เนื้อหาวันที่ : 2009-07-30 11:22:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2442 views

ทะเล 'สวนกง' กับแผ่นดินที่จะสูญเสียไป

หากที่ดิน ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากสำหรับการทำกินของคน ทะเลก็ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากด้วยเช่นกัน สำหรับเป็นแหล่งอาหารให้คนบนดินกิน คงจะมีชุมชนไม่กี่แห่งที่จะต้องสูญเสียที่ดินและท้องทะเลไปพร้อมๆ กัน ให้กับสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" อย่างบ้านสวนกง

หากที่ดิน ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากสำหรับการทำกินของคน รวมทั้งที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ แล้ว ทะเลก็ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากด้วยเช่นกัน สำหรับเป็นแหล่งอาหารให้คนบนดินกิน

.

คงจะมีชุมชนไม่กี่แห่งที่จะต้องสูญเสียที่ดินและท้องทะเลไปพร้อมๆ กัน ให้กับสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" อย่างบ้านสวนกง หมู่ที่ 11 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

.

ขึ้นชื่อว่า "อำเภอจะนะ" หลายคนคงไม่มีใครไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นที่ตั้งโครงการใหญ่ 2 โครงการที่เคยถูกต่อต้านอย่างหนัก จนเกิดเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศมาแล้วหลายครั้ง นั่นคือ โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ตั้งอยู่ในตำบลตลิ่งชัน

.

อีกโครงการคือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสงขลา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าจะนะ กำลังการผลิต 750 เมกะวัตต์ แต่โครงการหลังแรงต้านมีน้อยกว่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลป่าชิงและตำบลคลองเปียะ ริมคลองนาทับห่างจากฝั่งประมาณ 9 กิโลเมตร

.

สิ่งที่จะตามมาอีกโครงการ คือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งจะเป็นท่าเรือขนาดใหญ่น้องๆ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า เชื่อมระหว่างชายฝั่งอ่าวไทยกับชายฝั่งทะเลอันดามันที่จะมีมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ที่ทั้ง 2 โครงการ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้สำรวจและออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับการพัฒนาตามโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย คือ ไทย - มาเลเซีย - อินโดนีเซีย หรือ IMT - GT และอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

.

ที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 คือ ที่ทะเลบ้านสวนกง และมีพื้นที่พัฒนาหลังท่าเรือบนฝั่งที่บ้านสวนกงด้วยนั่นเอง

.

โดยเหตุที่เหลือพื้นที่แห่งนี้ ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและพื้นที่พัฒนาหลังท่าเรือ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ตำบลนาทับ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์มีขนาด 650 ไร่ ใกล้กับคลองนาทับ ในพื้นที่ใกล้เคียงมีบ่อสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และมีอาคารศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งอยู่ แต่ปัจจุบันเป็นอาคารร้าง ทำให้ประหยัดในการจัดหาที่ดิน

.

ขณะเดียวกันในทะเลมีระดับน้ำลึกพอสมควร โดยเส้นชั้นความลึก 10 เมตร อยู่ห่างจากชายฝั่ง 4 กิโลเมตร ระดับพื้นดินอยู่สูงจากระดับชายหาดประมาณ 3 - 4 เมตร แต่มีข้อเสียคือ มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมากและยังห่างไกลจากเส้นทางถนนสายหลัก

.

บ้านสวนกง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 80 ครัวเรือน มีอาชีพประมงชายฝั่งเป็นหลัก กับค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งก็คือสัตว์น้ำที่จับมาได้ นอกจากส่งขายให้พ่อค้าคนกลางกับเก็บไว้กินนั่นเอง

.

นายหมัด รามันยะ โต๊ะอิหม่ามบ้านสวนกง ชี้จุดที่จะมีการสร้างเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

.

นายหมัด รามันยะ โต๊ะอิหม่ามบ้านสวนกง บอกว่า หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งมาประมาณ 150 ปีมาแล้ว แต่เกือบทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เพราะทั้งหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ (น.ส.ล.: หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นหลักฐานที่แสดงเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ)

.

"แม้แต่มัสยิดประจำหมู่บ้านก็ยังไม่ได้หมายเลขทะเบียน ทำให้โต๊ะอิหม่ามและกรรมการประจำมัสยิด ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาล การช่วยหลือที่ผ่านมาจึงเป็นไปในลักษณะการบริจาคให้ความช่วยเหลือตามศรัทธา ส่วนบ้านเลขที่ชาวบ้านที่มีก็เป็นบ้านเลขที่ชั่วคราว ปัญหาก็คือ ทางการไม่สามารถจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคให้ได้อย่างเต็มที่ เช่น ไฟฟ้า"

.

นายหมัด บอกว่า ชาวบ้านเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชาวบ้านเคยไปชี้แจงกับกรรมาธิการวุฒิสภาถึงเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นนายอำเภอจะนะ รับปากว่าจะแก้ปัญหาให้ โดยมีการออกหนังสือ ภทบ.5 หรือ ใบเสร็จรับเงินค่าเสียภาษีบำรุงท้องที่แล้ว เพื่อ แสดงว่าเจ้าของที่ดินที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน

.

"ชาวบ้านอยากให้ให้ ถอน น.ส.ล.ออก แล้วมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ชาวบ้าน ตอนนั้นทางการจะออก ส.ป.ก.4-01 (ที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกร) ให้ แต่ชาวบ้านไม่ต้องการ"

.

จนกระทั่งล่าสุด ข่าวกรมขนส่งทางน้ำฯ เลือกที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ในทะเลหน้าหมู่บ้านสวนกง และจะใช้ที่ดินสาธารณะที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน 650 ไร่ดังกล่าว เป็นพื้นที่พัฒนาหลังท่าเรือนั้น ซึ่งนายหมัดบอกว่า ปัจจุบันชาวบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นมากนัก

.

นายหมัด บอกว่า เมื่อปีที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่มาสำรวจบริเวณนอกชายฝั่ง โดยชวนชาวบ้านออกไปนอนค้างคืนกลางทะเล เพื่อเจาะสำรวจและเก็บข้อมูล จุดที่ไปสำรวจห่างจากฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตร น้ำลึกประมาณ 12 เมตร ซึ่งตรงนั้นแหละ เป็นที่ที่มีสัตว์น้ำชุกชุม เป็นที่หากินสำคัญของชาวบ้านทั้ง 3 - 4 ตำบลในบริเวณใกล้เคียง

.

เขาบอกว่า ปัจจุบันในหมู่บ้านสวนกง มีเรือประมงประมาณ 100 ลำ เป็นเรือประมงพื้นบ้านแบบท้ายตัดทั้งหมด ชาวบ้านออกทะเลทุกวัน ประมาณตี 4 - 5 แล้วกลับเข้ามาตอนเที่ยงหรือบ่ายโมง

.

สัตว์น้ำที่จับได้ มีทั้งกุ้ง ปลา ปู หมึก แล้วแต่ฤดูกาลสัตว์น้ำ แต่ส่วนใหญ่ในหนึ่งเดือนจะจับสัตว์น้ำได้ 15 วัน เพราะสัตว์น้ำจะชุกชุมในช่วงข้างขึ้นเท่านั้น ขณะที่ในหนึ่งปีก็จะออกทะเลได้ 7 - 8 เดือน นอกจากนั้นก็เป็นช่วงมรสุมมีคลื่นลมแรง

.

สัตว์น้ำที่จับได้แต่ละคืน ถ้าจับได้มาสุด จะขายได้ประมาณวันละ 1 - 2 พันบาท แต่ไม่ทุกวัน ขณะที่ค่าน้ำมันตกอยู่คืนละประมาณ 200 บาท ช่วงนี้น้ำมันแพงขึ้น ก็ตกอยู่ประมาณคืนละถึง 500 บาท เครื่องมือจับสัตวืน้ำที่ใช้มีหลายประเภท แล้วแต่ฤดูกาลจับสัตว์ประเภทไหน

.

โต๊ะอิหม่ามหมัด บอกว่า เขาไม่อยากให้มีท่าเรือ เพราะถ้าต้องถมทะเลสร้างท่าเรือแล้ว พวกเขาจะไปหาปลาที่ไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำงานอะไรได้อีกแล้ว เพราะท่าเรือคงไม่รับคนแก่อย่างเขาเข้าทำงานแน่

.

"แต่ถ้าความเปลี่ยนแปลงเป็นเพราะความต้องการของพระเจ้า เราก็คงไปห้ามไม่ได้ แต่ผลกระทบก็จะมีแน่นอน"

.

เพราะตอนนี้ ทะเลก็ได้รับผลกระทบมามากแล้ว จากเรือปั่นไฟปลากะตัก ทั้งของนายทุนและของชาวบ้านเอง เพราะเราปั่นไฟ จะจับสัตว์น้ำไปหมด โดยเฉพาะปลาตัวเล็กที่ไม่ทันได้โตและขยายพันธุ์

.

นายโสะ เส็นเจริญ (สื้อขาว) กับเพื่อนๆ ชาวประมงพื้นบ้านแห่งบ้านสวนกง

.

ขณะที่นายโสะ เส็นเจริญ ชาวประมงบ้านสวนกง บอกว่า ปริเวณที่เขาจะสร้างท่าเรือน้ำลึกอยู่ห่างจากฝั่งตั้งแต่ 3 กิโลเมตรออกไปถึงประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วก็จะสร้างเขื่อนกันคลื่นออกด้านท่าเรือด้วย ตรงนี้จะทำให้ชาวประมงออกไปจับสัตว์น้ำลำบาก เพราะนอกจากจะสูญเสียที่หากินแล้ว พอจะไปหาปลาที่อื่นก็ต้องขับเรืออ้อมไปไกล จะวางอวนใกล้ๆ ท่าเรือก็หมดสิทธิ์ เพราะจะไปขวางเรือขนสินค้า

.

"จากที่พูดกันปากต่อปากของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่อยากให้มีท่าเรือนี้ทั้งนั้น ถึงจะมีท่าเรือขึ้นมา แล้วก็มีการชดเชยจนเราพอใจ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเสียไปจะมาทดแทนกันได้หรือไม่"

.

ที่ผ่านมา หน่วยเรียกประชุมชาวบ้านเรื่องนี้กันแล้วที่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ แต่ชาวบ้านสวนกงไม่ไปกันมาก แต่ไม่เคยมาประชุมกับชาวบ้านในหมู่บ้านสวนกงเลย มีเพียง ดร.มานะ ภัตรพานิช ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดังกล่าว ที่มาคุยกับชาวบ้านแล้ว แต่ชาวบ้นก็ยืนยันว่าไม่เอาท่าเรือนำลึก ชาวบ้านเคยไปคุยกับคนบ้านอื่นที่อยู่ริมทะเล เช่น ที่ตำบลตลิ่งชัน เขาก็บอกว่าไม่เอาท่าเรือน้ำลึกเหมือนกัน

.

"ที่ผ่านมา เขาเรียกเราไปประชุมกับชาวบ้านหมู่บ้านอื่น สมมุติว่ามีคนหมู่บ้านอื่นที่ไม่ติดทะเลหรือไม่ได้หากินกับอยู่ 100 คน แล้วเรียกชาวบ้านสวนกงไป 50 คน ประชุมกัน แล้วก็ให้ยกมือว่าใครเห็นด้วยที่จะให้สร้างท่าเรือ ถึงชาวบ้านสวนกง 50 คนจะไม่เห็นด้วย เราก็สู้กับอีก 100 คนไม่ได้ ถ้าลงมติอย่างนี้เราไม่ชนะอยู่แล้ว"

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท