เนื้อหาวันที่ : 2009-08-24 16:42:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1636 views

รัฐร่วมมือเอกชน หนุนอุตฯ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย พร้อมเป็ฐานการผลิตอาเซียน

ภาครัฐ-เอกชน ผุดโครงการความร่วมมือ หนุนอุตฯ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเตรียมพร้อมเป็นฐานการผลิตของอาเซียน เน้นยกระดับขีดความสามารถด้านการออกแบบและการตลาด เล็งตลาดอาเซียน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ภาครัฐ-เอกชน ผุดโครงการความร่วมมือ หนุนอุตฯ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเตรียมพร้อมเป็นฐานการผลิตของอาเซียน เน้นยกระดับขีดความสามารถด้านการออกแบบและการตลาด เล็งตลาดอาเซียน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

.

.

ภาครัฐ นำโดยกรมส่งเสริมการส่งออก และเอกชน นำโดยสมาคมในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ผนึกกำลังหนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเร่งพัฒนาศักยภาพ ด้วยหลากหลายโครงการที่ช่วยยกระดับทั้งด้านการผลิต ออกแบบ และการตลาด เพื่อเตรียมพร้อมให้ไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน

.

รองรับความต้องการสินค้าจากภายในภูมิภาคและตลาดสำคัญๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง ล่าสุดได้มีการจัดตั้ง inFASH (Thailand Institute Fashion Research) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ (Rajamangala University of Technology Krungthep) ร่วมกับภาคเอกชน          

.

เช่น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย นำเสนอและร่วม กำหนดเทรนด์สีและวัสดุของโลกด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก กับ Inter Color ภายหลังจากเมื่อปีที่แล้วประเทศไทยได้เริ่มเป็นสมาชิกของ Asia Fashion Federation เป็นประเทศที่ 5 ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์แฟชั่น รวมถึงศึกษาด้านวัฒนธรรมสร้างให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงในกลุ่มสมาชิกซึ่งถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกับประเทศที่มีศักยภาพในด้านแฟชั่น

.

นายยศธน กิจกุศล อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า "สืบเนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และการลงนามในข้อตกลงการค้ากับนานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เพิ่งลงนามเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยแล้ว ยังส่งผลให้ไทยได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นให้ เป็นฐานการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม                      

.

ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำโดยกรมส่งเสริมการส่งออกและสมาคมในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย จึงได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ตลอดจนเร่งสานต่อโครงการที่มีอยู่แล้ว เพื่อเสริมศักยภาพ พัฒนาจุดเด่น และแก้ไขจุดด้อย ให้ไทยก้าวเป็นฐานการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีศักยภาพในทุกระดับอย่างเต็มขีดความสามารถ โครงการเหล่านี้ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์หลักไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในเวทีการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก"

.

โครงการล่าสุดที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดเทรนด์สีและวัสดุของโลก และยกระดับบทบาทของไทยในเวทีกำหนดเทรนด์สีและวัสดุของภูมิภาค และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน คือการจัดตั้ง inFASH (Thailand Institute of Fashion Research) ทำหน้าที่วิจัยและกำหนดเทรนด์สีและวัสดุไทย ปีละ 2 ครั้ง คือ Spring Summer / Autumn Winter โดยการระดมสมองของคนในวงการแฟชั่น เจ้าของแบรนด์ สมาคมที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา แล้วนำมาสรุปเพื่อเสนอต่อ Inter Color                    

.

ซึ่งเป็นองค์กรที่ ก่อตั้งมากว่า 50 ปี เริ่มต้นจากประเทศอิตาลี ทำหน้าที่กำหนดเทรนด์สีและวัสดุทั่วโลก โดยทำวิจัยร่วมกัน 14 ประเทศและกำหนดเทรนด์สีและวัสดุเช่นผ้าออกมา ประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งในฐานะสมาชิกของ Inter Color ความสำคัญของสีจะทำให้เกิดความสอดคล้องกับตลาดโลก รวมทั้งเชื่อมโยงในการพัฒนาสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างมีทิศทาง

.

สำหรับโครงการใหม่ที่เน้นตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการพัฒนาผ้าผืน ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย และสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสิ่งทอไทย ได้ร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยทางญี่ปุ่นจะจัดผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยให้คำแนะนำปรึกษาและดูการผลิตของโรงงาน ที่ผ่านการคัดเลือกให้ผลิตสินค้าได้สอดคล้องกับมาตรฐานและความต้องการของตลาดญี่ปุ่น และโครงการพัฒนาผ้าผืนเวอร์ชั่นญี่ปุ่น

.

โดยความร่วมมือระหว่างสามสมาคมดังกล่าวได้มีการส่งทีมไปสำรวจความต้องการและแนวโน้มในตลาดญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ด้านแฟชั่น และด้านฟอกย้อม คอยให้คำปรึกษา เพื่อนำข้อมูลกลับมาเตรียมการพัฒนาเพื่อผลิตและนำเสนอต่อผู้นำเข้าจากญี่ปุ่นในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair - BIFF & BIL) ในปีหน้า

.

นายยศธน กล่าวอีกว่า "ปัจจุบันสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งอาเซียน (ASEAN Federation of Textile Industries หรือ AFTEX) ได้ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอระหว่างประะเทศอาเซียนทั้งหมดอย่างแข็งขัน เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก

.

ส่วนหนึ่งเป็นผล จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ทำให้ต่อไปการนำเข้า-ส่งออกสิ่งทอระหว่างประเทศอาเซียนจะได้รับการยกเว้นภาษี (0%) ผู้ประกอบการไทยสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่แรงงานถูกกว่าอย่างเวียดนาม กัมพูชา ลาวและพม่าได้ ทั้งยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งผลิตต้นน้ำที่มีความเชี่ยวชาญ          

.

อย่างเช่น เส้นใยสังเคราะห์จากอินโดนีเซีย ได้ในต้นทุนที่ถูกลง สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง ได้มากขึ้น รวมถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ มูลค่าการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเองจะขยายตัวอย่างมาก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน"

.

อาเซียนจะเป็นแหล่งในการออกแบบ และSourceหาวัตถุดิบแล้วผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีศักยภาพมากที่สุดของโลก จากการร่วมมือของทั้ง 10 ประเทศ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเชี่ยนผู้ซื้อสามารถจะจัดซื้อหรือพัฒนาวัตถุดิบในประเทศหนึ่ง และเลือกไปลงผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ในอีกประเทศสมาชิกที่มีความเก่งและชำนาญ หรือค่าแรงถูกได้สะดวกมากขึ้น ปราศจากเรื่องของภาษี และที่สำคัญเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ

.

นอกจากโครงการใหม่ๆแล้ว สมาคมในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังไดรับความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมส่งเสริมการส่งออก ในการดำเนินโครงการต่างๆเพื่อเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย หนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออก คือ "โครงการเครื่องนุ่งห่มไทยสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา" เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ OEM และ OBM ที่สนใจตลาดสหรัฐอเมริกา

.

ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา/แนะนำ เพื่อพัฒนาตัวสินค้าและพัฒนาศักยภาพการตลาดของผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าแฟชั่นไทย ในการตอบสนองต่อตลาดอเมริกาได้แม่นยำและเร็วขึ้น

.

โดยแบ่งการทำงานของผู้เชี่ยวชาญเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และด้านการตลาด ซึ่งครอบคลุมการวางกลยุทธ์และแผนการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด โดยผู้ประกอบการ OEM จะได้ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นชาวไทยที่ทำงานในสหรัฐอเมริกามาให้คำแนะนำด้านพัฒนาตัวสินค้าและคอลเลคชั่น การเลือกวัตถุดิบ การตั้งราคา                 

.

ส่วนผู้ประกอบการ OBM ได้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Fashion Institute of Technology (FIT) นิวยอร์ค มาช่วยแนะนำในการปรับคอลเลคชั่นให้เหมาะสมกับตลาดและการสร้างแบรนด์ สำหรับแบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการและสามารถเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาได้แล้ว ได้แก่ แบรนด์ Million of Colours ของ ฮาร์ทแอนด์มาย เป็นเสื้อผ้าเด็กที่ถูกทำคลอดในบรู๊คคลิน นอกจากนี้ยังมีบริษัทและแบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ทองไทย การทอ, การ์เมนท์เทค, ชาลอม, ประชาอาภรณ์, บูติคนิวซิตี้

.

โครงการ "Resort Wear" เกิดจากความร่วมมือของสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก และผู้ประกอบการ ซึ่งครอบคลุมหมวดเสื้อผ้าเด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง หมวก กระเป๋า และรองเท้า ฯลฯการนำเสนอสินค้าคอลเลคชั่นเดียวกันภายใต้ concept ของ แบรนด์ "Tree Boo" (สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.treeboo.com) โดยมีผู้ประกอบการในแต่ละหมวดสินค้าทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับแบรนด์นี้ และมีผู้เชี่ยวชาญชาวอิตาลีให้คำแนะนำด้านแนวคิดและทิศทางการออกแบบคอลเลคชั่น ให้กับดีไซเนอร์ไทยประมาณ 5-6 คน    

.

จากนั้นดีไซเนอร์เหล่านี้จะไปทำการออกแบบและผ่านการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำผู้ผลิตสำหรับรูปแบบสินค้าที่จะผลิตอีกต่อหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงระหว่างดีไซเนอร์กับผู้ผลิตรวมทั้งมุมมองจากภายนอกของผู้ให้คำปรึกษาซึ่งสำคัญทีเดียวเนื่องจากเราเน้นเพื่อการส่งออก ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 13 ราย และมีเป้าหมายที่จะต่อยอดด้วยการขายเป็น concept brand ในรูปแบบของ Lifestyle Resort Wear โดยมีที่ปรึกษาด้านการตลาดจากประเทศอิตาลี

.

นอกจากนี้ยังมีโครงการ "Best Practice" ที่ทำมาต่อเนื่องร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ด้วยการให้ผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของกระบวนการผลิตได้เปิดเผยข้อมูลและแนะนำวิธีการที่ตนเก่งเพื่อให้ผู้ผลิตขนาดเล็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ และพยายามพัฒนาให้ได้ระดับเดียวกับโรงงานผู้ผลิตที่เป็นต้นแบบขนาดใหญ่

.

เช่น การแนะนำผู้ประกอบการรายเล็กๆ เรื่องเทคนิคด้านการผลิตต่างๆ อย่างการประหยัดการใช้ผ้า การพัฒนาแรงงานให้มีฝีมือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเตรียมงานที่ดี ฯลฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดรวมทั้งสามารถลดต้นทุนได้อย่างดี ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยในระดับเล็กและกลาง ได้มีมาตรฐานสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อระดับโลก

.

อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างโรงงานใหญ่และเล็กในการรับออร์เดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องขยายกำลังการผลิตเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาเพราะมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน โรงงานขนาดเล็กก็จะสามารถอยู่รอดได้

.

การทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างเอกชนกับภาครัฐบาล โดยเฉพาะกับกรมส่งเสิรมการส่งออกส่งสัญญาณว่าจะทำให้อุตสาหกรรมของไทยนี้มีความแข็งแรงและมีทิศทางที่จะยืนหยัดและเจาะเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งทำให้ประเทศไทยเพิ่มบทบาทสำคัญในภูมิภาคและระดับโลก ภาครัฐหนุนเอกชนไทยเต็มที่เปิดกว้างในการสร้างความเชื่อมโยงกับนานาประเทศ

.

ทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวมองค์ความรู้ และเป็นเวทีสำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเชียน เนื่องจากไทยมีความพร้อมในด้านสถาบันการศึกษาที่จะพัฒนาคนให้เข้าสู่อุตสาหกรรมไม่ว่าด้านการออกแบบหรือด้านการผลิต มีแหล่งพัฒนาวัตถุดิบในระดับสูง มีแหล่งผลิตที่มีประสิทธิภาพและเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีแหล่งจำหน่ายสินค้าแฟชั่นที่น่าสนใจ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับผู้ซื้อทั่วโลกในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่อไป

.