เนื้อหาวันที่ : 2009-08-03 13:18:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 468 views

พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ค.52 ลดลง 4.4%, Core CPI ลดลง 1.2%

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ก.ค.52 อยู่ที่ 104.7 ลดลง 4.4% จากเดือน ก.ค.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มิ.ย.52 ส่วน CPI เฉลี่ยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.52) ลดลง 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

"เงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากดัชนีราคาหมวดพาหนะ ขนส่ง และการสื่อสารที่ลดลงถึง 18%...ราคาน้ำมันเดือนกรกฎาคม 1 ขึ้นไปสูงสุด แต่พอมาเดือนกรกฎาคมปีนี้ ราคาน้ำมันลดต่ำลง ประกอบกับรัฐบาลต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือนออกไปอีกจนถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค" นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

.
ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.51 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ ก.ค.ปีนี้ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 64.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
.

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ก.ค.52 อยู่ที่ระดับ 102.5 ลดลง 1.2% จากเดือน ก.ค.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มิ.ย.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.52) ยังเพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.ค.52 อยู่ที่ 116.0 เพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือน ก.ค.51 แต่ลดลง 0.3% จากเดือน มิ.ย.52 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.3 ลดลง 9.7% จาก ก.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.1% จาก มิ.ย.52 

.

เหตุที่อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.52 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% เป็นผลจากดัชนีหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลง 18%, หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ลดลง 10.1%, หมวดเคหสถาน ลดลง 5.1% และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 3.4% 

.

นายศิริพล ยังยืนยันว่า การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 ยังไม่ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากต้องพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงาน)ด้วย เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่งติดลบ 3 เดือนต่อเนื่องกันเท่านั้น นอกจากนี้การจะพิจารณาว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น อัตราการว่างงาน, การส่งออก นำเข้า และเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศด้วย 

.

สำหรับอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน มิ.ย.52 ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ มาเลเซีย อยู่ที่ -1.4%, ฟิลิปินส์ อยู่ที่ 1.5%, อินโดนีเซีย อยู่ที่ 3.7%, สิงคโปร์ อยู่ที่ -0.5%, จีน อยู่ที่ -1.7%, ญี่ปุ่น -1.8% และเวียดนาม 3.9% ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ -1.4%