ธปท. ยันใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เน้นดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน เชื่อการผ่อนคลายหลักเกณฑ์นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ส่งผลทางจิตวิทยาระยะสั้นช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) |
. |
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อให้สามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น จะส่งผลทางจิตวิทยาในระยะสั้นที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าหรือไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ แต่อีกจุดประสงค์หนึ่งที่สำคัญคือเป็นการสนับสนุนการลงทุนในระยะยาว ทำให้เกิด two-way flow เพื่อความสมดุลของเงินทุนไหลเข้า-ออก |
. |
ธปท.ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ(manage float) และไม่มีแนวคิดที่จะกลับไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่จะเน้นการดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่เคลื่อนไหวผันผวน ซึ่งขณะนี้เงินบาทยังถือว่าค่อนข้างนิ่งเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น แม้ว่าจะแข็งค่าขึ้นจากต้นปีประมาณ 2.4% เป็นผลมาจากดอลลาร์อ่อนค่าลงถึง 4% และการนำเข้าหดตัวลงมาก |
. |
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเมื่อ ส.ค.51 เงินบาทก็เคยเคลื่อนไหวอยู่ในระดับนี้ ขณะที่เงินวอนของเกาหลีก็แข็งค่าขึ้น 3% มาที่ 12000 วอน/ดอลลาร์ จากปีก่อนที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 20000 วอน/ดอลลาร์ "เราก็ไม่ได้พูดว่าเงินบาทไม่มีสิทธิแตะ 37 บาท/ดอลลาร์ เพราะตอนนี้ตลาดก็ยังไม่นิ่ง มันเป็นไปได้ทั้งนั้น" นางสุชาดา กล่าว |
. |
สำหรับการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ของธปท.ที่ประกาศในวันนี้ มีการประเมินว่า เอกชนที่มีสินทรัพย์สูงกว่า 5 พันล้านบาทในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 503 แห่ง ที่ได้รับการผ่อนผันให้สามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เอง และให้สามารถทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(hedging)ล่วงหน้าได้ 1 ปี |
. |
ธปท.มองว่าสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศในประเทศไทยขณะนี้มีจำนวนสูงถึง 159,360 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่กับธปท.111,008 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นสินทรัพย์ของเอกชนประมาณ 24,103 ล้านแหรียญสหรัฐ ขณะที่หนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศรวมอยู่ที่ 185,449 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้ของเอกชนประมาณ 141,586 ล้านเหรียญสหรัฐ |
. |
นางสุชาดา กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่ามีความไม่สมดุลระหว่างฝั่งสินทรัพย์และหนี้สิน ขณะที่ธปท.เองก็มีข้อจำกัดไม่สามารถนำเงินออกไปลงทุนได้ ทำให้การนำเงินไปลงทุนต่างประเทศยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งหากต้องการให้ไทยเข้มแข็งก็ควรจะต้องปรับฐานะจากการเป็นลูกหนี้มาเป็นเจ้าหนี้ให้มากขึ้น |
. |
ทั้งนี้ ตั้งแต่ ธปท.เปิดให้เอกชนสามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้เมื่อหลายปีก่อนนั้น ขณะนี้พบว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)อนุญาตให้นำเงินออกไปลงทุน 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากวงเงินที่ธปท.อนุญาตทั้งหมด 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าน้อยมาก จึงเห็นว่าควรจะมีมาตรการผ่อนผันเพื่อสนับสนุนให้มีการนำเงินออกไปลงทุนได้มากขึ้น |