เนื้อหาวันที่ : 2009-08-18 09:22:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 554 views

ECO LABEL เครื่องมือทางการตลาดตัวใหม่ของอียู

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า โครงการ ECO LABEL เป็นโครงการที่คณะกรรมาธิการยุโรปริเริ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการมอบเครื่องหมาย EU FLOWER ให้แก่สินค้าและบริการที่ผ่านเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมที่ทางคณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดขึ้นมาเป็นพิเศษ     

.

ผู้ประกอบการสามารถติดเครื่องหมายดังกล่าวบนผลิตภัณฑ์และนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ทางการตลาดได้ว่าสินค้าของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การผลิตจนถึงการทำลายซากผลิตภัณฑ์ หรือการบริการของตนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันอย่างไร 

.

เนื่องจากการจะได้รับเครื่องหมายดังกล่าวจะต้องผ่านเงื่อนไขพิเศษที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดขึ้น จึงมีสินค้าและบริการบางประเภทเท่านั้นที่สามารถสมัครเข้าขอรับเครื่องหมาย EU FLOWER ได้ เช่น 

.

1 เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ ตู้เย็น โทรทัศน์
2 เครื่องใช้ในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ ผ้าคลุมเตียง
3 ผลิตภัณฑ์กระดาษ เช่น กระดาษทิชชู (tissue paper)
4 เสื้อผ้า เช่น รองเท้า สิ่งทอ
5 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน
6 ธุรกิจบริการการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และ บริการตั้งค่าย (camping)

.

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการที่ตั้งอยู่นอกอียู เช่น โรงแรมหรือรีสอร์ทต่างๆในประเทศไทย ก็สามารถสมัครขอรับเครื่องหมายดังกล่าวได้ หากธุรกิจมีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวยุโรปและต้องการแสดงให้ลูกค้าทราบว่าธุรกิจของตนมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง สามารถดูรายละเอียดว่าโครงการดังกล่าวครอบคลุมสินค้าอะไรบ้าง และสินค้าแต่ละประเภทต้องผ่านเงื่อนไขใดบ้างในเว็บไซต์ http://ec.europa.eu/environment/ecolabel/product/index_en.htm 

.

ขั้นตอนการสมัครขอรับเครื่องหมาย EU FLOWER ในกรณีของบริษัทมีที่ตั้งอยู่ในอียู ให้ติดต่อหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการยุโรปให้เป็นผู้ตรวจสอบสินค้า (competent body) ในประเทศของตน ซึ่งในบางประเทศสมาชิก competent body อาจเป็นหน่วยงานราชการ และในบางประเทศอาจเป็นองค์กรอิสระ

.

หลังจากนั้น หน่วยงานดังกล่าวจะส่งผลการตรวจสอบให้คณะกรรมาธิการยุโรปต่อไป สำหรับบริษัทที่ไม่ได้มีที่ตั้งอยู่ในอียู ในการเลือกว่าควรจะให้ competent body ของประเทศใดตรวจสอบ อาจพิจารณาเลือกประเทศที่สินค้าของตนวางจำหน่าย หากวางจำหน่ายในหลายประเทศ ก็สามารถเลือกหน่วยงานในประเทศใดก็ได้ที่สินค้าตนวางจำหน่าย ซึ่งโดยปกติแล้ว จะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบรับรองประมาณ 3 เดือน 

.

ดูรายชื่อหน่วยงาน competent body ในประเทศสมาชิกต่างๆ ได้ที่http://ec.europa.eu/environment/ecolabel/tools/competentbodies_en.htm โดยบริษัทที่จะสมัครขอรับเครื่องหมาย EU flower ต้องเสียค่าสมัครระหว่าง 300 - 1,300 ยูโร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ competent body ค่าใช้จ่ายรายปีร้อยละ 0.15 ของยอดขายสินค้าดังกล่าวในอียู และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบของ competent body อย่างไรก็ดี ผู้สมัครจากประเทศกำลังพัฒนาสามารถขอรับส่วนลดในข้อ 1 และ ข้อ 2 ได้ร้อยละ 25 โดยผู้สมัครสามารถติดต่อ competent body ได้เพื่อสอบถามข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติม 

.

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับเครื่องหมาย EU Flower จะสามารถติดเครื่องหมายดังกล่าวบนผลิตภัณฑ์ของตนได้ตราบเท่าที่เงื่อนไขของสินค้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โดยปกติคณะกรรมาธิการยุโรปจะมีการทบทวนทุก 3 – 5 ปี และเมื่อใดที่เงื่อนไขของสินค้าเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยนำผลิตภัณฑ์เข้ารับการตรวจทดสอบ บริษัทจะต้องส่งสินค้าเข้ารับการทดสอบใหม่ มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิติดเครื่องหมาย EU FLOWER อีกต่อไป