สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจี้หน่วยงานอนุญาตค้านมติคณะกรรมการ กรอ. ที่ตีความความเห็นกฤษฎีกาผิดพลาด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขู่ไล่ฟ้องศาลปกครองถึงศาลอาญา หากยังดื้อ
. |
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจี้หน่วยงานอนุญาตค้านมติคณะกรรมการ กรอ. ที่ตีความความเห็นกฤษฎีกาที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากหน่วยงานอนุญาตยังดื้อจำต้องไล่ฟ้องศาลปกครองถึงศาลอาญา |
. |
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) มีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งออกใบอนุญาตขยายกิจการหรือตั้งโรงงานสำหรับโครงการลงทุนที่ผ่านศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ในพื้นที่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยตีความตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองให้ครบถ้วนก็ได้นั้น |
. |
นายศรีสุวรรณระบุว่า ในฐานะที่สมาคมฯนำปัญหาดังกล่าวไปฟ้องร้อง 8 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลางก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อต้องการให้ปัญหาทั้งหมดได้ข้อยุติในกระบวนการชั้นศาล ซึ่งขณะนี้ศาลกำลังพิจารณาคำขอเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวอยู่ และคาดว่าอีกไม่นานศาลปกครองคงมีคำสั่งออกมาว่าจะให้ตามที่สมาคมฯขอไปหรือไม่ แต่ทว่าก็ยังมีความพยายามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. |
. |
ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ในฐานะกรรมการ กรอ.ด้วยพยายามกดดันรัฐบาลและหน่วยงานอนุญาตต่าง ๆ ให้เร่งรีบอนุมัติ/อนุญาตโครงการลงทุนต่าง ๆ ให้โดยเร็วโดยอ้างความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่อยู่เหนือปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง |
. |
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญคือ 3 หน่วยงานหลักของรัฐ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะหน่วยงานอนุญาตได้มีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ขณะนี้ยังไม่มีองค์การอิสระตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ หน่วยงานอนุญาตต่าง ๆจะให้ใบอนุญาตโครงการที่จัดทำรายงาน EIA แล้วได้หรือไม่ ขณะที่ยังไม่มีประกาศโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมออกมา |
. |
ต่อข้อสอบถามดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นออกมาชัดเจน ประการที่หนึ่ง คือ "โดยหลักการของการตรากฎหมายต้องถือว่า เมื่อได้มีประกาศกฎหมายฉบับใดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผลใช้บังคับของกฎหมายฉบับนั้นย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่กำหนดในกฎหมายฉบับนั้น" ประการที่สอง หน่วยงานอนุญาตสามารถใช้ดุลยพินิจประกาศให้รู้ทั่วไปว่า โครงการหรือกิจกรรมใดบ้างที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง แต่ต้องเข้าใจว่า การประกาศเช่นว่านั้น ไม่มีผลเป็นเด็ดขาด ผู้เกี่ยวข้องยังสามารถโต้แย้งได้ |
. |
และประการที่สาม รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดในการส่งเสริมและคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของชุมชน โดยเฉพาะการให้ความเห็นขององค์การอิสระ แต่ในขณะที่ยังไม่ได้จัดตั้งองค์การอิสระ หน่วยงานอนุญาตสามารถพิจารณาออกใบอนุญาตโครงการต่าง ๆ ได้ หากโครงการหรือกิจกรรมนั้นได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ของประชาชนในชุมชน และได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เสียก่อน ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน |
. |
"การที่รัฐบาลโดย กรอ. และหน่วยงานอนุญาตออกมาให้ความเห็นที่คลาดเคลื่อนบิดพลิ้วไปจากข้อเท็จจริงว่า กฤษฎีกาให้ความเห็นว่าสามารถให้ใบอนุญาตโครงการต่าง ๆ ได้แล้วนั้น ขอเตือนให้ชัด ๆ ว่าขอให้กลับไปพิจารณาความเห็นของกฤษฎีกาให้ถ่องแท้เสียก่อน และต้องพิจารณาดูว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการโครงการหรือกิจกรรมนั้น ๆ ได้จัดทำ EIA, HIA ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และได้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (Public hearing) แล้วหรือไม่ และกฎหมายปัจจุบัน คือ กฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 กำหนดให้มีกรอบการศึกษา HIA ไว้อย่างไร และกำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไว้ที่บทบัญญัติใด |
. |
และหากหน่วยงานอนุญาตต่าง ๆ ยังคงดื้อแพ่งเซนต์ให้ใบอนุญาตออกมาจนได้ โดยที่ไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้ครบถ้วนเสียก่อนแล้ว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชุมชนผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศจะเดินสายฟ้องร้องต่อศาลปกครองทั่วประเทศ รวมทั้งการฟ้องศาลอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นรายบุคคล สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวแน่นอน ไม่เชื่อลองกันดู" นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |