เนื้อหาวันที่ : 2006-11-21 08:54:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 942 views

พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกศึกษาข้อกำหนดวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ของญี่ปุ่น

กรมการค้าต่างประเทศเตือนผู้ส่งออกของไทยศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เพื่อให้ปฏิบัติตามได้ถูกต้องและไม่เกิดปัญหาถูกกีดกันการนำเข้า เพราะมีสินค้าไทยหลายรายการที่ต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการบรรจุสินค้าส่งออก

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกรมการค้าต่างประเทศเตือนผู้ส่งออกของไทยศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ฉบับใหม่  ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1  เมษายน 2550  เพื่อให้ปฏิบัติตามได้ถูกต้องและไม่เกิดปัญหาถูกกีดกันการนำเข้า  เพราะมีสินค้าไทยหลายรายการที่ต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการบรรจุสินค้าส่งออก

.

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์   อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  เปิดเผยว่า   ญี่ปุ่นประกาศ  Import Plant Quarantine Regulation  ฉบับใหม่  (MAF Notification No. 206, 1950)  ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้  (Wood Packaging Materials: WPM)  ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามข้อกำหนด  ISPM No.15  ซึ่งกำหนดขึ้นจากการประชุมของประเทศสมาชิกอนุสัญญาป้องกันโรคพืชระหว่างประเทศ (The International Plant Protection Convention : IPPC)

.

และจะเริ่มมีผลบังคับใช้กับสินค้านำเข้าตั้งแต่  1 เมษายน 2550 เป็นต้นไป ซึ่งมีสินค้าไทยหลายรายการที่ส่งออกไปญี่ปุ่น เป็นสินค้าที่ต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการบรรจุสินค้าส่งออก  ดังนั้น  ผู้ส่งออกไทยจึงควรที่จะติดตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องต่าง    เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง  และไม่เกิดปัญหาสินค้าต้องถูกกีดกันการนำเข้าหากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือระเบียบ

.

ทั้งนี้  ข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าว   กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ทำด้วยไม้ดังต่อไปนี้  pallets,  dannage,  crating, packing blocks,  drums,  cases,  load boards,  pallet collars,  bark,  row  wood  และ round wood   ต้องแสดงเครื่องหมายที่มีการรับรองการจัดการไม้  ประกอบด้วย  เครื่องหมาย  IPPC  รหัสประเทศ  (Country Code)  เลขทะเบียนของผู้ผลิตที่ตรวจสอบ/รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร  และวิธีการจัดการวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ เช่น การอบความร้อน (Heat Treatment: HT)  หรือการรมควันด้วยเมทิล โบรมาย   (Methyl Bromine: MB)  และนอกจากเครื่องหมายรับรองการจัดการไม้ดังกล่าวแล้ว

.

ผู้ส่งออกยังต้องแสดงใบรับรองสุขอนามัย  (phytosanitary certificate)   ที่ออกโดยกรมวิชาการเกษตร ต่อเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น    ด่านตรวจกักกันโรคพืชในประเทศญี่ปุ่นด้วย  ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ประกาศใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ตาม ISPM No.15 แล้ว ได้แก่  สหภาพยุโรป  สวิตเซอร์แลนด์  สหรัฐอเมริกา  แคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล  ไนจีเรีย  ปานามา ชิลี  เปรู โบลิเวีย กัวเตมาลา โคลัมเบีย  คอสตาริกา  เอกวาดอร์  อียิปต์  แอฟริกาใต้   ตรินิแดดและโตเบโก  ตุรกี  เวเนซุเอลา  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  จีน  อินเดีย  เกาหลีใต้  และฟิลิปปินส์

.

นางอภิรดี  กล่าวว่า  ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549  ไทยส่งสินค้าออกไปยังญี่ปุ่น  เป็นมูลค่า 466,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก  449,000 ล้านบาท ร้อยละ 3.8 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่  แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ฯลฯ  โดยสินค้าเหล่านี้ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการบรรจุเพื่อส่งออก.