นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวสินเชื่อในปีนี้คาดว่าจะติดลบ จากเดิมในปีที่ผ่านมาขยายตัว 11.4% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีหลังเกิดวิกฤติในปี 40 เป็นผลมาจากวิกฤติการเงินโลกทำให้ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกังวลในเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในระบบเพิ่มขึ้น |
. |
ส่วนความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการลดลง เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อตั้งแต่เดือน ธ.ค. 51 จนถึง 30 มิ.ย. 52 ลดลง 3.4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 220,000 ล้านบาท และถ้าพิจารณาตัวเลขสินเชื่อเป็นรายเดือนพบว่าในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ลดลง 0.8% เม.ย. 0.1% พ.ค. 0.4% และ มิ.ย. 0.3% |
. |
ทั้งนี้คาดว่าหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทำให้การแข่งขันการปล่อยสินเชื่อมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและยานยนต์ ส่วนสินเชื่อธุรกิจจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากบางภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามาบ้างทำให้ผู้ประกอบการเริ่มสะสมสต๊อกสินค้า สำหรับสินเชื่อเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะการขยายก่อสร้างโครงการต่าง ๆ นั้นยังไม่ดีขึ้นทำให้ผู้ประกอบการหันมาชำระคืนภาระหนี้มากกว่า และยืนยันว่ากฎระเบียบของ ธปท. ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปล่อยสินเชื่อยกเว้นเรื่องธรรมาภิบาลห้ามธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับผู้บริหารธนาคาร |
. |
"ธปท. พยายามประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งยอมรับว่าในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก แต่ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ ได้พยายามที่จะประนอมหนี้กันมากขึ้น สำหรับการเมืองที่มีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 2 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าการเมืองไม่มีเสถียรภาพความเชื่อมั่นลดลง จะกระทบต่อสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด" |
. |
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ |