เนื้อหาวันที่ : 2009-07-31 12:23:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2455 views

คนอุบลฯ ร้องจังหวัดฯ ทบทวนกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้า จวกอุตสาหกรรมไม่จริงใจ

ชาวบ้าน อ.สว่างระวีวงศ์ ชี้กระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียและผลกระทบ จี้ผวจ.อุบลฯ ทบทวนโดยด่วน ก่อนเปิดเวทีรับฟังฯ อุตสาหกรรมงัดข้อ อ้างชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ

.

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนชาวบ้าน 5 คนจากบ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางมาร้องขอให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ได้ทบทวนกระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) ของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 เพราะมติที่ประชุมได้ตัดไม่ให้มีกระบวนการการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นถึงผลดีผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก่อนการเปิดเวทีรับฟังฯ

.

สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี และหมู่บ้านใกล้เคียงได้คัดค้านการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่กลางชุมชนหมู่ 17 บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนถึงปัจจุบันนั้น

.

ต่อมา จังหวัดอุบลราชธานีได้มีคำสั่งปรับปรุงการแต่งตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานรัฐ 12 คน ตัวแทนส่วนท้องถิ่น (อบต.และผู้ใหญ่บ้าน ) 8 คน ตัวแทนบริษัท 1 คน ตัวแทนนักวิชาการที่ชาวบ้านเสนอ 4 คน ตัวแทนชาวบ้าน 7 คน รวม 32 คน และให้นัดประชุมคณะทำงานฯ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2552ที่ผ่านมา

.

โดยในวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ได้มีการประชุมเกิดขึ้นเพราะในที่ประชุมได้นับองค์ประชุมซึ่งมีคณะทำงาน 16 คน ทำให้ที่ประชุมมีจำนวนกึ่งหนึ่งของคณะทำงานฯ ที่ประชุมจึงได้มีการพิจารณากระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) และมีมติที่ประชุมคือ จะให้มีการเปิดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลต่อชาวบ้านในครั้งต่อไป โดยไม่มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ตามที่ชาวบ้านร้องขอให้ดำเนินการก่อนจะมีการเปิดเวทีชี้แจงข้อมูล ฯ

.

นางสาวสดใส สร่างโศรก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านเดินทางมาเพื่อร้องขอให้รองผู้ว่าราชการ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานฯ ให้มีการประชุมคณะทำงานใหม่อีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2552 เวลา 13.30 น. เพื่อทบทวนมติเรื่อง การกำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ใหม่ ซึ่งชาวบ้านมีข้อเสนอต่อกระบวนชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการสร้างไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) คือ ให้มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นถึงผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ อย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะเปิดเวทีให้ข้อมูลชาวบ้าน

.

ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลทั้งเรื่องของโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ และข้อมูลผลดีผลเสียและข้อมูลชุมชนโดยเฉพาะที่ตั้งโรงไฟฟ้าฯมีความเหมาะสมเพียงใด และเวทีสุดท้าย คือ การแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านต่อการสร้างโรงไฟฟ้าฯ ในชุมชนแบบเปิดและแยกเป็นรายหมู่บ้าน ส่วนงบประมาณการศึกษานั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะเป็นผู้สนับสนุน ตามที่ชาวบ้านร้องขอใช้สิทธิใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 11

.

ทางจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้ นายกรณ์ มาตย์นอก ป้องกันจังหวัดฯ มารับเรื่องชาวบ้านแทนรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ติดภารกิจอยู่ที่อื่น พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานีคือ นายเชวงศักดิ์ หัสดิน หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี และนายวีระชาติ พิมพ์พัฒน์ เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน

.

นายวีระชาติ พิมพ์พัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือในการประชุมที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมฯ ไม่มีอำนาจในการสั่งให้เปิดการประชุมใหม่ แต่อยากให้ชาวบ้านไปเสนอความคิดในเวทีชี้แจงข้อมูลที่จะจัดขึ้นในครั้งต่อไปตามมติการประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

.

นางสาวสดใส สร่างโศรก กล่าวว่า ชาวบ้านไม่เข้าร่วมการประชุมและ ขอเลื่อนการประชุมของจังหวัดฯ เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม ที่ผ่านมา ต่อมา รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายชาตรี ดิเรกศรี ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานชี้แจงข้อมูลฯ เพราะการประสานงานของนายเชวงศักดิ์ หัสดิน หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเลขานุการ คณะทำงานชี้แจงข้อมูล ฯ มีความกระชั้นชิดเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นักวิชาการไม่สามารถจัดสรรเวลาหรือเปลี่ยนแปลงตารางการสอน หรือการนัดหมายได้ จึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้

.

นอกจากนี้ นักวิชาการบางท่านยังไม่ได้รับหนังสือฯ และนายเชวงศักดิ์ หัสดิน เลขานุการคณะทำงานฯ ยังแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้มีเพียงวาระแจ้งให้ทราบเรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานใหม่ และเรื่องข้อมูลการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าเท่านั้น ไม่มีวาระที่เกี่ยวข้องกับนักวิชาการ และยังไม่มีวาระเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และว่า ถ้าหากตัวแทนชาวบ้านไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ก็จะหารือวาระการพิจารณากระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งต่อไป

.

นางสาวสดใส กล่าวว่า ท้ายที่สุดชาวบ้านก็ถูกข้าราชการหลอก เพราะที่ประชุมมีมติ ให้เปิดเวทีชี้แจงข้อมูลเลยโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบก่อน โดยที่ประชุมใช้วิธีนับองค์ประชุม ซึ่งคณะทำงานฯ มีทั้งหมด 32 คน มาประชุม 16 คน ถือว่าประชุมได้ ซึ่งความจริงแล้ว คณะทำงานรับฟังความคิดเห็นฯ ชาวบ้านได้เสนอตัวแทนบ้านละ 2 คน แต่การแต่งตั้งเหลือบ้านละ 1 คน ทำให้สัดส่วนของชาวบ้านมี 7 คนน้อยกว่าราชการและส่วนท้องถิ่นที่มีถึง 20 คน หากใช้วิธีนับเสียงนับจำนวน มันก็ไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

.

นางสาวสดใส ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ไม่มีความจริงใจที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจการอนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าฯ พยายามดำเนินการอย่างรวบรัด เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่า การสร้างโรงงานไฟฟ้าในชุมชนเป็นเรื่องความเป็นความตายของชาวบ้าน การกระทำดังกล่าวเป็นการดูถูกชาวบ้าน อีกทั้งยังละเมิดไม่รับรู้สิทธิ์ของชาวบ้านในการปกป้องทรัพยากรของท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ

.

นายกรณ์ มาตย์นอก ป้องกันจังหวัด กล่าวกับตัวแทนชาวบ้านว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอรองผู้ว่าราชการจังหวัดและจะแจ้งให้ตัวแทนชาวบ้านทราบภายในวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจึงได้เดินทางกลับ 

.
หมายเหตุ

การปรับปรุงคณะทำงาน ชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิง ชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด แต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2552 มีองค์ประกอบ ดังนี้
๑. รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ด้านเศรษฐกิจ ) (นายชาตรี ดิเรกศรี) ประธาน
๒. อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี รองประธาน
๓. สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี หรือผู้แทน คณะทำงาน
๔. ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๕. พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี
๖. ป้องกันจังหวัดอุบลราชธานี
๗. ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7
๘. นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ ประธาน
๙. ผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอสว่างวีระวงศ์
๑๐. นาย ฐากรู ประจญศึก ปลัดอำเภอสว่างวีระวงศ์
๑๑. คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๑๒. นายขรรค์เพชร ชายทวีป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๑๓. นายพฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๑๔. นายศุภะกิจ นันทวรการ มูลนิธินโยบายสาธารณะสุขภาวะ หรือผู้แทน
๑๕. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง
๑๖. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งมะแลง
๑๗. กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด
๑๘. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลท่าช้าง
๑๙. นายพรหมมา มิ่งแนน บ้านเลขที่ 66
๒๐. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ตำบลท่าช้าง
๒๑. นายรุ่งทวี คำแข็ง
๒๒. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 ตำบลท่าช้าง
๒๓. นางไสว พันพงศ์แข็ง
๒๔. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 17 ตำบลท่าช้าง
๒๕. นายบุญชู สายธนู
๒๖. นางสาวสดใส สร่างโศรก
๒๗. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ตำบลบุ่งมะแลง
๒๘. นางเตี้ย นนทเสน
๒๙. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ตำบลบุ่งมะแลง
๓๐. นางหนูเพียร อุทัย
๓๑. หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี
เลขานุการคณะทำงาน
๓๒. นายวีรชาติ พิมพ์พัฒน์ เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน

.
อำนาจหน้าที่ 

กำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายในรัศมี 2 กิโลเมตร รอบบริเวณที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน ผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล(แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท