มหาวิทยาลัยนเรศวร ห่วงปัญหาวิกฤตพลังงาน หวั่นลุกลามถึงประชาชนเป็นวงกว้าง ผุดโครงการ "พัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลและแหล่งเรียนรู้ไบโอดีเซลชุมชนตำบลท่าทอง" ชวนเกษตรกรผลิตไบโอดีเซลลดต้นทุน
. |
"ปัจจุบันคนไทยมีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพสูงมาก เพราะต้องเผชิญกับภาวะความเสี่ยงในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก" คำกล่าวของ ศ.พญ. ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยต้องรัดเข็มขัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เว้นแม้แต่อาชีพเกษตรกรซึ่งต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก |
. |
ประกอบกับปัจจุบันความนิยมบริโภคอาหารประเภททอดเพิ่มสูงขึ้น ประเมินกันว่าประเทศไทยมีการใช้น้ำมันพืชกว่า 800 ล้านลิตรต่อปี และมีน้ำมันพืชใช้แล้วเหลือมากกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งน้ำมันพืชที่ใช้แล้วส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่และอาหารสัตว์ บางส่วนถูกทิ้งสู่สาธารณะซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม บ้างถูกลักลอบนำไปผ่านกระบวนการกลับมาขายใหม่ในราคาถูกเพื่อใช้ทอดซ้ำ ซึ่งผู้ที่บริโภคอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันพืชดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและเป็นต้นเหตุของ "โรคมะเร็ง" |
. |
จากปัญหาด้านวิกฤติพลังงาน ที่ส่งผลลุกลามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน "โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลและแหล่งเรียนรู้ไบโอดีเซลชุมชนตำบลท่าทอง" ของภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษาและพัฒนาเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่นำไปใช้งานได้ในระดับชุมชน ซึ่งจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง ช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน |
. |
รศ.พันธ์ณรงค์ จันทร์แสงศรี หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบไบโอดีเซลฯ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้ตอบโจทย์และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยคิดถึงการนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้วที่มีอยู่มากในพื้นที่ของตำบลท่าทอง และตำบลท่าโพธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวมหาวิทยาลัยนเรศวรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด |
. |
"จากการศึกษาพบว่าน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเหล่านี้จะมีผู้มารับซื้อและนำไปผ่านกระบวนการที่ทำให้ใสและไม่มีตะกอน แล้วนำกลับมาขายในราคาถูก พ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านไม่รู้และเห็นว่ามีราคาถูก ก็จะซื้อแล้วนำกลับมาใช้ทอดซ้ำ ซึ่งน้ำมันที่ใช้ซ้ำเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค |
. |
ดังนั้นถ้าเราตัดตอนนำน้ำมันพืชเหล่านี้มาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ส่วนหนึ่งจะช่วยชาวบ้านในเรื่องของสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งก็จะช่วยให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันผลิตไบโอดีเซลไปใช้กับเครื่องจักรกลทางการเกษตร และช่วยในเรื่องการลดรายจ่ายให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้นภายใต้สภาวะที่มีวิกฤติราคาน้ำมัน" อ.พันธ์ณรงค์กล่าว |
. |
"ไบโอดีเซล" คือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผ่านการผลิตมาจากน้ำมันพืช หรือไขมันสัตว์ผสมกับ เอทานอล (Ethanol) หรือ เมทานอล (Methanol) เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลและสามารถใช้ทดแทนได้ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซลนั้นมีหลากหลายชนิดที่นิยมคือ น้ำมันปาล์มน้ำมันพืชใช้แล้ว และน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ |
. |
โครงการนี้ได้ศึกษาพัฒนาออกแบบเครื่องผลิตไบโอดีเซล ที่มีขนาดกะทัดรัดสามารถนำไปใช้งานได้ในระดับชุมชนอย่างไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น และมีต้นทุนการผลิตต่อเครื่องประมาณ 45,000-50,000 บาท โดยขั้นตอนจะนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้ว 100 ลิตร มาผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "ทรานเอสเตอริฟิเคชัน" เพื่อให้ได้น้ำมัน "ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์" จำนวน 70 ลิตร ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซลมากที่สุด เหมาะที่จะนำไปใช้กับเครื่องจักกลทางการเกษตรขนาดเล็กแบบสูบเดียว |
. |
น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้จะมีต้นทุนประมาณ 21-22 บาทต่อลิตร ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 29-30 บาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเชื้อเพลิงไปได้ประมาณ 7-8 บาทต่อลิตร โดยต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับราคารับซื้อน้ำมันพืชเก่า ลิตรละ 6-7 บาท หากเกษตรกรสามารถรวมตัวกันนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้วในครัวเรือนมารวมกันผลิตก็จะช่วยลดต้นทุนไปได้มาก |
. |
ซึ่งโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลฯ นอกจากจะคิดค้นและพัฒนาวิธีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยง่ายแล้ว ยังได้ร่วมมือกับ "ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองพิษณุโลก" หรือ กศน. พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลขึ้นที่ "ตำบลท่าทอง" เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนอื่นๆ ของจังหวัด |
. |
นายประยุทธ หลักคำ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวถึงการเข้าร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ของโครงการนี้ว่า เพราะนักศึกษาของ กศน. ในพื้นที่ของอำเภอเมืองพิษณุโลกมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เมื่อ กศน.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการความรู้และถ่ายทอดสู่ประชาชนก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ |
. |
"เพราะไบโอดีเซลเป็นเรื่องของการแสวงหาพลังงานทดแทนมาใช้ ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่อะไรๆ ก็แพง ต้องประหยัด เราจึงเห็นความสำคัญและให้ความสนใจกับโครงการนี้ ซึ่งการแสวงหาความรู้ที่หลากหลายก็เป็นงานส่วนหนึ่งของ กศน.ในการจัดการความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพียงพื้นที่เดียวถือว่ายังไม่เพียงพอ |
. |
เพราะ องค์ความรู้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เราจึงไปให้ความรู้นี้กับเกษตรกร ให้เขารวมกลุ่มกันก็จะเกิดประโยชน์องค์รวมต่อตัวเขาเอง นอกจากนี้ยังจะขยายผลออกไปสู่โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักและเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ด้วย" ผอ.ประยุทธ กล่าว |
. |
โครงการนี้นอกจากช่วยให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง มีรายได้เพิ่ม พึ่งพาตนเองได้ เยาวชนในพื้นที่ก็จะเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและอันตรายจากน้ำมันพืชใช้ซ้ำซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยต่างๆ อีกด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยกันตัดวงจรการนำน้ำมันพืชใช้แล้วกลับมาบริโภค และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งลงสู่ธรรมชาติ ด้วยการนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันจะนำไปสู่การเป็นชุมชนสุขภาวะ |
. |
"โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลฯ สามารถตอบโจทย์ของวงจรแห่งปัญหาได้ใน 3 มิติ ทั้งมิติในด้านสังคมหรือชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพของประชาชน เพราะจะช่วยทำให้ชีวิตของประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในตำบลท่าทอง รวมถึงชีวิตของนิสิตนักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดพิษภัยต่อสุขภาพ" อ.พันธ์ณรงค์กล่าวสรุป |
. |