เนื้อหาวันที่ : 2006-11-16 18:54:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 988 views

ดัชนีอุตฯ ยังไปต่อได้สวยถึงสิ้นปี เหตุ นโยบายรัฐหนุน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยจบไตรมาส 3 ดัชนีอุตสาหกรรมยังไปได้สวย การส่งออกแรงหนุนหลัก ผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศยังให้น้ำหนักการลงทุนต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลัก ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-เหล็ก ขยายตัวดี ชี้นโยบายรัฐที่ชัดเจนดึงเงินลงทุนกลับมา

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยจบไตรมาส 3 ดัชนีอุตฯไปได้สวย การส่งออกแรงหนุนหลัก ผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศยังให้น้ำหนักการลงทุนต่อเนื่อง อุตฯหลัก ยานยนต์-อิเล็กฯ-เหล็ก ขยายตัวดี ชี้นโยบายรัฐที่ชัดเจนดึงเงินลงทุนกลับมา 

.

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จากการจัดทำรายงานดัชนีอุตสาหกรรมรายเดือนว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมา ดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.31 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่แข็งแกร่ง เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

.

ดร.อรรชกา กล่าวว่า สศอ.ได้มีการประเมินสถานการณ์ อุตสาหกรรมในรายสาขาเพื่อประเมินแนวโน้มสำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี ในอุตสาหกรรมหลัก ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยคาดว่าปี 2549 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคอุตสาหกรรม (GDP ภาคอุตสาหกรรม) จะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่วนใหญ่เติบโตได้ดี และนอกจากนี้ยังประเมินว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังมีทิศทางการขยายตัวค่อนข้างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2550 โดยประเมินการขยายตัวอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ในไตรมาสสุดท้ายของปีดังนี้  

.

อุตสาหกรรมอาหาร จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าอาหารเพื่อรองรับเทศกาลรื่นเริงในช่วงปลายปี และเมื่อพิจารณาทิศทางการส่งออกคาดว่าจะมีการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่า คิดเป็นร้อยละ 27 และ ร้อยละ 12 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมจะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของทุกปีจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาสูง แต่ในไตรมาสที่ 4 สำหรับปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวสูงสุด โดยการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่าไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คาดว่าการผลิตและจำหน่ายจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เริ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 เพราะเป็นช่วงการก่อสร้าง และผลพวงมาจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายจึงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพื่อใช้ในการซ่อมแซม สำหรับการส่งออกคาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ยังคงชะลอตัว จึงคาดว่าการผลิตปูนซีเมนต์จะขยายตัวร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตในไตรมาสที่ 4 จะลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 โดยส่วนหนึ่งจะมีการใช้เหล็กในการซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม สำหรับการส่งออก ก็ยังมีการขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เป็นต้น ซึ่งได้ราคาสูงกว่าในประเทศเนื่องจากตลาดภายในประเทศชะลอตัว

.

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  คาดว่าจะยังคงขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้า Consumer Electronics ของโลกที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น โน๊ตบุค เครื่องเล่นMP3 และ DVD ซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของสินค้าที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive (HDD) และ IC ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20-30 และร้อยละ 20 ตามลำดับ   

.

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน  ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะถือเป็นช่วงที่มีการขยายตัวมากที่สุดทั้งการผลิตและจำหน่าย โดยค่ายรถยนต์แต่ละค่ายมักจะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพื่อเป็นทางเลือก อย่างไรก็ตามสำหรับปีนี้ ตลาดในประเทศมีการขยายตัวไม่มากนักเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เข้ามากระทบทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอลง แต่สำหรับการส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2549 การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 30 ส่งผลต่อสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 45 และการส่งออกร้อยละ 55 จากการผลิตทั้งหมด

.

สำหรับรายละเอียดของตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2549 จากการรวบรวมทั้งสิ้น 53 กลุ่มอุตสาหกรรม 215 ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมผู้ประกอบการ 2,121 โรงงานเพิ่มขึ้นทุกตัวชี้วัด เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2548 โดยดัชนีอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 163.74 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 172.50 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.26 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 173.89 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.29 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 190.42 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.92 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 177.05 เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.08 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 134.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 68.27

.

ปัจจัยหนุนหลักที่ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่สำคัญ ได้แก่  การผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ การผลิตรถยนต์ การผลิตเบียร์ การผลิตน้ำมันพืช และการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออก  และนอกจากนี้ยังมีบางอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น การจัดเตรียมและการปั่นเส้นด้ายสิ่งทอ การผลิตโทรทัศน์โดยเฉพาะขนาดต่ำกว่า 21 นิ้ว การผลิตเฟอร์นิเจอร์ การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์รวมไปถึงน้ำดื่มบรรจุขวด  และการผลิตกระดาษ   

.

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)