ซอฟต์แวร์พาร์คเซ็น MOA กับเอไอที นำร่องสอนหลักสูตรระดับโลกแห่งแรกในไทย สร้างมือโปรธุรกิจซอฟต์แวร์ ยกระดับบุคลากรด้านไอทีก้าวสู่ตลาดระดับสูง
ซอฟต์แวร์พาร์คเซ็น MOA กับเอไอที นำร่องสอนหลักสูตรระดับโลกแห่งแรกในไทย สร้างมือโปรธุรกิจซอฟต์แวร์ ยกระดับบุคลากรด้านไอทีก้าวสู่ตลาดระดับสูง ชี้ปัญหาสร้างมือดีไม่ได้เพราะขนาดตลาดไทยเล็กเกิน เอไอทียันมาตรฐานเทียบเท่ามหาวิทยาลัย Carnegie Mellon พร้อมเปิดสอนกันยายนนี้ |
. |
. |
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค ได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOA ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไอทีในระดับสูงด้วยหลักสูตร ปริญญาโททางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์สำหรับนักวิชาชีพ หรือ Professional Master’s in Software Engineering (PMSE) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และถือเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับโลกอีกด้วย |
. |
ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ประมาณ 50,000 คน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในสภาพขาดแคลน ผนวกกับอุตสาหกรรมทางด้านไอซีทียังโตกว่า 10% ทุกปี แต่อุตสาหกรรมไอซีทีของไทยยังประสบกับปัญหาเดิม ๆ นั่นก็คือ การรับจ้างทำงานราคาถูก โดยเน้นแข่งขันเรื่องต้นทุนแรงงานเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะต้องไปแข่งขันกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ |
. |
ดังนั้นการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหานี้จึงต้องเร่งสร้างคนไอทีระดับบนที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง เช่น Software Architecture เข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประเทศ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของตลาดในประเทศไทย แอพพลิเคชันที่รองรับส่วนใหญ่จะเป็นโปรแกรมขนาดเล็ก ซึ่งลักษณะงานไม่ค่อยสลับซับซ้อนมากนัก ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมีคนระดับนี้มาวางแผนมีน้อยลง และขณะเดียวกันบุคลากรที่มีความสามารถระดับนี้ก็จะถูกปรับให้ไปรับตำแหน่งบริหาร หรือแผนกทางด้านการขายแทน |
. |
อีกทั้งหลักสูตรเพื่อสร้างคนจากสถาบันการศึกษาในระดับนี้ในประเทศก็ยังมีน้อย ซึ่งที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คได้จัดหลักสูตรเพื่อสร้างคนซอฟต์แวร์ระดับสูง แต่ก็สามารถสร้างได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นนโยบายของซอฟต์แวร์พาร์คต่อไปก็คือจะเน้น การเป็นตัวเชื่อมโยง Linkage หรือเป็น Bridge เชื่อมต่อกับหน่วยงานการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญระดับสูงให้มากขึ้น |
. |
หน้าที่หลักของซอฟต์แวร์พาร์คในการเซ็นสัญญาครั้งนี้คือ เข้ามาบริหารแผนการตลาด เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของซอฟต์แวร์พาร์ค ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ สถาบันการเงิน บริษัทโทรคมนาคม องค์กรธุรกิจขนาดกลาง และใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางซอฟต์แวร์พาร์คเก็บข้อมูล และสำรวจความต้องการ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด |
. |
. |
หลักสูตรนี้ทางซอฟต์แวร์พาร์คกับ AIT เป็นผู้ร่วมกำหนดหลักสูตรด้วยกัน พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อทำให้โครงการนี้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทยมากที่สุด แผนการสนับสนุนอื่น ๆ นั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คพร้อมจะให้โครงการเข้ามาใช้สถานที่ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์พาร์คอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุปกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้กับการเรียนซอฟต์แวร์ระดับสูง นอกจากนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจะช่วยด้านการติดต่อ และแนะนำผู้เชี่ยวชาญจากในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยตามที่ร้องขอ |
. |
สำหรับหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ซอฟต์แวร์พาร์คมีการอบรมอยู่ หากผู้เรียนต้องการที่จะเข้าสู่โครงการนี้ สามารถเทียบโอน และโอนย้ายหน่วยกิตเพื่อเรียนต่อยัง AIT โดยได้รับยกเว้นค่าโอน ทำให้เกิดระบบการเรียนแบบต่อเนื่อง หลักสูตรของซอฟต์แวร์พาร์คที่เน้นเฉพาะทางก็จะมีประโยชน์กับผู้อบรมมากขึ้น |
. |
จากแผนการส่งเสริมการสร้างบุคลากรซอฟต์แวร์ระดับสูงในปัจจุบัน นอกจากในส่วนของซอฟต์แวร์พาร์คเองที่มีการอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง และการสร้างหลักสูตรกับสถาบันการศึกษาแล้ว ยังต้องเร่งสร้างความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรม ดังนั้นทางซอฟต์แวร์พาร์คจึงได้เข้าไปร่วมบริหารชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ IASA Thailand เพื่อเร่งสร้างบุคลากรผ่านชุมชนนักพัฒนา และให้คนกลุ่มนี้สามารถเชื่อมโยงกับนักพัฒนาในระดับโลกมากขึ้น |
. |
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เปิดเผยว่า หลักสูตรปริญญาโททางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์สำหรับนักวิชาชีพหรือ Professional Master’s in Software Engineering (PMSE) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยจะเปิดสอนในเดือนกันยายน โดยตั้งเป้านักศึกษาไว้ที่ 30 คน โดยเนื้อหาจะประกอบด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ |
. |
เช่น Software Development Studio ซึ่งจัดทำขึ้นตามหลักสูตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประยุกต์ให้เหมาะกับอุตสาหกรรมไอทีของไทย กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรใหม่นี้คือเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มีประสบการณ์การทำงานแต่ยังขาดพื้นฐานทางด้านวิชาการที่มีแบบแผนทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งกำลังมองหาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ |
. |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่สนใจด้านสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์และมีเป้าหมายที่จะผลักดันตัวเองขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้บริหาร, สถาปนิกด้านซอฟต์แวร์ หรือนักวิเคราะห์ระบบระดับบริหารในองค์กรต่าง ๆ ทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ขอบเขตของหลักสูตรจะครอบคลุมความรู้ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ทุกแขนง, มุ่งเน้นผู้สำเร็จหลักสูตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและสถาปนิกทางซอฟต์แวร์ และให้ความสำคัญกับการพัฒนา Soft Skills เช่น การสื่อสาร, การทำงานเป็นหมู่คณะ และความเป็นผู้นำ เป็นต้น |
. |
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลักสูตร PMSE มีเอกลักษณ์คือ เนื้อหาการเรียนการสอนทั้งหมดจะเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสอนโดยอาจารย์จากสถาบันนานาชาติทางด้านวิศวกรรมของเอเชีย นักศึกษาจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นนักวิชาชีพเหมือนกัน และได้เพิ่มพูนจากประสบการณ์การทำโครงการจริง ๆ ภายใต้คำแนะนำจากที่ปรึกษามากประสบการณ์ที่ถูกคัดสรรมาจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย การเรียนการสอนในวันธรรมดาทั้งหมดจะอยู่ในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ทำให้สะดวกต่อนักศึกษาที่ทำงานอยู่ในเขตธุรกิจกลางเมืองกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษายังสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี |
. |
"ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะองค์กรอิสระที่ให้การศึกษานานาชาติระดับสูงด้านเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทผู้นำในการให้การศึกษาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแก่แรงงานทางด้านไอที เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ในขณะเดียวกัน หน่วยปฏิบัติการกึ่งภาครัฐอย่างซอฟต์แวร์พาร์คก็ทุ่มเทให้กับการยกระดับคุณภาพ, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, การเสริมสร้างขีดความสามารถ, การเผยแพร่ความรู้ในระดับนานาชาติ และฟูมฟักนักลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย" ศ.ดร.วรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย |
. |
สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตรดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดของหลักสูตร และเงื่อนไขการรับสมัครได้ที่ โทรศัพท์ 0-2524-5717 http://pmse.cs.ait.ac.th, http://www.ait.ac.th E-mail:pmse@ait.ac.th |
. |
. |