ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขยับขึ้น 83.5 รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่ม วอนรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จี้แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) |
. |
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมิถุนายน 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 839 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 83.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 78.5 |
. |
โดยได้รับผลดีจากปริมาณคำสั่งซื้อ และยอดขายโดยรวมที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการผลิต และผลประกอบการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยังคงเป็นผลมาจากนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ตลอดจนสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เป็นแรงกดดันให้ระดับความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก และด้วยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 และติดต่อกันเป็นเดือนที่ 39 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้น ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก |
. |
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.0 ทรงตัวจากเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 93.5 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่า ถึงแม้ความเชื่อมั่นในด้านปริมาณคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศจะปรับตัวดีขึ้น แต่ด้วยค่าดัชนีฯ ดังกล่าวอยู่ในระดับทรงตัว และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 |
. |
นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทั้งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจนและเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอจากการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน |
. |
รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ระดับราคาน้ำมันที่เริ่มกดดันภาวะต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น และล่าสุด สถาณการณ์ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของภาคอุตสาหกรรมได้ในระยะถัดไป |
. |
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายขนาด ทั้งอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยได้รับผลดีจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายเป็นสำคัญ ส่งผลให้เริ่มมีการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก |
. |
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ยังค่อนข้างกังวลต่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการได้ |
. |
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายเป็นสำคัญ ส่งผลให้เริ่มมีการผลิตมากขึ้น ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากยอดขายโดยรวมปรับตัวลดลง |
. |
ประกอบกับภาวะะต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการลดต่ำลง ทั้งนี้การปรับลดลงในด้านยอดขาย (ที่แตกต่างจากภาคอื่น) เกิดจากการหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ทำให้แรงงานในพื้นที่มีรายได้ลดลง ตลอดจนเกษตรกรบางส่วนต้องเตรียมเงินที่ได้มาลงทุนเพาะปลูกข้าวในช่วงหน้าฝนนี้ ประกอบกับเมื่อราคาสินค้าหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยอดขายปรับลดลง |
. |
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง2 กลุ่ม (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ได้รับผลดีจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการดำเนินมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น |
. |
ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อรวมและยอดขายในประเทศที่สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มเน้นตลาดต่างประเทศ ได้รับผลดีจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยเริ่มมีมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นจนทำให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ผลประกอบการยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง |
. |
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ ผลกระทบด้านราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของภาคอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย |
. |
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือให้ภาครัฐสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระตุ้นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ |
. |
ทั้งนี้ควรกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในระดับสูง พร้อมทั้งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อไม่ให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ และควรมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้น |