เนื้อหาวันที่ : 2009-08-14 09:55:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 565 views

กูรูเศรษฐกิจ แนะรัฐ - เอกชนปรับตัว หาตลาดใหม่ หวั่นเพื่อนบ้านแย่งเค้ก

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารคลื่น 98.0 Business Station ได้จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "The Three Dimensions วิกฤติพบคำตอบ" โดยเชิญกูรูจากด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบด้วย นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตผู้แทนการค้าของไทย,           

.

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและสภาพัฒน์, นายชาญชัย สงวน-วงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น และนายนิมิตร หมดราคี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการประชาสัมพันธ์มาร่วมแสดงความคิดเห็น และดำเนินรายการโดยนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ

.

คุณประจวบ ไชยสาส์น กล่าวว่า รัฐและเอกชนต้องปรับตัว โดยมองหาตลาดใหม่ในการทำธุรกิจ จากเดิมที่มุ่งเน้นตลาดตะวันตก ควรหันมาเจาะตลาดตะวันออกมากขึ้น และควรมองวิกฤติโลกที่เกิดขึ้นนี้ให้เป็นโอกาสโดยการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจ จากเดิมที่เป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ เปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกซะเอง           

.

แต่ก็ยังมีปัจจัยที่นักธุรกิจไทยยังคงต้องศึกษาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาตลาด ภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของประเทศคู่ค้า รวมถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อลดภาระต้นทุนระบบขนส่งโดยรวม ซึงคิดเป็นสัดส่วนต้นสูงถึง 30% ของธุรกิจ ซึงจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

.

คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า เพราะนักการเมืองคือผู้ที่ตัดสินใจนโยบายต่างๆปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมๆกัน หากไทยยังคงประสบปัญหาทางการเมืองอยู่ เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ไม่ว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาหรือจีนที่มีโอกาสฟฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดแล้วนั่น เศรษฐกิจประเทศไทยอาจโดนประเทศเพื่อนบ้านแย่งตลาดไปได้

.

"การขัดแย้งทางการเมือง ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากกติกาของประเทศถูกบิดเบือน มี 2มาตราฐาน ไม่มีความยุติธรรม สร้างความแตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่ม และระบบทุนนิยมเข้ามามีบทบาทต่อวงการเมืองมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและผลกระทบต่อธุรกิจในท้ายที่สุด" นายสุรนันทน์กล่าว

.

ในส่วนของคุณนิมิตร หมดราคี กล่าวถึงแนวทางประคองธุรกิจท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ว่า ควรมองวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจ ควรมองว่า เราคือใคร เป็นอะไร และทำอะไร ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารในองค์กร ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน หรือผู้ลงทุนรายอื่นๆ และสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับสภาวะวิกฤติในตอนนี้ จึงจะผ่านพ้นไปได้

.

"ผู้บริหารบริษัทหรือองค์กร ต้องรักษาระดับความน่าเชื่อถือต่อสื่อมวลชน ผู้นำองค์กรต้องเป็นหลักในการสะท้อนภาพลักษณ์ และหาวิธีสื่อสาร ที่ตรงจุด กล้าทำในสิ่งที่ใหม่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจและเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในระยะยาว" นายนิมิตรกล่าวและพูดถึง "บทบาทในการทำงานด้านสื่อสารมวลชนของรัฐ ทั้งๆที่มีเครื่องมือพร้อมทุกอย่าง แต่ยังไม่สามารถโน้มน้าวคนอีกกลุ่มในสังคมได้ และการมุ่งใช้ยุทธศาสตร์ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" จะสร้างความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย"