เมื่อชาวบ้าน เกษตรกรที่ยากจน ตกเป็นจำเลยที่ทำให้โลกร้อน อากาศร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง ดินและแร่ธาตุสูญหาย และถูกเรียกค่าเสียหายมหาศาลเกินกำลังที่จะชดเชยได้ การคิดค่าเสียหายจากการทำให้โลกร้อน คิดจากอะไร อย่างไร และการไล่บี้เอาผิดกับชาวบ้านถูกต้องหรือไม่ ใครควรรับผิดชอบ?
. |
เมื่อวันที่ 14 ส.ค.52 คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดสัมมนาเรื่อง "การคิดค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน" โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสมาชิกเครือข่ายเทือกเขาบรรทัดในฐานะเป็นผู้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านโลกร้อนเข้าแสดงความคิดเห็น |
. |
สืบเนื่องจากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน จ.ตรัง จ.พัทลุง และจ.กระบี่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ฐานบุกรุกทำลายป่า โดยคิดค่าเสียหายในการทำให้โลกร้อน อากาศร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง ดินและแร่ธาตุสูญหายเป็นต้น |
. |
การคิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ |
. |
ทั้งนี้ ล่าสุดศาลแพ่งได้พิพากษาให้ชาวบ้านใน จ.ตรังและพัทลุง 15 ราย จ่ายค่าเสียหายให้แก่รัฐแล้ว โดยที่ศาลตัดสินคดีแล้ว 7 ราย เรียกค่าเสียหายรวม 20.306 ล้านบาท ที่อยู่ในระหว่างกำลังดำเนินคดี 4 ราย เรียกค่าเสียหาย 1.332 ล้านบาท และที่ดำเนินคดีซ้ำรายเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน 2 ราย เรียกค่าเสียหาย 4.213 ล้านบาท |
. |
"นักวิชาการ อส." ชี้ เรียกค่าเสียหายตามกฎหมายระบุ |
ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ อส. กล่าวถึงความเป็นมาในการคิดค่าเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าว่า ตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้ผู้ที่กระทำหรือละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติต้องถูกลงโทษ |
. |
ทำให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ต้องทำการประเมินมูลค่าของป่า โดยมีการพัฒนารูปแบบการคิดคำนวณมาตั้งแต่ปี 2531 และตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา กรมป่าไม้มีหนังสือสั่งการให้ดำเนินคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารโดยคิดมูลค่าจากเนื้อไม้ประเภทต่างๆ |
. |
ต่อมาได้เพิ่มการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพขอระบบนิเวศน์ จนถึงปัจจุบันได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ มีการทดลองกับป่าลุ่มน้ำ 5 ชนิด คือ ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจรงค์ ป่าดิบเขา สวนสัก และสวนสน หลังจากนั้นจะจัดทำเป็นโปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อใช้ประโยชน์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมของการทำลายป่าต้นน้ำที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเพื่อสร้างความเป็นธรรม ซึ่งคิดว่าโปรแกรมนี้จะออกเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ |
. |
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 97 |
"กำหนดให้ผู้ใดที่กระทำ หรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐจากมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปแล้ว" |
. |
แจกแจงการคิดค่าเสียหาย โลกร้อน ดิน-น้ำสูญหาย |
ในส่วนการประเมินผลกระทบออกมาเป็นตัวเงิน ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการวิเคราะห์ซึ่งมีวิธีการอยู่หลายวิธี แต่เลือกใช้วิธี "Replacement cost" โดยใช้แนวทางสำรวจค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปแล้วนำมาคิดค่าชดเชย ซึ่งนิยมใช้เป็นค่าปรับหรือบทลงโทษ แยกเป็นมูลค่าทางตรงและมูลค่าทางอ้อม ในส่วนมูลค่าทางตรง คือ ผลผลิตในรูปของเนื้อไม้ ในส่วนนี้มีข้อมูลกรมป่าไม้ คำนวณโดยนำผลผลิตแต่ละปีของป่าแต่ละชนิดมาคูณกับราคาไม้ซึ่งเป็นค่าราคากลาง |
. |
ส่วนมูลค่าทางอ้อม เช่น ดิน คิดมูลค่าสูญหายจากการรวบรวมดินจากตะกอนมาคำนวณค่าใช้จ่ายในการนำดินที่สูญเสียออกไปกลับขึ้นไปปูทับไว้ที่เดิม มูลค่าน้ำสูญหาย คำนวณจากการแปลงค่าความสูงของน้ำจาก 3 ส่วน คือ น้ำที่ดินไม่ดูดซับ น้ำจากการคายระเหย และฝนตกลดลง คิดเป็นปริมาตรน้ำทั้งหมดต่อพื้นที่ 1 ไร่ แล้วคิดเป็นค่าจ้างเหมารถบรรทุกเอาน้ำไปฉีดพรมในพื้นที่เดิม เช่นเดียวกันกับปุ๋ย ก็จะมีการเอาความเข้มข้นของธาตุอาหารชนิดต่างๆ ในดินพื้นที่ 1 ไร่ เทียบระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่โล่งแจ้ง หาความแตกต่างมาเทียบเป็นแม่ปุ๋ยแต่ละชนิด แล้วคิดเป็นจำนวนเงินโดยการคูณด้วยราคาปุ๋ย |
. |
สำหรับในกรณีโลกร้อน ความจริงไม่ยากให้คิดว่าโลกร้อน เพราะที่ศึกษาทำเพียงแค่ในระดับเรือนยอดของต้นไม้ เป็น Micro climate ซึ่งความจริงอากาศมี 3 ระดับคือ ระดับ Micro climate ระดับใกล้ผิวดิน เรือนยอดต้นไม้ ระดับ Local climate ระดับท้องถิ่น ที่มีลมภูเขา ลมทะเล ลมบก และสุดท้ายระดับ regional climate คือลมมรสุม แต่เชื่อได้ว่าจะมีกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อกับ ในส่วนวิธีการเริ่มต้นโดยการคิดปริมาตรของอากาศในพื้นที่ที่เสียหายเอามาคูณด้วยความหนาแน่น (1.153x10-3 ตันต่อลูกบาศก์เมตร) เพื่อหามวลของอากาศ แล้วใช้มวลหาปริมาณความร้อนที่ต้องปรับลด |
. |
หลังจากนั้นเอาจำนวน B.Th.U.ของเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน (3,024,000 แคลอรี่ต่อชั่วโมง) มาหารเพื่อจะได้รู้ว่าต้องใช้เครื่องปรับอากาศเท่าไหร่ แล้วคิดค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิของอากาศเย็นลงเท่ากับในพื้นที่ที่มีป่าปกคลุม |
. |
"การคิดค่าเสียหาย เราเอามาจากงานวิจัยนะครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีข้อมูลเป็นฐาน เราเอามาจากการวิจัย" นักวิชาการ กรมอุทยานฯ กล่าว |
. |
ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อมาถึงผลของการใช่วิธีประเมินผลกระทบออกมาเป็นตัวเงินนี้ว่า ในตอนแรกถูกโจมตีว่าพื้นที่ที่ใช่ในการคำนวณไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ และมีปัญหาการคิดค่าเสียหายในพื้นที่ป่าที่ไม่ใช่ป่าสมบูรณ์มาก่อน ซึ่งก็มีการหาทางแก้ไขโดยในพื้นที่ป่าไม่สมบูรณ์มีการใช้ วิธีการ SCS หาอัตราลด และมีการสร้างแบบจำลองขึ้นมาใช้เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ |
. |
ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่าแบบจำลองดังกล่าวมีการนำไปทดลองเก็บค่าตัวอย่าง โดยได้รวบรวมข้อมูลทำวิจัยในพื้นที่ต่างๆ มาตั้งแต่เมื่อปี 2540 หลังจากนั้นได้พัฒนาเรื่อยมา มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลภายนอกทั้ง สผ.บริษัทที่ปรึกษา สถาบันการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องอีไอเอทั้งหมด จนได้ผ่านการพิจารณาของผู้บริหาร กระทั้งมีการประกาศจริงใช้จริงเมื่อปี 2547 ดังนั้นการประเมินผลกระทบก่อนหน้านั้นจะใช้อัตรา 150,000 ต่อไร่ต่อปี ส่วนหลังปี 2547 จะใช้แบบจำลองซึ่งต้องเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งการจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล |
. |
ชาวบ้านผู้โดนคดีร้องเป็นแค่เกษตรกรยากจน ไม่ใช่คนทำโลกร้อน |
นางกำจาย ชัยทอง ผู้ถูกศาลตัดสินข้อหากรณีบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จำนวน 8-2-85 ไร่ ให้จ่ายค่าเสียหายรวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี กว่า 1.67 ล้านบาท กล่าวถึงการที่กรมอุทยานฯได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส.0903.4/14374 ถึงสำนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง ระบุแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าเสียหายพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารถึงค่าเสียหายทำให้โลกร้อนว่า ไม่ยอมรับเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำให้โลกร้อน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากปู่ย่ามาหลายชั่วอายุคน ใช้เพื่อการเพาะปลูกมากกกว่า 200 ปี แล้ว ส่วนตัวรู้แล้วว่าการทำลายป่ามีผลกระทบอย่างไร แต่ตนเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า |
. |
นางกำจายกล่าวด้วยว่าหากพื้นที่ที่ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นพื้นที่ป่าคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์สวนยาง อีกทั้งในวิถีเกษตรของการทำสวนยาง เมื่อต้นยางแก่ ต้องตัดเพื่อปลูกใหม่ แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำลายป่า ทำให้โลกร้อน ต้องมาจ่ายเงินล้านเพราะตัดต้นยางในพื้นที่ของตัวเอง จะเอาที่ไหนมาจ่าย ลำพังแค่เงินหมื่นยังไม่เคยได้จับ การคิดค่าเสียหายเช่นนี้ไม่เป็นธรรมกับตนเองและพี่น้องในเครือข่ายเทือกเขาบรรทัดที่ต้องถูกคดี คนละหลายล้าน ที่ผ่านมาทุกคนต่างมีความคิดอยากจะฆ่าตัวตายวันละหลายรอบ แต่เพราะเป็นห่วงลูกหลานเลยไม่ทำ |
. |
"ฉันเจ็บ เจ็บเหลือเกิน เจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า พี่ชายฉันไปเป็นตำรวจ 3 จังหวัดชายแดน ต้องตายเพื่อรักษาประเทศ แต่ฉันกลับถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ที่เป็นที่ดินของปู่ย่าตายาย เป็นมรดกความทรงจำในการอยู่ร่วมกันของครอบครัว แต่อุทยานฯ ก็มายึดเอาไป" นางกำจายกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ |
. |
นักวิชาการรุมจี้ปัญหาโลกร้อน ไม่ควรบี้เอาผิดกับชาวบ้าน ย้ำห่วงกระทบการเจรจาระหว่างประเทศ |
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์วิจัยการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารู้สึกดีที่ทางกรมอุทยานฯ กำลังเปลี่ยนการคิดค่าเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าต้นน้ำจากระบบที่มีอัตราตายตัวมาใช้แบบจำลองที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่แบบจำลองที่ใช้ยังเป็นการคิดแบบมุมเดียว อาจต้องมีการทำเป็นขั้นตอนต่อไป โดยงานวิจัยและการเก็บข้อมูลที่จะนำมาใช้เพื่อการปรับปรุงแบบจำลองตรงนี้ควรเร่งทำ เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นหลังมีการเอาไปใช้ |
. |
นอกจากนี้ยังมีต้องคำนึงถึงว่าในวงวิชาการเกี่ยวกับ Climate science ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกับอยู่มาก แม้แต่ในประเทศไทยก็ยังมีกลุ่มที่เชื่อว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเพียงวงรอบของการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และกลุ่มที่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมาจากโลกร้อนทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวคิดว่าความจริงคงไม่ได้สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง |
. |
อย่างไรก็ตามการหาคำตอบที่อยู่ตรงกลางๆ คงไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นการเลือกหยิบแค่งานศึกษา วิจัยบางชิ้นมาใช้ถือเป็นความเสียง ยิ่งเมื่อการศึกษามีน้อยก็ยิ่งอันตราย แม้ว่าจะมีการหารือรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่อาจเร็วเกินไปสำหรับนำเอามาใช้ หรือในการนำเสนอหรือนำไปใช้ในชั้นศาลอาจต้องให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินให้มากขึ้นด้วย |
. |
ทั้งนี้ ความเสียหายจากกิจกรรมต่างๆ ที่คิดกันว่าก่อให้เกิดโลกร้อนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยหรืองานวิชาการของประเทศใดในโลกรับรองกันว่าเป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์หรือทฤษฎีใดๆ ที่ได้รับการยอมรับ และสามารถนำมาอ้างอิงอย่างเป็นทางการได้ |
. |
ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เล่าว่า ในส่วนประสบการที่ผ่านมากว่า 10 ปี เคยทำโครงการประเมินค่าของป่าไม้เช่นเดียวกัน โดยการประเมินค่าของป่าอุทยานแม่ยมแต่ไม่ได้ประเมินเพื่อดูเรื่องค่าเสียหาย โดยไปดูเพื่อเทียบความคุ้มในการสร้างเขื่อนแล้วทำลายป่าในบริเวณดังกล่าว |
. |
และมีการคิดประเมินค่าป่าในฐานะที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนด้วย ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามูลค่าป่าที่จะสูญเสียไปเมื่อมีการสร้างเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท ในขณะที่เขื่อนเมื่อนับอายุการใช้งานประมาณ 50 ปี มีมูลค่า 2,000 ล้าน ซึ่งการรักษาป่าเอาไว้จะคุ้มมากกว่า แล้วเอาตัวเลขดังกล่าวนำเสนอต่อรัฐบาล |
. |
ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูล ในเรื่องการคิดต้นทุนความเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนยังไม่เคยเห็นการนำมาใช้โดยตรงเช่นที่กรมอุทยานฯ นำมาคิด ที่เห็นมักเป็นการคิดในภาพกกว้าง อย่างรายงานของ STERN ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งมีการคิดคำนวณอย่างเป็นรูปธรรมถึงมูลค่าความเสียหายของการเกิดภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่ใช่เพื่อการนำมาคิดเป็นค่าเสียหายโดยตรง |
. |
แต่เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าหากความเสียหายเกิดขึ้น ก็จะเกิดเป็นต้นทุนขึ้นมา ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์คิดว่าตัวปัญหาหรือสาเหตุของความเสียหายไม่จำเป็นต้องลดให้เหลือศูนย์ แต่มีจุดที่เหมาะสมของการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะนั้นๆ มันคุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับ |
. |
ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์กล่าวแสดงความเห็นต่อการคิดค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยว่า ไม่อยากให้ กรมอุทยานฯ นำแบบจำลองเรื่องโลกร้อนนี้ไปใช้ เพราะจะสร้างความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะกลุ่มชาวนา ชาวไร่ ที่ไม่ได้สร้างมลภาวะมากมาย ขณะเดียวกันแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้พื้นที่ของชั้นบรรยากาศโลกไปมากตั้งแต่ในอดีต และมีพันธกรณีลดก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่นำค่าความเสียหายดังกล่าวไปใช้ปรับชาวบ้าน |
. |
ในขณะที่ในระดับโลกประเทศไทยก็ไม่ได้มีพันธะใดๆ ที่จะต้องก๊าซเรือนกระจกและพยายามต่อสู่ที่จะไม่มีต่อไปด้วย ดังนั้นเรื่องนี้อาจจะส่งสัญญาณที่ผิดในเวทีโลก ทำให้ประเทศไทยถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่ก่อปัญหาน้อยมาก หรือยังไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหาเลย |
. |
ส่วนนายบัญฑูรย์ เศรษฐศิโรฒม์ โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวให้การสนับสนุนว่า ในขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ราว 0.8 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ดังนั้นการโยงมาหาคนที่ปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกในระดับน้อยมากอย่างนี้จึงเกิดเป็นคำถาม |
. |
เพราะปัญหาป่าไม้ที่ดินมีการสะสมเรื้อรังมานาน มีทั้งกรณีที่ชาวบ้านบุกรุกป่า และกฎหมายบุกรุกคน วันนี้จึงเป็นปัญหาเรื่องใครอยู่ก่อนอยู่หลัง ซึ่งในขณะที่เกิดความยุงยากอย่างนี้ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยที่จะเอาความยุ่งยากจากเรื่องโลกร้อนมาทำให้ชาวบ้านลำบากหนักไปกว่าเดิม |
. |
ในส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ควรจะทำ อย่างกรณีการปล่อยก๊าซมลพิษทั้งหลายที่มาบตาพุด มีการสั่งการมาแล้ว 11 ปี โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมาเลย |
. |
นอกจากนี้ นายบัญฑูรย์กล่าวถึงมุมมองความเสียหายเรื่องโลกร้อนในการเจราจาระดับโลกว่า ในระดับโลกมีจุดยืนที่เป็นทิศทางหลักว่าปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งความเสียหายนี้มาจากประเทศอุตสาหกรรม ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นก็ต้องกลับไปเรียกร้องที่คนตรงนั้นไม่ใช่เก็บจากประเทศกำลังพัฒนา หรือให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้นจากปัญหาโลกร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้เราเป็นผู้รับผลกระทบ |
. |
"เรายืนยันมาตลอดว่าผู้รับผิดชอบปัญหาก๊าซเรือนกระจก ตามหลักที่บอกความรับผิดชอบในอดีต ที่เรียกว่าHistorical responsibility เรายืนยันมาตลอดว่าผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาในวันนี้คือประเทศอุตสาหกรรม อย่าให้เขารู้นะครับว่าวันนี้ประเทศเราคิดปรับ จุดยืนในการเจรจาเราจะเปลี่ยนไป เท่ากับว่าประเทศไทยเริ่มรับภาระเอามาคิดปรับกับคนในประเทศของเราเอง หลักในการเจรจาระหว่างประเทศจะเสียเลยนะครับ" นายบัญฑูรย์กล่าว |
. |
นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวถึงการคิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากสูญเสียพื้นที่ป่าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การคิดค่าเสียหายเรื่องการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นซึ่งการคิดค่าเสียหายในลักษณะนี้ของหน่วยงานรัฐแล้วส่งไปเป็นแนวทางการตัดสินคดีให้กับทางศาล โดยที่สังคมยังไม่ได้รับรู้อะไร ทำให้เกิดความห่วงใยว่าอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม |
. |
เพราะเกิดการตั้งคำถามถึงที่มาของการคิดคำนวณ อย่างกรณีเกษตรกรที่ถูกดำเนินคดีมีการตั้งคำถามว่าแล้วโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมีการคิดคำนวณค่าเสียหายตรงนี้หรือไม่อย่างไร |
. |
ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาจะมีการสรุปเป็นข้อเสนอแนะส่งให้รัฐบาลเพื่อยับยังปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งจะทำให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้นว่าต่อไปนี้หากมีผู้ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเราจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวไม่เป็นด้วยกับการคิดค่าเสียหายจากป่า เพราะมีตัวอย่างให้เห็นการพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมแต่มันอาจไม่ยุติธรรมก็ได้ |
.. |
การออกกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพยากรโดยบอกว่าต้องลงโทษให้หนักเพื่อให้เข็ดหลาบ ในสภาพความเป็นจริงของสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การลงโทษอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาให้เจอมากกว่า |
. |
นอกจากนี้ด้วยช่องว่าระหว่างคนจนและคนรวยที่ห่างกันมากประมาณ 14 เท่า ท้ายที่สุดคนจนจะไม่สามารถเสียค่าปรับได้ และอาจต้องติดคุก ในขณะที่คนรวยเสียได้อย่างเต็มที่ และเข้าอาจได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้วยการเช่า ทั้งนี้การคิดคำนวณค่าเสียหายควรดูที่ความสมเหตุสมผล และสามารถอธิบายต่อสังคมได้ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |