เนื้อหาวันที่ : 2009-07-27 18:37:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 530 views

ส.อ.ท.เล็งเสนอรัฐตั้งธนาคารเฉพาะกิจภาคอุตสาหกรรม แก้ปัญหาธพ.ไม่ปล่อยกู้

นายสมมาตร ขุนเศษฐ  รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอรัฐบาลจัดตั้งธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อดูแลภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งอื่น เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เนื่องจากการหารือกับผู้ระกอบทั่วประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในทุกภาคขณะนี้ประสบภาวะขาดสภาพคล่อง 

.

โดยขณะนี้มีความต้องการสินเชื่อสูงถึงแสนล้านบาท  แต่ธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ปล่อยสินเชื่อให้ โดยตั้งแต่ มี.ค.- ก.ค.52 มีสมาชิก ส.อ.ท. ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ จำนวน 4,000 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 62 ล้านบาทเท่านั้น

.

โดยสาเหตุที่ธนาคารต่าง ๆ ไม่ปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเห็นว่าหลักประกันที่ผู้ประกอบการนำมาค้ำประกันนั้นไม่เพียงพอ บางราย เคยใช้ค้ำประกันในการขอสินเชื่อมาก่อนแล้ว หรือเป็นการกู้รอบ 2 แต่ใช้หลักประกันเดิม  ขณะที่ธนาคารบางแห่งตัดสิทธิ์การปล่อยสินเชื่อกับบางอุตสาหกรรมที่คิดว่ามีความเสี่ยงสูง  เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ  เสื้อผ้า   รวมถึงมีการยื้อเวลาด้วยการขอหลักฐาน ข้อมูลเป็นเวลานาน   

.

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ไม่ได้อยู่ในระดับต่ำแต่เป็นระดับเดียวกับดอกเบี้ยทั่วไป  ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน   

.

ขณะที่นายทวีกิจ  จตุรเจริญคุณ  รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงาน ตั้งแต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 51 จนถึงขณะนี้ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  โดยขณะนี้มีการเลิกจ้างงานเพียง 3 แสนคนหรือคิดเป็น 10 %  จากทั้งหมดที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. 3 ล้านคน  เนื่องจากเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว และจากการที่รัฐบาลได้มีการออกนโยบายเพื่อชะลอการเลิกจ้าง  แต่หากผู้ประกอบการยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็จะทำให้อนาคตอาจมีการเลิกจ้างงานได้ 

.

ขณะที่ในบางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่ายังมีความต้องการแรงงานอยู่ เช่น  จ.อยุธยา ที่ยังต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 4,000-5,000 พันคน  ภาคอีสานในภาคอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้า ต้องการแรงงานกว่า 10,000 คน