ไทยพร้อมสานต่อการร่วมลงทุนกิจการพลังงานในพม่า โดยผลักดันบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ลงทุนขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม และสานต่อการสร้างโรงไฟฟ้าฮัดจ์ยี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีข้อตกลงเบื้องต้นกับพม่า โดยจะร่วมลงทุนกับจีน
ไทยพร้อมสานต่อการร่วมลงทุนกิจการพลังงานในพม่า โดยผลักดันบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ลงทุนขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม และสานต่อการสร้างโรงไฟฟ้าฮัดจ์ยี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีข้อตกลงเบื้องต้นกับพม่า โดยจะร่วมลงทุนกับจีน สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ คาดหากเริ่มโครงการได้จะเป็นประโยชน์ด้านไฟฟ้าของทั้ง 2 ประเทศ |
.. |
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการเดินทางไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (23 พ.ย.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะร่วมเดินทางไปด้วย โดยจะไปหารือเพื่อสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานที่มีระหว่างกันทั้งเรื่องไฟฟ้าและการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งในเรื่องปิโตรเลียม บมจ.ปตท.สผ.พร้อมเข้าไปลงทุนในแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ของพม่า เพิ่มเติมจากแหล่งปัจจุบันที่ได้เข้าไปลงทุนหลายแหล่ง ได้แก่ เอ็ม 3, เอ็ม 4, เอ็ม 7, เอ็ม 9 แหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน |
. |
ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้า นายปิยสวัสดิ์ จะไปหารือถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัดจ์ยี ในพม่า ที่ กฟผ.ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นกับพม่าที่จะร่วมกับผู้ลงทุนจากจีน สร้างเขื่อนที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ อยู่ริมชายแดนไทยและพม่า ช่วงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งหากพม่ายืนยันการลงทุน กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าเจรจารายละเอียดการลงทุนเพิ่มเติมคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ปี จึงจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศที่จะได้กระแสไฟฟ้าเสริมสร้างความมั่นคงและยังได้ค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำ เพราะไฟฟ้าพลังน้ำนับเป็นต้นผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ |
. |
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยและพม่าได้หารือร่วมกันเพื่อจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งนอกจากจะมีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้กับ 2 ประเทศแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศต่าง ๆ ในโครงการอาเซียนกริดอีกด้วย โดยจากการศึกษาเบื้องต้นสามารถสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 10,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เขื่อนฮัดจ์ยี ประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ เขื่อนตะนาวศรี 600 เมกะวัตต์ เขื่อนท่าซาง (ในรัฐฉาน) 5,000 เมกะวัตต์ เขื่อนสาละวินตอนบนและตอนล่างกำลังผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์. |