พาณิชย์ขนผู้ประกอบการไทยเจรจาขยายตลาดและการขนส่งสินค้าผักผลไม้ไทยในตลาดยุโรป เล็งพัฒนาสนามบินมิวนิค หวังลดต้นทุนและคงความสดให้ถึงมือผู้บริโภคในยุโรปกลาง
พาณิชย์เผยความคืบหน้าหลังเจรจาความร่วมมือเพิ่มช่องทางการตลาดและการขนส่งสินค้าผักและผลไม้สด ในภูมิภาคยุโรป พัฒนาสนามบินมิวนิคเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากอัมสเตอร์ดัมและแฟรงเฟิร์ตหวังลดต้นทุนและคงความสดถึงมือผู้บริโภคในยุโรปกลางได้เร็วขึ้น |
. |
ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าระหว่าง วันที่ 6-7 กรกฎาคม 2552 ได้นำคณะผู้ประกอบการภาคเอกชนประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเจรจาเพื่อขยายตลาดและการขนส่งสินค้าผักผลไม้ไทยในตลาดยุโรป ณ ประเทศเยอรมนี |
. |
และติดตามความคืบหน้าในการก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าเน่าเสียง่ายไทย (Thai Perishable Distribution Center at Munich : TMP) ที่สนามบินมิวนิคเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการส่งออกสินค้าผัก ผลไม้ไทยไปสู่ตลาดยุโรป ซึ่งปกติจะส่งผ่านเมืองอัมสเตอร์ดัมและนครแฟรงเฟิร์ต ซึ่งเป็นช่องทางนำเข้าเก่าแก่ที่มีศักยภาพและความพร้อมในเรื่องการจัดการสินค้าเน่าเสีย มีศูนย์ Perishable แบบครบวงจร เพื่อกระจายสู่เมืองต่างๆ ในประเทศเยอรมนีและประเทศใกล้เคียง |
. |
สนามบินมิวนิคเป็นสนามบินเพื่อการขนส่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเยอรมนี มีปริมาณการขนส่งสินค้า 450,000 ตัน และมีความพร้อมในการเป็น Perishable Distribution Center ได้ ปัจจุบันมีส่วนให้บริการแล้วขนาดพื้นที่ 1,500 ตรม. และมีโครงการขยายเพิ่มเติมอีก 750 ตรม.ในปี 2555 และสนามบินมีแผนขยายลู่วิ่งเพิ่มเติมอีก 1 ลู่ให้แล้วเสร็จในปี 2554 (จากเดิมมี 2 ลู่วิ่ง) |
. |
สนามบินมิวนิคตั้งอยู่ในศูนย์กลางของยุโรปกลาง/ ตะวันออก จึงเหมาะสมที่จะให้บริการในเขตเยอรมันตอนใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค อิตาลีตอนบน โดยจะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าถูกลง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านราคา และสินค้ายังคงความสดกว่าการส่งผ่านท่าเรือ/ สนามบินทางตอนเหนือของยุโรป |
. |
ศูนย์กระจายสินค้าเน่าเสียง่ายไทย (Thai Perishable Distribution Center at Munich : TMP) เป็นโครงการที่มีการลงนามข้อตกลงระหว่างสนามบินมิวนิค / Munich Cargo Gate บริษัทการบินไทย และสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้สินค้าผัก ผลไม้ ดอกไม้สดของไทย ขยายตัวไปสู่ยุโรปตอนใต้ของเยอรมนี ออสเตรีย อิตาลีตอนบน และยุโรปตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อตั้ง และพัฒนาให้เป็นศูนย์ Air Cargo แห่งใหม่ของไทย |
. |
ปัจจุบันมีการนำเข้าผัก ผลไม้จากไทยผ่านTMP ประมาณ 1.5 ตันต่อวัน โดยมีเป้าหมายจะกระตุ้นให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตันต่อวัน และมีการจัดส่งสินค้าไปจำหน่ายที่ตลาดขายส่งขนาดใหญ่ Munich Grand Market Halls มีการซื้อขายสินค้าผัก ผลไม้ ดอกไม้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะเป็นช่องทางการกระจายสินค้าไปในบริเวณต่างๆ เพื่อส่งเสริมสินค้าผักและผลไม้ไทย ผักและผลไม้ที่มีความนิยมในเมืองมิวนิค ได้แก่ |
. |
มะม่วง มะละกอ เสาวรส แก้วมังกร เงาะ มังคุด มะปราง ขนุนสัปปะรด ผักรวม (Ready - to - cook) ใบมะกรูด เห็ดชนิดต่างๆ ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือยาว นอกจากนั้นแล้ว ยังได้มีการเจรจาเรื่องการพัฒนาตลาด Chill Agriculture and Fishery products ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีความต้องการและเหมาะสมอย่างยิ่งในการขนส่งทางอากาศ เพื่อขยายตลาดการส่งออกสินค้าไทย |
. |
กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประชาสัมพันธ์การนำเข้าผัก ผลไม้ไทยผ่าน TMP โดยการจัดกิจกรรม Instore Promotion ร่วมกับร้านค้าใหญ่ที่มีสาขาทั่วเยอรมนี เช่น EDEKA, Kaufhof , Metro อย่างสม่ำเสมอในแต่ละปี เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้ไทยผ่าน TMP |