เนื้อหาวันที่ : 2009-08-24 11:03:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2239 views

อาเซียนพร้อมลุยลดภาษี CBU เหลือ 0% เชื่อไทยรับประโยชน์สูงสุด

จับตาทิศทางตลาดรถไทยปี 2553 หลังกลุ่มประเทศอาเซียนลดภาษีนำเข้ารถซีบียูตามกรอบอาฟตาเหลือ 0% เชื่อผลักดันไทยเข้มแข็ง เผยราคาขายปลีกลดลงเล็กน้อย เหตุสัดส่วนภาระภาษีไม่ต่างกันมาก

.

จับตาทิศทางตลาดรถไทยปี 2553 หลังกลุ่มประเทศอาเซียนลดภาษีนำเข้ารถซีบียูตามกรอบอาฟตาเหลือ 0% เชื่อผลักดันไทยเข้มแข็ง จากมีศักยภาพสูงสุดในภาคการผลิต เผยราคาขายปลีกลดลงเล็กน้อย เหตุสัดส่วนภาระภาษีไม่ต่างกันมาก

.

แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ เปิดเผยว่า ในปี 2553 กลุ่มสมาชิกอาเซียนพร้อมเดินหน้าลดภาษีนำเข้าสินค้าตามกรอบอาฟตาในสินค้า รถยนต์สำเร็จรูป (CBU) เหลือ 0% จากปัจจุบันที่จัดเก็บ 5% ซึ่งจะมีผลต่อภาระของผู้ผลิตที่น้อยลงไปด้วย

.

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเชื่อว่า การลดภาษีเหลือ 0% อาจจะมีผลต่อการปรับลดราคารถยนต์นำเข้าไม่มากนัก อาจจะอยู่ในระดับพันบาทเท่านั้น สำหรับรถยนต์ที่มีระดับราคา 5 แสนบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับความต้องการรถแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่แตกต่างมากนักในปัจจุบัน นอกจากนี้การเปรียบเทียบราคาจะไม่สามารถเห็นได้ชัดในกรณีที่เป็นรถรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดตัว เพราะว่าไม่มีราคาอ้างอิง

.

"ปัจจุบันภาระภาษีของรถยนต์ 1 คัน ระดับราคา 4.99 แสนบาท หากถอดรหัสออกมาแล้วจะพบว่า เป็นภาษีประมาณ 9.48 หมื่นบาท ภาระภาษีลดลงเพียงเล็กน้อยไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาด"

.

ปัจจุบันรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปที่ได้ใช้สิทธินำเข้าผ่านกรอบของอาฟตามาจำหน่ายในไทย เช่น มาสด้า 3, ฟอร์ด โฟกัส, เปอโยต์, โปรตอน, นาซ่า ,โตโยต้า อวันซ่า ,อินโนว่า, วอลโว่ และรถรุ่นใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวได้แก่ ฮอนด้า ฟรีด ในขณะที่ไทยส่งออกรถยนต์จำนวนมากไปยังประเทศสมาชิก โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพ และรถยนต์นั่งระดับบน 

.
เพิ่มขีดแข่งขันอุตฯยานยนต์อาเซียน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์เอเชียแปซิฟิก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟกเจอริ่ง จำกัด ระบุว่า การที่ภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้ายานยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียนลดลงเหลือ 0% จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้กับทุกประเทศในอาเซียนที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

.

หากมองจากการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปหรือ CBU จะได้ประโยชน์น้อยจากการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% เพราะในส่วนของประเทศไทยที่มีการผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก หรือโตโยต้านั้นเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว แต่จะได้ประโยชน์มากกว่าจากการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไม่สามารถผลิตได้ในไทยหรือย้ายฐานการผลิตไปแล้ว เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่มีมูลค่าสูงกว่า เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์หรือชุดเกียร์ เพราะสามารถส่งออกได้ง่ายขึ้น

.

การที่ฐานการผลิตรถยนต์และค่ายชิ้นส่วนรายใหญ่ต่างใช้ไทยเป็นโรงงานแม่ในการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีระดับสูง มีมูลค่ามาก ทำให้ประเทศไทย "คุ้ม" หรือได้ประโยชน์มากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างงานและเพิ่มโอกาสในการส่งรถออกไปขายในประเทศอาเซียนด้วยกัน ในสภาวะที่การส่งออกรถยนต์ไปทำตลาดหลักอย่างออสเตรเลีย ยุโรปและแอฟริกาได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจโลก

.

"การงดเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นภูมิคุ้มกันและช่วยให้ภาคธุรกิจทั้งหมดทยอยปรับตัว เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีโลกของดับเบิลยูทีโอ หรือแม้แต่เขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีและพหุภาคีที่รัฐบาลจะทำกับคู่ค้าอื่นๆ ในอนาคต"

.
เปอโยต์พร้อมปรับราคาลง

นายพลกฤษณ์ ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจ ออโตโมบิลส์ ผู้จำหน่ายรถยนต์เปอโยต์ เผยว่า รถยนต์เปอโยต์ ส่วนใหญ่ที่ทำตลาดเมืองไทยในขณะนี้ เป็นรถที่ประกอบในมาเลเซียและนำเข้ามาจำหน่ายผ่านทางช่องทางภาษีอาฟตา ในต้นปี 2553 ที่ภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้าอาฟตาจะลดลงมาเหลือ 0% จากปัจจุบัน 5% บริษัทก็มีนโยบายปรับราคาจำหน่ายรถยนต์ลงมาในสัดส่วนเดียวกับภาษีที่หายไป เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

.

นายพลกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายปีจะแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์หรือมอเตอร์ เอ็กซ์โปปลายปี พร้อมทั้งกิจกรรมการตลาดและแคมเปญส่งท้ายปี ต่อเนื่องไปในช่วงต้นปี 2553 จะมีการนำเข้ารถยนต์เปอโยต์เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้หลังจากที่ราคาน้ำมันนั้นกลับมาอยู่ในทิศทางขาขึ้น เป็นตัวเร่งให้บริษัทฯ ตัดสินใจทำตลาดเครื่องยนต์ดีเซล

.

"ในส่วนแผนการขึ้นไลน์ประกอบในเมืองไทยนั้นยังคงมีอยู่ หากตลาดเปอโยต์สามารถขยายได้ระดับ 500 คัน/ปี บริษัทฯ ก็พร้อมจะขายในแบบ CKD" นายพลกฤษณ์ กล่าว

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์