เนื้อหาวันที่ : 2009-08-18 09:39:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1120 views

วว. จับมือประเทศญี่ปุ่น วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จับมือกับบริษัท Kansai Corporation ประเทศญี่ปุ่น วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน ผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ค่าความร้อนสูงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

.

วันที่ 17 ส.ค. 2552  ดร.สุจินดา  โชติพานิช   ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นเกียรติ ในพิธีลงนามความร่วมมือ "โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน/ไพโรไลซีส   สำหรับผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีค่าความร้อนสูงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล" ระหว่าง  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  และ บริษัท  Kansai   Corporation   ประเทศญี่ปุ่น  ณ ห้องประชุม  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    ชั้น 4  อาคารพระจอมเกล้า

.

ดร.สุจินดา  โชติพานิช   ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวชี้แจงว่า  ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวน ล้วนมีสาเหตุหลักจากการใช้พลังงาน และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในทุกส่วนของโลก ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรต่างๆอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านพลังงานที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

"..ความร่วมมือของ วว. และบริษัท Kansai   Corporation   ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงาน NEDO ของญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผลิตและใช้ประโยชน์ก๊าซเชื้อสังเคราะห์ ที่ผลิตจากชีวมวลโดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน/ไพโรไลซีสเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นที่ทราบกันในปัจจุบันว่าเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกและภาวะภูมิอากาศแปรปรวน โครงการความร่วมมือนี้ย่อมเป็นผลดีต่อการอนุรักษำพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป" ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าว

.

นายสุรพล  วัฒนวงศ์   รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม รักษาการในตำแน่งผู้ว่าการ วว.    กล่าวชี้แจงว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน/ไพโรไลซีส สำหรับผลิตก๊าซ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีค่าความร้อนสูงเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ระหว่าง วว. กับบริษัท Kansai  Corporstion  ประเทศญี่ปุ่นนั้น  เป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Green Partnership Plan : GPP) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอาศัยประสบการณ์และศักยภาพการพัฒนาด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ 

.

"การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาระหว่าง วว. และ Kansai Corporation  ภายใต้กรอบความร่วมมือ GPP  เป็นความร่วมมือที่มีติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดทำให้นักวิจัย วว. สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของปฏิกรณ์แก็สซิฟิเคชันซึ่งออกแบบและสร้างโดย วว. มีประสิทธิภาพเพิ่มจาก 45%  เป็น  65% สามารถผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชันที่นำเข้าจากต่างประเทศ"  นายสุรพล   วัฒนวงศ์   กล่าว

.

การดำเนินงานของ GPP จะยึดแนวทางการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม  โดยจะมุ่งเน้น การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร    ความร่วมมือเพื่อการวิจัยและสำรวจ การสอบทาน และ ถ่ายทอดเทคโนโลยี   GPP จะให้การสนับสนุนเฉพาะเรื่องและ/หรือ โครงการที่เป็นความต้องการ ของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น โดยหน่วยงานที่ต้องการรับการสนับสนุนจะต้องจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาโครงการ

.

ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ ผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ  ผู้แทนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน  ผู้แทนจาก วว. ผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ   ผู้แทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  ผู้แทนจากศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย    และผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม  

.

ข้อเสนอโครงการที่ผ่านการคัดสรร จะนำเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และ/หรือ การสนับสนุนด้านอื่นๆ จากหน่วยงานของญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วย Japan External Trade Organization (JETRO) The Association for Overseas Technical Scholarship (AOTS)   Japan Overseas Development Corporation (JODC)   และ New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO)

.

นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านงบประมาณแล้ว ยังมีการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสนับสนุนด้านเครื่องมือ และ/หรืออุปกรณ์  การส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยแก้ปัญหา และ/หรือเพิ่มขีดความสามารถ  การจัดหลักสูตรอบรมวิชาการเฉพาะด้านให้แก่บุคลากร  เป็นต้น

.

อนึ่ง  แก็สซิฟิเคชัน  คือ กระบวนการแปรรูปชีวมวล       (หรือวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ถ่านหิน) เป็นก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ในปฏิกรณ์ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 600 - 1,200 องศาเซลเซียส โดยจำกัดปริมาณออกซิเจนให้เหลือเพียง 1 ใน  3  ของปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการเผาไหม้ปกติ

.

ไพโรไลซีส คือ กระบวนการแปรรูปชีวมวล (หรือวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น พลาสติก) เป็นถ่าน และ/หรือ Bio-oil และ ก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (ปริมาณน้อย) ในปฏิกรณ์ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 300 - 500 องศาเซลเซียส โดยไม่มีออกซิเจน (ในทางปฏิบัติมีออกซิเจนในปริมาณน้อย)

.
.