การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ผ่านการเห็นชอบของ ครม. อย่างรวดเร็วและง่ายดายนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างผนึกกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ด้วยเกรงว่าจะเสียประโยชน์ของชาติ เพราะรัฐบาลทำเพียงเพื่อเอาใจสหรัฐฯ ปกป้องเอกชน แต่กีดกันประชาชนในประเทศ
. |
แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม, สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน, กลุ่มศึกษาปัญหายา และ องค์การอ็อกแฟม เกรทบริเทน ได้ร่วมกันแถลงข่าววิพากษ์แผนไอพีชาติว่า ไม่มีการรับฟังความเห็นของหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทำเพียงเพื่อเอาใจสหรัฐฯ โดยไม่ได้สนใจปกป้องประโยชน์ของชาติ มิหนำซ้ำอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประเทศ |
. |
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า พบว่า แผนฯ ดังกล่าวเป็นแรงผลักดันของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติร่วมกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์บางส่วนที่อ้างเหตุว่าต้องทำให้ไทยถูกปลดจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ PWL จึงพยายามหาเหตุแก้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆเพื่อเอาใจสหรัฐฯ โดยยืมมือนักการเมืองที่ไม่เท่าทัน ทั้งที่การติด PWL แทบไม่มีนัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจตามที่มีการวิจัยยืนยันมาตลอด |
. |
"พวกเราต้องออกมาส่งเสียง ถ้ารัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิทำตามก้นข้าราชการที่ยืมมือนักการเมือง มันจะไม่ใช่ผลงาน แต่มันจะเป็นตราแบบของแผ่นดิน เหมือนเมื่อครั้งแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตรปี 2532 ที่ทำให้เราสูญเสียศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เราเห็นการซิกแซกของอุตสาหกรรมยาและข้าราชการประจำ เราเห็นถึงความฉิบหายที่จะเกิดขึ้น |
. |
สิ่งที่พยายามทำไม่ได้แก้แค่กฎหมายสิทธิบัตร แต่จะไปแก้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ที่แก้ง่ายกว่าสิทธิบัตร แต่ให้มีผลในการผูกขาดยา มีความพยายามแก้ระเบียบศุลกากรนำเข้าส่งออก เพื่อยึดยาชื่อสามัญ มีความพยายามทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้ต้องไปไล่จับสินค้า โดยที่เจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องทำอะไรเลย ทำให้ความผิดเป็นคดีอาญา ซึ่งในที่สุดจะกระทบการเข้าถึงการรักษาในที่สุด" |
. |
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ปรึกษาหน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงยา เข้าถึงความรู้ อันเป็นพื้นฐานปรัชญาของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้วย แต่ไปให้ความสำคัญกับการไล่จับไล่ลงโทษ |
. |
"แผนนี้ ไม่เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีนักวิชาการรับรู้ ในแผนเขียนเลยว่า ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงาน กพ.เท่านั้น ทั้งๆที่ กระทรวงใหญ่ที่รับผิดชอบเรื่องความรู้และการรักษา คือ กระทรวงศึกษาธิการและสาธารณสุข ไม่มีสิทธิให้ความเห็น ไม่ต้องแปลกใจว่าผลที่ออกมา แต่ละข้อคือการผูกขาด กีดกันไม่ให้คนได้ใช้ประโยชน์ |
. |
แต่ที่น่าแปลกใจคือ แผนยุทธศาสตร์นี้ ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันกับที่เห็นของยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้า และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีเนื้อหาส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ ส่งเสริมให้คนเข้าถึงยา และคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ เหมือน ครม. ไม่ได้อ่านเอกสาร ผ่านออกไปได้อย่างไร เนื้อหาที่ขัดกันเช่นนี้ นี่กีดกันคนไม่ให้เข้าถึงยา นี่คือวิธีการทำงานของรัฐบาลไทย" |
. |
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ตัวแทนจากองค์การอ็อกแฟม เกรทบริเทน ระบุว่า หากแผนฯนี้นำไปสู่การปฏิบัติด้วยการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะนำไปสู่การขัดขวางการใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆในความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การทำซีแอล และยังเป็นอุปสรรคขัดขวางอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ เพราะจะให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรยึดยาที่ท่าเรือ แม้ว่ายานั้นจะเป็นยาที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบ แต่จะหาเหตุอ้างว่าต้องสงสัยละเมิดเครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรดังที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมียึดยาต้านไวรัส ยาโรคเรื้อรังต่างๆ |
. |
"ผลกระทบคือ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ควรนำไปแก้ปัญหาด้านอื่นๆของประเทศ มาดูแลทรัพย์สินเอกชน ทำลายศักยภาพยาชื่อสามัญ ตลาดจะถูกผูกขาดโดยยาต้นแบบ ยาราคาแพง คนไม่สามารถเข้าถึงยา ไม่ได้แก้ปัญหายาปลอมจริงๆ" |
. |
เภสัชกรปริญญา เปาทอง ตัวแทนสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า ตนเองอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ทราบมานานแล้วว่าอุตสาหกรรมยาข้ามชาติพยายามหาช่องที่จะขัดขวางอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ห้ามไม่ให้ยาชื่อสามัญมีขนาดเม็ด และสีเช่นเดียวกับยาต้นแบบ มีความพยายามทำให้ยาชื่อสามัญ เป็นยาปลอมด้วยการขยายนิยามยาให้มากไปกว่า พ.ร.บ.ยาในปัจจุบัน หรือขอให้เอกสารกำกับยาที่ใช้ข้อมูลสาธารณะเป็นเอกสารที่มีลิขสิทธิ์ |
. |
"อยากถามว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วนจริงหรือไม่ หรือทำตามแรงกดดันระหว่างประเทศและแรงกดดันทางการเมือง รัฐบาลทำแผนฯนี้ขึ้นมาโดยมุ่งเน้นที่การปราบปราม แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมในประเทศ" |
. |
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และทรัพยากรชีวภาพ แต่แผนยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเลย ว่าเราจะคุ้มครองภูมิปัญญาพื้นบ้าน และทรัพยากรชีวภาพ อย่างไร มีแต่การกวาดล้างและปราบปรามให้กับทรัพย์สินของเอกชน และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ไปผูกขาด |
. |
"ต้องตั้งคำถามว่า การเอาใจสหรัฐอย่างออกนอกหน้าขนาดนี้ ทำถูกต้องแล้วหรือ ทำลงไปเป็นตราบาปแน่ๆ เรารู้ดีเราถูกกดดันจากสหรัฐมาตลอด อ้างว่าคุ้มครอง ครั้งนี้ก็เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ คุ้มครองไปทำไม คุ้มครองเพื่ออะไร ไม่ชัด ในรายละเอียด การคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ เรามีอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ การแบ่งปันประโยชน์ แจ้งแหล่งที่มาของทรัพยากร |
. |
แต่จนทุกวันนี้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ไม่แก้เรื่องนี้ทั้งที่ประเทศได้ประโยชน์ ที่เป็นประโยชน์กับคน กับประเทศ ไม่เอา เอาแต่เรื่องผลประโยชน์ของเอกชน เรามีต้นทุนแล้วเราต้องคุ้มครองมันอย่างจริงจัง แต่แผนกลยุทธ์นี้ ไม่คุ้มครองสิ่งที่เรามี แต่ไปเที่ยวคุ้มครองสิ่งที่คนอื่นมี" |
. |
นางสาวศศิวรรณ ปริญญาตร จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ฯ ไม่ได้มีเนื้อหาที่จะใช้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการเรียนรู้ของคนไทย จากการสำรวจขององค์กรผู้บริโภคสากลใน IP watch list พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศรั้งเกือบท้าย คือ อันดับ 15 จาก 16 อันดับของการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ดีกับการเรียนรู้ที่สุด ประเทศไทยสอบตกใน 3 ข้อคือ การให้สามารถแบ่งปันความรู้ออนไลน์, ขัดขวางการเข้าถึงของผู้พิการ และการถ่ายโอนข้อมูลกัน |
. |
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ได้แสดงความห่วงใยในประเด็นเหล่านี้ ให้นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งนายกฯ ยอมรับว่า น่าแปลกที่แผน ละเลยที่จะพูดเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญ ช่วงที่เป็นการทำแผนปฏิบัติการ จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม "อย่างไรก็ตาม เราคิดว่า เราคงต้องไปพบรัฐมนตรีช่วยอลงกรณ์ ด้วยจำนวนคนที่มากหน่อย ไม่เช่นนั้น กระทรวงนี้ไม่เคยรับฟังเสียงประชาชน เพื่อให้รื้อแผนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว" |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |