เนื้อหาวันที่ : 2009-07-31 16:05:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1117 views

เวที รมต.พลังงานอาเซียน เห็นชอบแผนลงทุนด้านพลังงาน มูลค่า 4 แสนลบ.

ที่ประชุม รมว.พลังงานอาเซียน เห็นชอบแผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียน 2010-2015 มูลค่า 4 แสนล้านบาทใน 5 ปี ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานต่อ GDP ของภูมิภาคอย่างนี้ 8% หวังดันอาเซียนเป็น Asia's Biofuels Hub

.

ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 27 เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า โดยมีนายวรรณรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.พลังงาน ร่วมประชุม ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียน 2010-2015 (Asean Plan of Action for Energy Cooperation หรือ APAEC) ตามที่ไทยในฐานะประธานการจัดทำแผนยกร่างเสนอ โดยแผนงานนี้ จะครอบคลุมประเด็นที่สำคัญ คือ

.

การวางโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า (Asean Power Grid) โครงข่ายท่อส่งก๊าซอาเซียน (Trans Asean Gas Pipeline) โดยเฉพาะบริเวณที่มีแหล่งก๊าซสูง เช่น แหล่งนาทูน่า ประเทศอินโดนีเซีย  การใช้พลังงานจากถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technologies) ตลอดจนการวางมาตรฐานด้านราคา (Coal Price Index)  การอนุรักษ์พลังงานและ ประหยัดพลังงาน  แผนการใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาค  นโยบายและแผน ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Preparedness Scheme) และ แผนความร่วมมือ พลังงานนิวเคลียร์ 

.

โดย ภายใต้แผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียน 2010-2015 มีกรอบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานต่อ GDP ของภูมิภาคลงอย่างน้อย 8% และผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนอย่างน้อย 15% รวมทั้งการผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็น Asia's Biofuels Hub และ ก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 (พ.ศ. 2558) 

.

นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่จะนำระบบ Score-Card มาใช้ในการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้ง ให้มีการจัดทำ Mid-Term Review เพื่อติดตามความก้าวหน้าของแผนงานต่าง ๆ และบรรจุให้ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ เป็นหนึ่งในแผนงานที่จะทำร่วมกัน และ ที่ประชุมยังได้รับหลักการที่จะให้มีการพัฒนา Asean Coal Security Agreement (ACSA) เพื่อช่วยเหลือประเทศอาเซียนด้วยกันในยามที่อาจเกิดการขาดแคลนถ่านหินในอนาคต 

.

ส่วนกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนและพันธมิตร ได้แก่ การเน้นความร่วมมือด้านอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน รวมทั้ง การผลักดันการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) ซึ่งสหภาพยุโรปจะเป็นตลาดนำเข้าไบโอดีเซลที่สำคัญในอนาคต 

.

ทางด้านความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ  หรือ GCC ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิก ของ OPEC ไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใน 2 ระดับ คือ ระดับรัฐมนตรี และ ระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งชาติอาเซียนมีความสนใจ ในเรื่องแหล่งพลังงานปิโตรเลียมของ GCC และ GCC สนใจการพัฒนาพลังงานทดแทนของอาเซียน

.

โดยที่ประชุมอาเซียนมีมติสนับสนุนให้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต (UAE) เป็นประเทศที่ตั้งที่ทำการใหญ่ขององค์กร IRENA หรือ ทบวงพลังงานทดแทนโลก ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นภายใต้สหประชาชาติ เพื่อดูแลงานด้านพลังงานทดแทน โดย UAE มีแผนจะพัฒนาเมืองอาบูดาบีให้เป็นเมืองแห่งพลังงานแสงอาทิตย์