เนื้อหาวันที่ : 2009-08-08 09:08:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3078 views

แรงงานไทยวอนรัฐรับอนุสัญญา ILO 87 – 98

ตัวแทนคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ระบุน่าอายที่รัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียนไม่เคยให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานระดับสากล

.

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 52 ที่กระทรวงแรงงาน ตัวแทนคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

.

โดยในข้อเรียกร้องระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องหลักขององค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศไทยคือการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลัก 2 ฉบับ ในทั้งหมด 8 ฉบับ ที่ประเทศสมาชิกของ ILO ต้องให้สัตยาบันรับรอง (Core Labour Standard) อนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของพวกเราพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง ทั้งๆที่ ILO ได้ประกาศในปี 2541ให้อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อยู่ในปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน

.

แต่ในทางกลับกันทิศทางการปฏิบัติของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมก่อตั้ง ILO นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาเพียง 14 ฉบับ จากจำนวนทั้งสิ้น 188 ฉบับ และเป็นเวลาถึง 30 ปี ที่รัฐบาลไทยไม่รับรองอนุสัญญาฉบับใดเลย นั่นคือในช่วงปี พ.ศ.2512 – พ.ศ.2542 และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยก็รับรองอนุสัญญาเพียง 3 ฉบับเท่านั้น

.

ทั้งนี้จากการที่รัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของคนงานและมีข้อจำกัดในการเจรจาต่อรอง ทำให้มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่เป็นแกนนำในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรแรงงานถูกเลิกจ้าง ส่งผลให้การรวมตัวของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยอยู่ในจำนวนที่ต่ำมาก

.

กล่าวคือมีการรวมตัวรูปแบบจัดตั้งเพียงประมาณ 500,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.4 % จากกำลังแรงงานทั้งหมดประมาณ 35 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศมาถึง 90 ปี และเป็นความน่าอับอายของประเทศไทยในฐานะประธานประชาคมอาเซียนที่ไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานในระดับสากล ที่จะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถบ่งบอกถึงทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำในระดับภูมิภาคได้รูปแบบหนึ่ง

.

โดยคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยใช้โอกาสวาระครบรอบ ๙๐ ปี ของการก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และการเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี ๒๕๕๒ นี้ เป็นวาระสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อย่างเคร่งครัด

.

อนึ่งคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบไปด้วย องค์การสภาลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย , องค์การสภาลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย , องค์การสภาลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์แห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าฯ ,

.

สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย , กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก , กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ , สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ ยานยนต์แห่งประเทศไทย (TEAM) , เครือข่ายสหภาพแรงงานสากลในประเทศไทย (UNI-TLC) , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมไปถึงสหภาพแรงงาน , องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน , สภาองค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงานต่างๆ

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท