เนื้อหาวันที่ : 2009-08-04 10:48:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2478 views

CSR ที่เป็นมากกว่าการปลูกต้นไม้

ขณะที่ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด CSR คือการสร้างภาพพจน์ให้กับองค์กรด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม อีกมุมหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันกลับถูกมองข้าม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นั่นคือ "สิทธิแรงงาน"

ระดมความเห็นประเด็นสิทธิแรงงาน: CSR ที่เป็นมากกว่าการปลูกต้นไม้

.

.

เมื่อวันที่1 ส.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดประชุมระดมความเห็นในหัวข้อ CSR กับสิทธิแรงงานมีนายวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการ โดย สฤณี อาชวานันทกุล อาจารย์พิเศษคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงที่มาของแนวคิดซีเอสอาร์หรือความรับผิดชอบต่อสังคมว่าพัฒนามาจากแนวคิดเรื่องความยั่งยืนจากการผลักดันของขบวนการสิ่งแวดล้อมก่อนต่อมาจึงขยับมาพูดเรื่องสิทธิแรงงาน

.

โดยองค์การสหประชาชาติได้ประกาศUN Global Compact ซึ่งนำมาจากปฏิญญาสากลที่สำคัญที่สุดด้านสิ่งแวดล้อมแรงงานและสิทธิมนุษยชนมาไว้ด้วยกันโดย4 ใน10 นำมาจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO: International Labour Organization) 

.

สำหรับมาตรฐานแรงงานจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันอย่างไร แบบไหนจึงจะเรียกว่ารับผิดชอบนั้น สฤณี กล่าวว่า นักวิชาการในต่างประเทศมักมองว่า ให้เอาความรับผิดชอบด้านกฎหมายเป็นพื้นฐานก่อน นอกเหนือจากนั้น ถ้ามีก็ถือว่าเป็นเรื่องจริยธรรม ซึ่งส่วนตัวมองว่า แนวคิดนี้ไม่ครอบคลุมกับประเทศกำลังพัฒนา ที่กฏหมายยังไม่เพียงพอเช่นประเทศไทย 

.

สฤณี ขยายความว่า มาตรฐานแรงงานไม่ใช่แต่เรื่องพื้นฐานอย่างต้องไม่ใช้แรงงานเกินกำหนดเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มทักษะการทำงานด้วย ในแง่เศรษฐศาสตร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ดูแลได้ง่าย โดยหากดูแลแรงงานได้ดีกว่าคู่แข่ง จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ข้อขัดแย้งจะน้อยลงและกระเทือนธุรกิจน้อยลง นอกจากนี้ บริษัทที่สนใจซีเอสอาร์ ดูแลพนักงานดีก็สามารถนำไปใช้ในการตลาดได้ด้วย 

.

ทั้งนี้ สฤณีกล่าวถึงแนวโน้มการใช้มาตรฐานสากลต่างๆ ว่า จากเดิมที่บริษัทที่ใช้เกิดจากการผลักดันของบริษัทแม่ หรือบริษัทข้ามชาติที่รับซื้อสินค้า หรือเกิดจากระดับบนลงล่าง โดยไม่มีผู้มีส่วนได้เสียตัดสินใจ เริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นแบบจากล่างขึ้นบน คือผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ ร่วมกำหนดกฏเกณฑ์ ตรวจวัดและติดตามผลมากขึ้น 

.

สฤณีกล่าวเสริมว่า ในหลายประเทศนั้นมีการสำรวจพบว่า เมื่อพูดถึงซีเอสอาร์คนมักต้องการให้พูดถึงเรื่อง คน ก่อน ตามมาด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของซีเอสอาร์ในไทยคือ ธุรกิจมักครอบงำแนวคิดนี้ ทำให้ไม่มีการสำรวจ ประเมินผล และวิพากษ์วิจารณ์โครงการซีเอสอาร์

.

กรชัย แก้วมหาวงศ์ ผู้อำนวยการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลและมุมมองจากฝั่งนายจ้างว่า แม้ว่ารัฐบาลยังไม่รับรองอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ แต่ทางสภาองค์กรนายจ้างซึ่งตั้งมา 33 ปี มีสมาชิก 892 บริษัทก็ได้ทำอยู่แล้วผ่านหลายๆ กิจกรรม ไม่ว่าเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานนอกระบบ การจัดอบรมเรื่องต่างๆ

.

รวมถึงการให้บริษัทกำหนดจรรยาบรรณตาม Global Compact ซึ่งมีบริษัทที่รับไปทำราว 40 บริษัท ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลยังไม่ยอมรับสัตยาบันนี้ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด สภาองค์กรนายจ้างก็พยายามจะผลักดันเพราะเรื่องนี้เป็นหน้าเป็นตาต่อนายจ้างเช่นกัน 

.

ในเรื่องการยอมรับการจัดตั้งสหภาพแรงงานของนายจ้างนั้น เขากล่าวว่า ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับนายจ้างในประเทศไทย ต้องให้เวลา และทางสภาองค์กรนายจ้างก็พยายามทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นกระแสของโลก และชี้ให้เห็นตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและสามารถเพิ่มผลิตผลให้ดีขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน หรืออย่างในประเทศเวียดนามก็มีกฎหมายที่ระบุเลยว่าเมื่อบรรษัทข้ามชาติจะไปตั้งโรงงานต้องอนุญาตให้มีสหภาพแรงงานด้วย 

.

"พอรู้ว่าจะมีการตั้งสหภาพ นายจ้างเขากลัวไว้ก่อนโดยที่ก็ไม่รู้ว่ากลัวอะไร อาจเพราะเขาเคยมีอำนาจมาก ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ต่อไปอำนาจอาจถูกลดลง ส่วนบริษัทข้ามชาติเขาไม่ค่อยกลัวมากเท่าบริษัทไทยหรือไต้หวัน"

.

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง วิจารณ์ว่าซีเอสอาร์ที่ใช้ในเมืองไทยพูดแต่เรื่องภาพพจน์ขององค์กร แต่ไม่พูดเรื่องคน ทั้งที่หัวใจของซีเอสอาร์อยู่ที่คน และกระบวนการตรวจสอบ ทั้งนี้ จากประสบการณ์พบว่า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในไทย หากไม่ได้เป็นการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติ จะนำเรื่องซีเอสอาร์มาต่อรองกับบริษัทได้ค่อนข้างยาก 

.

เขากล่าวเสริมว่าถึงอย่างไรการที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นก็เป็นโอกาสที่สหภาพแรงงานและเอ็นจีโอด้านแรงงานสามารถใช้ประเด็นเรื่องนี้ปรับใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานได้กระนั้นก็ตามการจะนำจริยธรรมทางการค้าหรือซีเอสอาร์มาใช้เคลื่อนไหวกดดันของเอ็นจีโอและสหภาพฯจากฝั่งบริษัทในยุโรปมีข้อพึงระวังที่ต้องพิจารณาผลได้ผลเสียอย่างรอบด้านไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหากับคนงานเอง 

.

เช่นกรณีที่แม่สอดจ.ตากเมื่อหลายปีก่อนมีการถอนออร์เดอร์และเกิดการเลิกจ้างคนงานพม่าหรือในบังคลาเทศหลังการบอยคอตสินค้าเด็กที่เป็นแรงงานต้องกลายเป็นโสเภณีดังนั้นจึงต้องเน้นการมีส่วนร่วมให้เห็นว่ามาตรฐานของแต่ละที่อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมรวมถึงต้องให้การศึกษากับผู้บริโภคในยุโรปด้วย

.

นุสรา อดีตเจ้าหน้าที่โครงการสิทธิมนุษยชนบริษัทอาดิดาส และนักศึกษาปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นิยามของซีเอสอาร์ค่อนข้างมีหลากหลายสำหรับนักศึกษาบริหารธุรกิจอาจมองว่ามันคือการผูกมัดตนเองโดยสมัครใจของบริษัทที่จะรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม  

.

ขณะที่นิยามของ OECD จะกว้างกว่านั้น ที่ผ่านมาบริษัทในประเทศไทยที่ทำซีเอสอาร์มักมีเหตุผลจากการถูกบังคับจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ และส่วนใหญ่จะเน้นไปที่รูปแบบสาธารณกุศล ดังนั้น หากจะต่อสู้เรื่องซีเอสอาร์ก็ควรเริ่มต้นตั้งแต่การนิยามความหมาย โดยต้องสร้างความหมายใหม่ให้ซีเอสอาร์เน้น "คน" 

.

เธอกล่าวเสริมว่า ส่วนเรื่องสหภาพแรงงานในเวียดนามนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นสหภาพที่อิงฝ่ายนายจ้างทำให้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศไม่ค่อยให้การยอมรับนัก อย่างไรก็ตาม ที่เวียดนามก็ยังมีการรวมตัวกันผละงานซึ่งแสดงถึงความเข้มแข็งของสหภาพพอสมควร 

.

ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดรัสเตรียลแก๊ส กล่าวว่า ซีเอสอาร์เป็นความรับผิดชอบทางสังคมของผู้ดำเนินกิจการที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในสังคม ไม่เพียงแต่ผู้บริหาร ลูกจ้าง หรือลูกค้า แต่ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการต่อเนื่องไปอีก โดยเขายกตัวอย่างมาตรฐานแนวปฏิบัติของ OECD หรือ มาตรฐานขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของบริษัทข้ามชาติบอกว่า นายจ้างต้องเปิดเผยข้อมูลให้ลูกจ้างได้ทราบ เช่น ผลประกอบการ เงินเดือนฝ่ายบริหารและส่งเสริมการปรึกษาหารือด้วยความบริสุทธิ์ใจ

.

เขายกตัวอย่างบริษัทในไทยแห่งหนึ่งซึ่งขณะนี้เลิกจ้างพนักงาน 1,900 กว่าคนว่า บริษัทนั้นอยู่ในกลุ่ม OECDถ้าเขาเปิดเผยผลประกอบการว่าขาดทุนอยู่เท่าไร ต้องการลดคนงานเท่าไร ที่จะอยู่ได้ สิ่งที่จะตามมาคือการหาทางออกร่วมกัน เช่น หากบริษัทจำเป็นต้องลดคนงานลงครึ่งหนึ่ง คนงานช่วยหาทางออกเป็นการเปลี่ยนกันทำงานคนละครึ่งเดือน ซึ่งนับเป็นแรงงานสัมพันธ์ที่ดีเชิงสร้างสรรค์ แต่บริษัทข้ามชาติหลายแห่งกลับไม่มีการหารือนำไปสู่ปัญหาสังคม แต่ถ้านำหลัก OECD มาใช้ สังคมจะยั่งยืน เพราะเมื่อคนงานมีงานทำ ก็มีเงินใช้จ่าย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียน

.

ฉัตรชัย แสดงความเห็นว่า ถ้าสถานประกอบการเปิดเผยข้อมูลว่า ธุรกิจจำเป็นต้องจ้างงานเท่าไรจึงจะอยู่ได้ก็เชื่อว่าลูกจ้างพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะหากนายจ้างอยู่รอด ลูกจ้างก็อยู่รอด เพียงแต่เรายังไม่ได้คุยกันอย่างเปิดอก เรื่องที่มีการสไตร์ทนั้น บอกตรงๆ ว่า คนงานก็ไม่อยากทุบหม้อข้าวตัวเอง นั่นคือหนทางสุดท้ายที่เขาเลือกเมื่อไม่มีทางไป

.

สมหมาย สราญจิตร์ รองประธานสหภาพแรงงานของบริษัทNorske Skog ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาตินอร์เวย์ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์อยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรีกล่าวถึงตัวอย่างของสหภาพของเธอว่าบริษัทนี้ค่อนข้างมีโครงสร้างที่ดีโดยบริษัทแม่ในประเทศนอร์เวย์นั้นจะให้มีการคัดเลือกตัวแทนคนงานเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารด้วยและจะทำหน้าที่ดูแลคนงานในสาขาต่างๆทั่วโลกด้วยทางบริษัทยังเปิดโอกาสให้แผนกบุคคลและสหภาพจากทั่วโลกประชุมร่วมกันทุกๆ1 ปีครึ่งนอกจากนี้บริษัทยังทำตามมาตรฐานต่างๆหลายอย่างโดยไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์

.

"ยกตัวอย่างว่า จะลดต้นทุนยังต้องเชิญสหภาพเข้าไปนั่งฟังด้วย เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดเขาเลยให้รับรู้แต่แรก เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา สุดท้ายคุยกันจนมีการตั้งโครงการสมัครใจลาออก ผลตอบแทน 25 เดือนให้มากกว่ากฎหมาย" สมหมายกล่าว 

.

นอกจากนี้สหภาพแรงงานในประเทศนอร์เวย์ยังมีการผลักดันให้บริษัทลงนามในข้อตกลงสากลเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานสัมพันธ์และสภาพการทำงานที่ดีในสถานประกอบการของบริษัท Norske Skog ทั่วโลกด้วย ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงแรกๆ ที่คุ้มครองสิทธิแรงงานไปไกลกว่ากฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ มาจากการปรึกษาหารือของทุกฝ่าย รวมทั้งยังคุ้มครองครอบคลุมไปยังแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพด้วย 

.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในอดีตมีวรรณกรรมที่บอกว่าบรรษัทข้ามชาติเป็นสัตว์ร้ายที่ทำลายสังคม แต่วันนี้กลายเป็นว่าระบบการคุ้มครองแรงงานของบรรษัทข้ามชาตินั้นดีกว่าผู้ประกอบการในประเทศ กลายเป็นพอเราต้องเผชิญความจริงในสังคมที่เริ่มเปลี่ยนไป แต่ก็มักมีข้ออ้างเรื่องปัญหาในการแข่งขันเพราะจะทำให้ต้นทุนสูง ข้อขัดแย้งนี้นับเป็นภารกิจท้าทายในการต่อสู้เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงาน

.

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมซึ่งคนส่วนใหญ่รู้สึกห่างไกลกับคำว่าแรงงาน แม้ว่าตนเองจะเป็นแรงงานด้วยก็ตาม ยังไม่ต้องกล่าวถึงความเข้าใจต่อความจำเป็นของสหภาพแรงงาน จึงต้องมีการขยายความว่า แรงงานเป็นเรื่องที่มากกว่าสมาชิกของสหภาพ คนทั้งประเทศเป็นผู้ผลิต ต้องขยายความ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นสหภาพเอาเรื่องพวกนี้ไปบวกทำให้คนในสังคมต้องจ่ายเงินมากขึ้น

.

"ตอนนี้คุณอาจเป็นผู้บริโภค แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นแรงงาน ดังนั้น จึงเป็นปมของขบวนการแรงงานว่าจะสื่อสารกับสังคมให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญได้อย่างไร เพราะกำลังเจอสภาพที่คนรู้สึกว่า อยากได้ของถูก เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิต จึงไม่รู้สึกว่าทำไมต้องบวกอีก 10-20 บาท เพื่อซื้อของบริษัทที่ดูแลแรงงานดีกว่าอีกบริษัท" พิชญ์กล่าว

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท