เนื้อหาวันที่ : 2009-07-30 15:49:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1635 views

เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรมไทย

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือสถาบันแสงซินโครตรอน ถ่ายทอดความสำเร็จ "เทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง" สู่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มั่นใจเกิดประโยชน์หลายมิติ

.

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)   จัดเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์  เรื่อง "เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรมไทย"  โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์  แพสุวรรณ  รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  เปิดการเสวนา  พร้อมทั้งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก สถาบันแสงซินโครตอน (องค์การมหาชน) และบริษัท  องค์การเภสัชกรรม  จำกัด  ร่วมให้ความรู้  ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

.

รศ.ดร.วีระพงษ์  แพสุวรรณ  รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวว่า "เทคโนโลยีสุญญากาศ"   เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทย   ดังนั้น การนำเสนอความก้าวหน้าและพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศ   ของสถาบันแสงซินโครตรอน  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญญากาศให้เป็นที่รับทราบแก่บุคคลภายนอก  โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสุญญากาศในขบวนการผลิต  การถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญญากาศต่อผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติต่อไป  

.

ดร. ประยูร  ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า  เพื่อตอกย้ำภารกิจหลักในการติดตั้งและพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม และการให้บริการแสงซินโครตรอนแก่ประชาคมวิจัยไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญญากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตแสงซินโครตรอนจากประเทศญี่ปุ่น  ล่าสุดสถาบันได้พัฒนา ขีดความสามารถ "เทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง"  

.

รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศความดันต่ำระดับ1x10-10 (ทอร์) Torr (Ultra High Vacuum Components) และชิ้นส่วนเชิงกลความแม่นยำสูง (high precision mechanical components) ในระดับต่ำกว่าไมโครเมตร และการจัดสร้างปั๊มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไอออน นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่ทีมนักวิจัยและวิศวกรสามารถพัฒนาขีดความสามารถเทคโนโลยีสุญญากาศได้เป็นผลสำเร็จ    ซึ่งถือว่าเป็นค่าความดันอากาศที่ต่ำที่สุดที่สามารถทำได้ในประเทศไทยขณะนี้ 

.

สำหรับความสำเร็จที่ได้รับจากการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ      ในประเทศและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนั้น ทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศของภาครัฐและเอกชนไทย  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีสุญญากาศนี้ เช่น ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผู้ผลิตผงแม่เหล็ก และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยต่างๆ ของหน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา 

.

ซึ่งสถาบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้ส่วนสุญญากาศระดับสูง การให้คำปรึกษาการออกแบบ และผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สุญญากาศตามรูปแบบงานวิจัยที่ต้องการในราคาที่ต่ำกว่า  50 เปอร์เซนต์ แต่คุณภาพเทียบเท่าสั่งซื้อจากต่างประเทศ  รวมทั้งให้บริการตรวจสอบชิ้นส่วนสุญญากาศอีกด้วย เช่น  งานแก้ไขปัญหาระบบสุญญากาศของเครื่อง Freeze Dryer (เครื่องทำวัคซีนเหลวให้เป็นผง)  ณ บริษัท  องค์การเภสัชกรรม-   เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด  เขตอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้  จังหวัดฉะเชิงเทรา  เป็นต้น 

.

นอกจากนี้ สถาบันได้มีความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญญากาศในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศ การขึ้นรูปชิ้นงาน  การประกอบชิ้นงานที่ไม่ต้องการความซับซ้อนมากนัก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการพัฒนากำลังคนทางวิศวกรรมระดับคุณภาพและเพิ่มทักษะงานช่างฝีมือออกสู่ตลาด   ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตระหว่างสองสถาบันอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานบางส่วนนี้ถือเป็นการสนองนโยบายการสร้างงาน  สร้างเงิน  และสร้างคุณภาพชีวิต ของรัฐบาลได้อีกด้วย