ตอกย้ำวิกฤติเศรษฐกิจ ธปท. ปรับเป้า GDP ปี 52 ติดลบ 3.0-4.5% ชี้เศรษฐกิจขณะนี้แค่ชะลอการหดตัว ยังไม่มีสัญญาณฟื้นคาดปีหน้าขยายตัวเป็นบวกได้ 3-5%
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 52 และ 53 ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับใหม่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่เผยแพร่ในวันนี้ โดยประเมินว่าจีดีพีปี 52 จะติดลบ 3.0-4.5% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 3.5-1.5% และในปีหน้าจีดีพีจะขยายตัวเป็นบวกได้ถึง 3-5% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5-3.5% |
. |
. |
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีมากกว่าปัจจัยบวก โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 4 ประการ และมองว่าเศรษฐกิจในขณะนี้แค่ชะลอการหดตัวลง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้อย่างชัดเจน มีเพียงตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่เริ่มทรงตัว |
. |
"เศรษฐกิจทั้งปี 52ยังคงหดตัว แม้จะมีแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลัง ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ คณะกรรมการฯ ประเมินว่ามีโอกาสสูงที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 52 จะต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับก่อน |
. |
ส่วนในปี 53 จะสูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยจากแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่คาดว่าจะสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ และแรงกระตุ้นทางการคลังที่สูงขึ้น"ธปท.ระบุในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ |
. |
นางอัจนา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/52 ยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มทรงตัว ส่วนเศรษฐกิจในไตรมาส 3/52 จะดีขึ้นจากไตรมาส 2/52 แต่ยังติดลบเช่นกัน และไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และหลังจากนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 4% |
. |
"ภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกถือว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ดังนั้น ช่วงไตรมาส 2-4/52 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ความต้องการสินค้าและบริการเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ"นางอัจนา กล่าว |
. |
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 4 ประการของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าจะล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้, เสถียรภาพทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้, ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว และ ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนสูงขึ้น |
. |
อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงติดลบต่อไป และในช่วงไตรมาส 4/52 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐาน(core inflation)จะกลับมาอยู่ในกรอบของ ธปท.ที่ 0-3.5% ได้ จากนั้นอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก หลังจากที่มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ |