เนื้อหาวันที่ : 2009-08-12 08:25:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1723 views

อุตสาหกรรมเล็งเปิดเสรีโรงงานน้ำตาล

ชาญชัย รมว.อุตสาหกรรม เตรียมประกาศเปิดเสรีโรงงานน้ำตาล รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งผลิตอาหารและเอทานอล โรงงานคึกคักแห่ขอเพิ่มกำลังการผลิต ย้ายที่ตั้ง และสร้างใหม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมประกาศนโยบายเปิดเสรีโรงงานน้ำตาล ชี้สามารถขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอตามนโยบายปีแห่งการลงทุนได้ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งผลิตอาหารและเอทานอลเผยโรงงานหลายแห่ง แห่ขอเพิ่มกำลังการผลิต ย้ายที่ตั้ง และสร้างใหม่

.

นายชาญชัย  ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

นายชาญชัย  ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลดีเด่นประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ว่า กระทรวงอุตฯ อยู่ระหว่างพิจารณาเปิดเสรีโรงงานน้ำตาล โดยจะอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลขยายกำลังการผลิต สร้างโรงงานใหม่ หรือย้ายสถานที่ตั้งโรงงานใหม่ตามความเหมาะสมได้  ทั้งนี้โรงงานน้ำตาลสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ตามนโยบายปีแห่งการลงทุน 6 กลุ่มกิจการ

.

"การเปิดเสรีแก่โรงงานเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากอ้อยจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารแล้ว ยังมีบทบาทในการผลิตพลังงานทดแทนคือ เอทานอล รองรับเป็นส่วนผสมหลักของน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตด้วย" นายชาญชัย กล่าว

.

นายชาญชัยกล่าวว่า กระทรวงกำลังดำเนินนโยบาย 3 ด้าน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม โรงงาน และชาวไร่อ้อย โดยทั้ง 3 ส่วนนี้จะเร่งดำเนินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไปพร้อมกัน ล่าสุดกระทรวงเตรียมของบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสอนให้ส่งเสริมการเพาะพันธุ์อ้อยพันธุ์ แค 1972 แจกให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการเพาะปลูกต่อไป

.

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ได้เสนอเรื่องให้นายชาญชัย พิจารณาย้ายสถานที่ตั้งโรงงานและขยายกำลังการผลิตของโรงงานจำนวน 6 โรงงาน ประกอบด้วย การขอย้ายสถานที่ตั้งใหม่ที่จังหวัดสุโขทัย โดยมีกำลังการผลิตเท่าเดิมจำนวน 18,000 ตันอ้อยต่อวัน

.

สำหรับการขอขยายกำลังการผลิตมีจำนวน 5 โรงงาน คือ 1.บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ขอขยายการผลิตจาก 24,000 เป็น 30,000 ตันอ้อยต่อวัน 2.บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด ขยายจาก 22,970 เป็น 30,000 ตันอ้อยต่อวัน 3.บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด ขยายจาก 14,447 เป็น 22,000 ตันอ้อยต่อวัน 4.บริษัท น้ำตาลทรายกำแพงเพชร ขยายจาก 8,000 เป็น 12,000 ตันอ้อยต่อวัน และ5.บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ ขยายจาก 12,000 เป็น 17,000 ตันอ้อยต่อวัน รวมปริมาณน้ำตาลที่ขอขยายกำลังการผลิตอยู่ที่ 29,583 ตันอ้อยต่อวัน

.

"สอน.ได้ทำข้อสรุปเพื่อเสนอ รมว.อุตสาหกรรม เห็นชอบแล้วเพื่อเสนอรายงานต่อ ครม.เพื่อทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม กรณีโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่ได้ขอย้ายไปตั้งที่ใหม่ มีระยะห่างน้อยกว่า 80 กิโลเมตร แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้สถานที่ตั้งโรงงานเดิมมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ประเด็นดังกล่าวจึงขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของ รมว.อุตสาหกรรม คงต้องหาข้อสรุปก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณา" แหล่งข่าวกล่าว

.

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการตั้งโรงงานใหม่ขณะนี้มีหลายแห่งที่เสนอขอเข้ามา เช่น มีการเสนอตั้งโรงงานใน จ.อุทัยธานีและโรงงานน้ำตาลทรายแดงท่าเรือ จ.กาญจนบุรี เสนอตั้งโรงงานใหม่เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวที่ จ.อุบลราชธานี

.

นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 การใช้พลังงานทดแทนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 12.4 ล้านลิตรต่อวันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 56% เป็นการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มจาก 1.9 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 3.8 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มจาก 6.0 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 8.4 ล้านลิตรต่อวัน และแก๊สโซฮอล์อี 20 เพิ่มจาก 0.04 ล้านลิตรต่อวันเป็น 0.18 ล้านลิตรต่อวัน

.

ในขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 เพิ่มจาก 51.7 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 52.4 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.4% เพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันดีเซล บี 5 เพิ่มจก 7.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 22.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 187.4% หรือเพิ่มเป็น 3 เท่าของปริมาณการใช้ในปี 2551

.

สำหรับการใช้ก๊าซแอลพีจีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 11.5 พันตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพียง 1.3% เป็นผลจากการใช้ในครัวเรือนเพิ่มจาก 5.6 พันตันต่อวัน เป็น 5.9 พันตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 4.1% แต่การใช้ในอุตสาหกรรมลดลงจาก 1.9 พันตันต่อวัน เหลือเพียง 1.4 พันตันต่อวัน หรือลดลง 25.5% และการใช้ในรถยนต์ลดลงจาก 1.9 พันตันต่อวัน เหลือเพียง 1.8 พันตันต่อวัน หรือลดลง 2.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ใช้แอลพีจีในรถยนต์เปลี่ยนไปใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นโดยการใช้เอ็นจีวีเพิ่มจาก 55.4 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 131.3 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 136.8% หรือเพิ่มเป็น 2.4 เท่าของปริมาณการใช้ในปี 2551

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน