สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ชี้แม้กระทรวงการคลังเริ่มกู้เงินจากระบบสถาบันการเงิน ก็ยังไม่น่าจะมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะในระบบสภาพคล่องยังมีสูงจนแบงก์ชาติยังต้องดูดเงินออกอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยแม้เงินฝากจะแข่งขันสูงขึ้น แต่เงินกู้ก็ยังไม่ขยับ ฉะนั้นจึงไม่น่ากระทบกับอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ และหุ้นกู้เอกชนแต่อย่างใด |
. |
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง จะทำการระดมเงินเพื่อสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งทำให้มีเสียงสะท้อนในเชิงของความเป็นห่วงว่า อาจจะกระทบกับสภาพคล่อง และทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ว่า สถานการณ์ของสภาพคล่องในขณะนี้เชื่อว่ายังไม่น่าวิตกกังวลเท่าไรนัก |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กระทรวงการคลังวางแผนว่าจะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เป็นจำนวน 30,000 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินในปัจจุบัน ฉะนั้นเชื่อว่าผลกระทบยังไม่น่าที่จะมีในระยะนี้แน่ |
. |
"จำนวน 30,000 ล้านบาทนั้นน้อยมาก แค่ประมาณ 5% ของสภาพคล่องส่วนเกินของแบงค์ที่มีขณะนี้เท่านั้น ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะทุกวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการออกพันธบัตรมาเพื่อดูดซับสภาพคล่องอยู่ตลอดเวลา ณ สิ้นไตรมาสสองยังมีมูลค่าคงเหลืออยู่ถึง 1.4 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ถือโดยธนาคารพาณิชย์อยู่ถึง 6 แสนกว่าล้านบาทสะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องในระบบยังคงมีอยู่สูง จึงไม่มีอะไรที่น่าวิตกนัก" |
. |
นายณัฐพล กล่าวว่า ในแง่ของสภาพคล่องในระบบขณะนี้ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเชื่อว่ายังจะไม่ใช่ในช่วงนี้ คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก โดยมองว่า น่าจะเป็นในช่วงปี 2552 - 3 ซึ่งตอนนั้นกระทรวงการคลังคงจะต้องมีการกู้เงิน จำนาน 800,000 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติจากสภา โดยในอีกสองปีข้างหน้ากระทรวงการคลังคงจะต้องระบบเงินไม่น้อยกว่าปีละ 4 แสนล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในโครงการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นทำให้มีผลต่อเนื่องไปถึงสภาพคล่องในขณะนั้นด้วย แต่เชื่อว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบอะไรแน่ |
. |
สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ที่มีการมองว่าผลที่ตามมาจะทำให้ดอกเบี้ยขยับขึ้น และจบภาวะดอกเบี้ยขาลงนั้น กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า หากดูทิศทางดอกเบี้ยในขณะนี้ ที่มีการขยับขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะประเภทเงินฝากประจำที่มีอายุค่อนข้างยาว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังไม่มีการขยับขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นในระยะนี้ไปจนถึงปลายปีอัตราดอกเบี้ยยังไม่น่าที่จะผลักดันให้การกู้เงินหรือการระดมเงินของบริษัทธุรกิจเอกชนผ่านการออกหุ้นกู้ต้องปรับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด |
. |
นายณัฐพล กล่าวว่า ที่สำคัญเรื่องของดอกเบี้ยนั้น เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยตรง ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนความต้องการใช้เงินมีสูงกว่าปริมาณเงินในตลาด ดอกเบี้ยก็มีโอกาสขยับขึ้น แต่หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีทิศทางว่าจะดีขึ้น แต่เป็นการค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ฉะนั้นการปรับดอกเบี้ยก็น่าจะค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ดังนั้นเชื่อว่าผลกระทบกับตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนในระยะนี้จากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังมีไม่มาก |
. |
"มองว่ายังไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น กว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไประดับสูงๆนั้น มั่นใจว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยแน่ๆ เพราะดูอย่างวิกฤตน้ำมัน ก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้น หรือกรณีวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่เชื่อว่ายังคงต้องจำกันได้ ก็ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกระเตื้องขึ้นมาได้ และทิศทางดอกเบี้ยที่บอกว่าจะขึ้นๆมีการพยากรณ์จากกูรูหลายคนเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ขึ้นตามที่พยากรณ์ไว้ แต่มาวันนี้อัตราดอกเบี้ยก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องมาจากวิกฤต แม้ดอกเบี้ยจะไม่ลงไปมากกว่านี้แล้ว แต่การที่จะขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากๆน่าจะยังต้องใช้ เวลาอีกพอสมควรทีเดียว" นายณัฐพลกล่าวในที่สุด |