ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพบผู้บริหารแบงก์ชาติโวยแบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในจังหวะที่คำสั่งซื้อเริ่มฟื้นตัว อ้างเกณฑ์ภาครัฐเข้มงวดต้องตั้งสำรอง
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพบผู้บริหารแบงก์ชาติโวยแบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในจังหวะที่คำสั่งซื้อเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว โดยอ้างว่าเกณฑ์ภาครัฐเข้มงวดต้องตั้งสำรอง ขณะที่รองผู้ว่า ธปท.มองครึ่งปีหลังแนวโน้มสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ดีตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สภาพคล่องสูง อาจทำให้แบงก์พาณิชย์ต้องหันกลับมาแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อมากขึ้น |
. |
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) |
. |
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี 7 สมาคมเข้าพบผู้บริหาร ธปท.ในวันนี้เพื่อแจ้งปัญหาและอุปสรรคในการปรับตัว สภาพคล่อง และการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นการหารือต่อเนื่องจากการพบปะกับตัวแทนธุรกิจเอสเอ็มในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ธปท.สามารถรวบรวมประเด็นต่าว ๆ ได้แล้ว 2-3 ประเด็นที่จะต้องไปตามต่อ |
. |
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แจ้งว่ามีปัญหาด้านสภาพคล่องมากที่สุด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาคำสั่งซื้อลดลงไปมากตามการชะลอตัวของการบริโภคที่ได้รับกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งเงินสดในการชำระค่าสินค้าและวัตถุดิบ ขณะที่แบงก์พาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ |
. |
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังต้องการให้แบงก์พาณิชย์ผ่อนผันการชำระหนี้ให้กับเอสเอ็มอีที่มีปัญหา และยอมรับว่ามีปัญหาในการหาข้อมูลทำธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินภาวะตลาดไม่ได้ จึงไม่สามารถขยายการลงทุนได้ ซึ่งธปท.มองว่าการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ และเอสเอ็มอียังกังวลต่อมาตรการทางด้านภาษีของทางการที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)กับประเทศต่าง ๆ |
. |
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่ามีปัญหาในการขอสินเชื่อจากแบงก์พาณิชย์ โดยแบงก์มักจะอ้างว่าติดขัดเกณฑ์ของธปท.ที่กำหนดให้แบงก์ต้องตั้งสำรองทันทีหากลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งจุดนี้ธปท.รับจะไปหารือกับแบงก์พาณิชย์ |
. |
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง ผู้ประกอบการระบุว่าเริ่มเห็นคำสั่งซื้อเข้ามา ดังนั้น จึงต้องการสินเชื่อหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อประคองตัวให้ธุรกิจเดินไปได้ก่อน และไม่เป็น NPL แต่การขยายตัวของสินเชื่อครึ่งปีหลังเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก จากที่ครึ่งปีแรกสินเชื่อหดตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว หากสินเชื่อขยายตัวมากก็คงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ |
. |
นายสรสิทธิ์ กล่าวว่า ครึ่งปีแรกสินเชื่อทั้งระบบอยู่ที่ 5.9 ล้านล้านบาท ลดลง 0.2 ล้านล้านบาท เทียบกับสิ้นปี 51 ที่อยู่ในระดับ 6.1 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของสินเชื่อ SME ณ สิ้นมิ.ย.52 ลดลงเหลือ 2.3 ล้านล้านบาท จาก 2.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 51 ซึ่งสาเหตุมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อป้องกันปัญหา NPL ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่กันไปใช้ทางเลือกในการออกหุ้นกู้ |
. |
ขณะที่คำสั่งซื้อลดลง 20-25% ตามความต้องการบริโภคสินค้า แล้วแต่ภาคอุตสาหกรรม บางภาคก็ลดมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลงด้วย เช่น นักท่องเที่ยวหายไป 40% อุตสาหกรรมอื่น ๆ ลดลง 20% ทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลง |
. |
ด้านนายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ Gross NPL ของสินเชื่อ SME ทรง ๆ ตัวลดลงเล็กน้อย ณ สิ้น มิ.ย.52 อยู่ที่ 5.4% หรือ 4 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นพ.ค.52 อยู่ที่ 5.5% แต่ทิศทางยังตอบจยากต้องดูทิศทางเศรษฐกิจ |
. |
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง และสภาพคล่องในระบบที่อยู่ในระดับสูง และสภาพตลาดที่ดีขึ้น น่าจะทำให้สินเชื่อโดยรวมทั้งระบบมีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้แบงก์พาณิชย์มีการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งได้เริ่มเห็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาในตลาดบ้างแล้ว |