เนื้อหาวันที่ : 2009-08-18 09:26:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 531 views

อียูออกมาตรการเสริมคุมเข้มการตรวจสอบสินค้าผักสดนำเข้า

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า อียูได้ออกระเบียบคณะกรรมาธิการยุโรปที่ 669/2009 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 กำหนดให้ประเทศสมาชิกเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์และอาหารที่มิได้มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงในการมีสารตกค้างและยาฆ่าแมลง คือ อาร์เจนตินา บราซิล จีน กาน่า อินเดีย ไนจีเรีย อุซเบกีสถาน เวียดนาม ปากีสถาน โดมินิกันรีพับบลิค ตุรกี รวมทั้งไทยด้วย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นไป       

.

สืบเนื่องจากอียูได้ตรวจพบสารฆ่าแมลงตกค้างในสินค้าผักผลไม้ และได้มีการแจ้งเตือนประเทศสมาชิกผ่านระบบเตือนภัยเร่งด่วนสำหรับอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) รวมทั้ง จากผลการประเมินของคณะตรวจสอบของอียูที่เดินทางมาตรวจประเมินการควบคุมยาฆ่าแมลงตกค้างในประเทศผู้ส่งออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยระเบียบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผักสดของไทย ดังนี้

.

1. ผักสดจากไทย 3 ชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว (พิกัดฯ 07082000) ผักในตระกูลมะเขือ (พิกัดฯ 07093000) และผักในตระกูลกะหล่ำ (พิกัดฯ 0704) จะถูกตรวจเข้มทันที 50% ของปริมาณการนำเข้า ณ ด่านนำเข้า (จากปกติตรวจที่ระดับ 10%) 

.

2. สินค้าจะถูกกัก ณ ด่านนำเข้าจนกว่าจะทราบผลการตรวจสารตกค้างและยาฆ่าแมลงจากห้องปฏิบัติการ โดยใช้เวลา 2 วันในการตรวจสอบเอกสาร จากนั้นสินค้าจึงจะถูกส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการ สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบผู้นำเข้าจะเป็นผู้รับผิดชอบ

.

3. ต้องใช้แบบฟอร์มการนำเข้าที่เป็นภาษาของประเทศสมาชิกผู้นำเข้า อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกสามารถอนุโลมให้ใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาราชการของตนได้

.

4. ภายหลังจากที่กฎระเบียบดังกล่าวประกาศใช้ ด่านนำเข้าทุกด่านในอียูมีเวลา 5 ปี ในการปรับ ความพร้อมของเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อรองรับระเบียบดังกล่าว ซึ่งในระหว่างนั้นต้องส่งตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าที่ใกล้ที่สุดที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีพร้อมในการตรวจสอบ

.

5. คณะทำงานของอียูจะมีการพิจารณาสัดส่วนการสุ่มตรวจสินค้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ทุก 4 เดือน โดยจะอ้างอิงจากผลการรายงานการตรวจที่ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งให้คณะทำงานทราบทุก 4 เดือน

.

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า อียูจะมีการพิจารณาสัดส่วนการสุ่มตรวจสินค้าอย่างสม่ำเสมอ และหากพบสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น อียูอาจปรับเพิ่มสัดส่วนการสุ่มตรวจได้ แต่หากสินค้ามีปัญหาลดลง อียูก็อาจปรับลดสัดส่วนการสุ่มตรวจนี้ลงได้เช่นกัน ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและระมัดระวังในการใช้ยาฆ่าแมลงให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สินค้าไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้และเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภคในตลาดอียูด้วย

.

อียูเป็นตลาดส่งออกผักสดที่สำคัญของไทย โดยในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็น แช่แข็งไปอียูมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังอียู ลดลงจากปี 2550 มูลค่าประมาณ 170 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10 สำหรับในปี 2552(ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็น แช่แข็งไปอียูมูลค่าประมาณ 711 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 21

.

ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าสารตกค้างสูงสุดที่อนุญาตอียูให้มีในผัก ผลไม้ สามารถดูได้จาก https://secure.pesticides.gov.uk/MRLs/search.asp