิดจะส่งออกสินค้าซึ่งมีความผันผวนในตลาดของสินค้าอยู่เสมอ (โดยเฉพาะในยามที่เราอยากขายสินค้า) ดังนั้นเราจึงมุ่งส่งเสริมการใช้สอยภายในประเทศ อาจารย์ท่านนี้ก็เสนอแนะในทำนองเดียวกันนี้ แต่ผมเชื่อว่า แนวคิดข้างต้นนอกจากเป็นแบบ 'กำปั้นทุบดิน' แล้ว ยังอาจเป็นการ 'เข้ารก เข้าพง' เสียอีก

.

ประเทศทั้งหลายอาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ ถ้าใครขืนอยู่ "หัวเดียวกระเทียมลีบ" ก็คงจะลำบากอย่างแน่นอน ประเทศมหาอำนาจก็รู้ ดังนั้นเขาจึงใช้การปิดล้อมทางเศรษฐกิจในการ 'ปราม' ประเทศเป้าหมาย เช่น อิหร่าน พม่าหรือเกาเหลีเหนือ เป็นต้น ประเทศที่เจริญขึ้นมาได้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม จีน ล้วนแต่เป็นเพราะสามารถส่งออกสินค้า นำเงินตราเข้าประเทศ และนี่เองหน่วยงานเศรษฐกิจการคลังของแต่ละประเทศจึงพิจารณาตัวเลขการส่งออกและแนวโน้มของแหล่งตลาดต่างประเทศเป็นเครื่องชี้อนาคตทางเศรษฐกิจนั่นเอง

.

การมุ่งเน้นการใช้สอยภายในประเทศ ยังมีความน่ากลัวสำคัญประการหนึ่งก็คือการดึงเอาเงินออมในอนาคตของประชาชนและของประเทศชาติโดยรวม ออกมาใช้จ่ายในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นี่อาจกลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจแบบไม่มีวันฟื้นคืน กลายเป็นประเทศล้มละลายไปในอนาคตก็ได้ และนี่คือก็คือการเล่นแร่แปรธาตุของรัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลกับตัวเลข GDP ให้ดูสูง ๆ จากผลของการใช้สอยภายในประเทศ และเป็นตัวบิดเบือนไม่ให้ GDP เป็นเครื่องชี้วัดที่ดีนั่นเอง

.
วิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจไม่ตรงจุด

วิกฤติสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่เกิดเพราะการไม่มีดัชนีหรือมาตรวัดเครื่องเตือนภัยเศรษฐกิจแต่อย่างใด ในสหรัฐอเมริกามีทั้งการวัดจำนวนบ้านที่เปิดใหม่ จำนวนบ้านที่สร้างเสร็จ การเปลี่ยนแปลงราคาบ้านรายเดือน ทรัพย์สินที่ถูกสถาบันการเงินยึดไว้ ฯลฯ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาเท่าที่ควร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การนี้อาจเป็นการสมคบคิดกันระหว่าง 'แกงค์' ธุรกิจรายใหญ่กับรัฐบาลก็ได้

.

ที่ผ่านมาเราเห็น 'ขี้ฝรั่งหอม' ทั้งที่ฝรั่งก็ไม่ได้มีมาตรฐานที่ดี และรัฐบาลของเขาก็ไม่ได้ดูแลอะไรให้ดีเลย ในที่ประชุมสุด G20 หรือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาตลาดการเงินโลก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ได้ประกาศร่วมกันว่า ต่อไปนี้ภาคการเงินต้องมีความโปร่งใส มีมาตรการที่เชื่อถือได้ดำเนินงาน เป็นต้น (www.g20.org/Documents/g20_summit_declaration.pdf) นี่แสดงว่าที่ผ่านมาประเทศตะวันตกไม่ได้มีมาตรฐานอะไรที่เป็นหลักประกันเลย

.

ท่านทราบหรือไม่ว่า บริษัทจัดอันดับเครดิตใหญ่ ๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งหนึ่งมีเลห์แมนบราเธอร์ ซึ่งเจ๊งไปแล้ว รวมอยู่ด้วยนั้น บริษัทเหล่านี้ไปเที่ยวจัดอับดับให้คนอื่นทั่วโลก โดยไม่เคยมีหลักประกันใด ๆ ว่าถ้าจัดอันดับผิดจะต้องรับผิดชอบอย่างไร บริษัทใหญ่เหล่านี้มีไม่กี่แห่งทั่วโลก ดูคล้าย "แกงค์" ที่ไม่เคยมีใครแตะต้อง ผิดกับนักวิชาชีพอื่น เช่น หมอ วิศวกร ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ทนาย ฯลฯ ซึ่งต้องมีการประกันความผิดพลาดทางวิชาชีพ เป็นต้น

.

ถ้าตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศต้องการความโปร่งใส คุ้มครองผู้บริโภคจริง และป้องกันการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทำไมจึงยังอนุญาตให้บริษัทมหาชนทั้งหลายแต่งตั้ง 'กรรมการอิสระ' (ซึ่งจริง ๆ แล้วอิสระหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย) กันเอง ทำไมปล่อยให้บริษัทมหาชน หาบริษัทตรวจบัญชี บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน หรือบริษัทตรวจสอบต่าง ๆ กันเอง อย่างนี้เป็นการ 'ปากว่า ตาขยิบ' หรือไม่

.
ระวังธุรกิจสีเขียว

อาจารย์ท่านแนะนำให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานซึ่งอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย หากวิสาหกิจใดทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น หรือทำให้เสียทรัพย์ เสียชีวิต อัยการของรัฐก็สามารถที่จะฟ้องร้องได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาราชการส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเทศ อาจไม่ได้นำพา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับสินบนจากวิสาหกิจขนาดใหญ่ การรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และปล่อยโจรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป

.

เมืองจำนวนมากในสหรัฐอเมริกามีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายน้ำดีเยี่ยม น้ำเสียจากทุกบ้าน จะถูกต่อท่อไปบำบัดรวม ทำให้คูคลอง ทะเลสาบ และสภาพแวดล้อมสะอาด บางทีเมื่อเราคลั่งไคล้สิ่งแวดล้อมมาก บริษัทจัดการสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา อาจได้โอกาสส่งออกความรู้มาขายคนไทยอีกคำรบหนึ่ง

.

มีตัวอย่างหนึ่งคือ 'Smart Growth' (www.smartgrowth.org) คือแต่ไหนแต่ไรมา สหรัฐอเมริกาใช้สอยทรัพยากรอย่างสุดสิ้นเปลือง เมืองขยายไปอย่างไร้ขอบเขต แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะประเทศของเขาร่ำรวย แต่ภายหลังนักวิชาการอเมริกันพบว่า เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ใครไม่มีรถก็เท่ากับพิการ ไปไหนไม่ได้ 

.

ก็เลยเกิดแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ 'Smart Growth' คือเน้นการสร้างความหนาแน่นในเมือง ให้คนเดินถึงสาธารณูปการต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นการบุกรุกออกสู่พื้นที่เกษตรนอกเมือง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็นำแนวคิดนี้มาขายให้กับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศเหล่านี้ก็ดีใจ ได้แนวคิดใหม่อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีโอกาสใช้สอยที่ดินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเช่นในสหรัฐอเมริกาเลย

.
สร้างความโปร่งใสสำคัญที่สุด

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มาก เงินจำนวนมหาศาลก็รั่วไหลไปในมือผู้มีอิทธิพลส่วนน้อย หนทางสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือ การอาศัยอำนาจรัฐที่เป็นธรรมในการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในประเทศ และขจัดความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน แนวทางการดำเนินงานก็ได้แก่:

.

- การสร้างระบบตรวจสอบที่ดี ท้องถิ่นหนึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ดูแลการโยธาเพียง 5 คน แต่มีบ้านในท้องถิ่นนั้นนับหมื่นหน่วย ดูแลอย่างไรก็ไม่หมด และเกิดช่องโหว่ในการไปดูแลเฉพาะกรณีที่สามารถรีดไถเงินต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสำคัญ กรณีนี้ภาครัฐต้องสร้างกลไกการตรวจสอบที่ดีโดยการว่าจ้าง (Privatize) และมีการกำกับตรวจสอบผู้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

.

- การมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ในประเทศที่เจริญ ประชาชนกลัวกฎหมาย แต่ไม่กลัวตำรวจ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอาจกลายเป็นตรงกันข้าม การลงโทษเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างนั้น เป็นสิ่งจำเป็น อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยดำเนินการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบน้อยกว่าประเทศหลายต่อหลายแห่ง เช่น ในจีน มีการยิงเป้าคนโกง เวียดนามก็เข้มงวดขนาดเอานักฟุตบอลล้มบอลติดคุก เป็นต้น

.

- การนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ เช่น หวยเถื่อน เหล้าเถื่อน หรือบ่อนการพนันเถื่อน  กรณีนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รัฐบาลได้ภาษีมาบำรุงประเทศมากขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ มักเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราอ้างตนเป็น 'ฝ่ายธรรมะ' จึงไม่ยอมให้เมืองพุทธนี้มีบ่อน มีหวยเสรีที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากเราฉุกคิดให้ดีตามทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) บางทีฝ่ายธรรมะกับอาชญากรเจ้ามือหวยเถื่อน เจ้าของบ่อนเถื่อน อาจเป็นพวกเดียวกัน เราจึงยังปล่อยให้มีบ่อน หวย มีสถานะเถื่อนหรือให้เป็นสีเทาเพื่อแสวงหาประโยชน์มิชอบกันเกลื่อนเมือง

.
ย้ายไปอยู่ภูฏานกันไหม

โดยสรุปแล้ว เมื่อเอ่ยถึงความสุข หลายคนบอกว่าภูฏานเป็นประเทศที่มีความสงบสุขกว่าไทย จนกลายเป็นประเทศ 'ส่งออก' แนวคิด GNH ไปแล้ว ผมจึงอยากถามว่า ท่านอยากย้ายถิ่นไปอยู่ (ไม่ใช่ไปท่องเที่ยว) ภูฏานหรือไม่ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจ ลองมาดูข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน (ข้อมูลเปรียบเทียบรายประเทศของ www.cia.gov)

.

- ภูฏานมีขนาดพื้นดิน 38,394 ตร.กม. หรือประมาณ 8% ของประเทศไทย มีประชากรเพียง 1% ของประเทศไทยหรือ 691,141 คน แต่อัตราการเพิ่มเร็วกว่าไทยมากคือ ประมาณ 1.27% เทียบกับไทยที่มีอัตราเพิ่มเพียง 0.62%

.

- อายุเฉลี่ยของประชากรภูฏานคือ 66.13 ปี ซึ่งต่ำกว่าของไทยที่มีอายุเฉลี่ยถึง 73.1ปี ที่สำคัญ จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อ่านออกเขียนในภูฏานมีเพียง 47% เทียบกับไทยที่มีถึง 92.60%

.

- ขนาดเศรษฐกิจของภูฐานเล็กเพียง 1% ของไทย แต่อัตราเงินเฟ้อคือ 4.9% ซึ่งพอ ๆ กับไทยคือ 5.5% แม้รายได้ต่อหัวของประชากรจะดูไม่ต่ำกว่าไทยนัก เป็นประมาณ 2/3 ของไทย แต่ในความเป็นจริงประชากรภูฏานที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีถึง 31.7% ในขณะที่ของไทยเป็นเพียง 10% เท่านั้น แสดงว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในภูฏานสูงกว่าไทยมาก

.
- อัตราการว่างงานของชาวภูฏานก็ยังสูงกว่าไทยนับเท่าตัวคือประมาณ 2.5% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น
.

ดูจากตัวเลขข้างต้น ยังไงคงมีคนจำนวนหนึ่งอยากไปแน่นอน อาจจะอยากบวชเป็นพระที่นั่น แต่คงเป็นคนส่วนน้อย (ที่ดวงตาเห็นธรรม) คนส่วนใหญ่คงไม่คิดจะไป เพราะติดขัดในเรื่องความสะดวกสบาย ความเจริญ และหลักประกันต่าง ๆ ซึ่งมีน้อยกว่าไทย

.

ก็คงคล้าย ๆ กับคนไทยที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา พวกเขาส่วนมากดีใจที่ได้กลับมาเที่ยวเมืองไทย หรือบางคนที่แก่แล้วก็อาจอยากกลับมาตายบ้านเกิด แต่ถ้าจะให้คนไทยในสหรัฐอเมริกา ย้ายถิ่นกลับไทย มาอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างไทย ๆ ลูกเต้าก็ต้องมาเรียนในโรงเรียนแบบไทย ๆ มาอยู่ในระบบสวัสดิการสังคมแบบไทย ๆ ที่แม้พวกเขาจะเสียภาษีน้อยกว่า ก็คงหาคนกลับมาแทบไม่ได้จริง ๆ

.

ความเป็นสรวงสวรรค์ (Shangri-La) ของภูฏานและประเทศแถบนี้ คงเป็นเฉพาะตอนไปท่องเที่ยวหรือไปอยู่ชั่วคราวเป็นหลัก สวรรค์นั้นใคร ๆ ก็อยากไป แต่ติดปัญหาคือยังไม่อยากตาย และที่สำคัญที่สุดก็คือหลายคนยังมีความสุขกับการ 'ชดใช้กรรม' ในประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี้มากกว่า

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท
.