เนื้อหาวันที่ : 2009-08-04 11:10:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1112 views

เงินเฟ้อก.ค.ร่วง4.4%ต่ำสุด10ปี

พาณิชย์เถียงหัวชนฝายันเงินไม่ฝืด คุยโวกำลังซื้อประชาชนยังมีเหลือเฟือ ชี้มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ และราคาน้ำมันลดลง ฉุดเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

.

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ประจำเดือน ก.ค. 52 ที่สำรวจจากราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศ 417 รายการ ปรับตัวลดลง 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค. 51 เป็นการลดลงต่อเนื่องติดกัน 7 เดือน และลดลงสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากปี 42 ซึ่งทำลายสถิติเดิมที่เคยลดลงสูงสุด 4.0% เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 52 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ยอดเฉลี่ยเงินเฟ้อใน 7 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 52 กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลง 1.9%

.

สาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบเป็นการลดลงของดัชนีราคาหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 9.7% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารติดลบ 18% ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา หนังสือและอุป กรณ์การศึกษาติดลบ 10.1% ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาติดลบ 5.1% เครื่องแบบนักเรียนอนุ บาลและมัธยมชาย-หญิงติดลบ 3.4% แต่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.2% โดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่ม เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ 

.

"ในเดือน ก.ค. ราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ยังคงสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร แต่สินค้าอุปโภคบริโภค  ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่วนใหญ่มีราคาลดลงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ รถไฟ ไม่เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลได้ต่ออายุ 5 มาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนไปจนถึงสิ้นปี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน"

.

นายศิริพลกล่าวว่าเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ที่ลดลง ยังไม่ส่งสัญญาณถึงการเกิดปัญหาเงินฝืด เพราะเงินฝืดต้องดูสมมุติฐานหลายตัว ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การจ้างงาน การส่งออก นำเข้า โดยเงินเฟ้อของไทยขณะนี้ แม้จะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แต่เมื่อดูสาเหตุ เรื่องหลักมาจากการปรับลงของราคาน้ำมัน โดยเดือน ก.ค.   ปี 52 ราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 64.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อ บาร์เรล ต่ำกว่าเดือน ก.ค. ปี 51 ที่ราคาน้ำมันเคยสูงสุดถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

.

ทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เรื่องเงินเฟ้อระบุว่า หากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 6 เดือน จะเรียกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 7 เดือน ก็ไม่เรียกว่าภาวะเงินฝืด เพราะการลดลงมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง และรัฐออกมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชนซึ่งถือเป็นผลดีช่วยลดรายจ่ายแก่ประชาชน นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาสินค้าขณะนี้ยังไม่เกิดปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์