เนื้อหาวันที่ : 2009-07-23 15:16:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2456 views

8 วิถีเพื่อสุขภาพหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั้งในชายและหญิง แต่โชคดีทีสามารถป้องกันได้

.

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั้งในชายและหญิง ตามสถิติแล้ว ประชากรทุก 10 คนจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจถึง 4 คน โดยสาเหตุของโรคมักมาจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือภาวะที่มีไขมันก่อตัวอยู่บริเวณผนังหลอดเลือดจนส่งผลกระทบต่อการลำเลียงเลือดไปยังหัวใจ  

.

แม้สถิติของโรคหัวใจออกจะน่ากลัวอยู่บ้าง แต่โชคดีที่โรคดังกล่าวนี้ป้องกันได้ คำแนะนำ 8 ประการต่อไปนี้อาจช่วยคุณลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจได้

.
1. รู้จักตัวเอง

มีปัจจัยหลายประการที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจโดยที่บางปัจจัย เช่น มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เป็นเรื่องที่คุณไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ปัจจัยอื่นๆ ซึ่งส่วนมากได้แก่พฤติกรรมส่วนตัว และการดำเนินชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ควบคุมได้  เช่น หากคุณสูบบุหรี่ หรือมีความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของคุณจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ดังนั้น แม้การทราบว่าตัวเองเสี่ยงต่อโรคหัวใจจะทำให้คุณกังวล แต่ก็ทำให้คุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนกลายเป็นผู้มีสุขภาพดี ปลอดจากโรคหัวใจได้เช่นกัน

.
2. อย่าอยู่เฉย

การอยู่เฉยๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ การออกกำลังกาย (อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 4 ถึง 5 ครั้ง) ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ได้หลายประการ รวมทั้งโรคร้ายแรงอย่างเช่นโรคมะเร็ง

.

การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน ผ่อนคลายความเครียด ทำให้อารมณ์ดี และกระดูกแข็งแรงอีกด้วย

.

แม้ในสัปดาห์หนึ่งๆ คุณอาจไม่มีเวลาออกกำลังกายได้มากขนาด 4 หรือ 5 ครั้ง การออกกำลังกายแม้เพียง 1 ถึง 2 ครั้งก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ดี เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย

.

คำเตือน: ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพของคุณ                         

.
3. งดสูบบุหรี่
ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจประการใดจะร้ายแรงเท่ากับการสูบบุหรี่อีกแล้ว การเลิกบุหรี่ได้จึงเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพหัวใจ
.

บุหรี่ ประกอบไปด้วยสารเคมีหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต สารเหล่านี้จะเพิ่มความดันให้สูงขึ้น และลดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดลง ดังนั้นไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยก็เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเดียวกัน แม้แต่ผู้ที่สูบเป็นบางครั้ง ก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบเลย

.

การเลิกสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีหลายหนทางที่ช่วยให้เลิกได้ โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะรายบุคคล

.
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ชีวิตที่เร่งรีบทำให้หลายคนไม่มีเวลาไตร่ตรองเรื่องการรับประทานอาหารเท่าไรนัก ทั้งฟาสต์ฟู้ด อาหารขยะ และการรับประทานมากเกินพอดี ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้

.

.

ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ หมายถึงการลดอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและไขมันแปลงสภาพ รับประทานผักและผลไม้ประมาณ 5 ถึง 10 ส่วนต่อวัน เน้นธัญพืชไม่ขัดสี และบริโภคโปรตีนไขมันต่ำ อาทิ เนื้อไม่ติดมันและเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาที่อุดมด้วยไขมันอย่างปลาแซลมอนที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่มากซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวในการประกอบอาหาร           

.

นอกจากนี้ การรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่ควรรับประทานประมาณ 2,000 แคโลรี่โดยให้มีสัดส่วนของไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ดังนั้น อย่าลืมอ่านฉลากทุกครั้งเมื่อซื้อหาอาหารมารับประทาน

.
5. ควบคุมความดันโลหิต

ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงโดยอัตโนมัติ เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็น "ส่วนผสม" พื้นฐานของโรคหัวใจ ในระยะยาว ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดการอักเสบ ทำลายผนังหลอดเลือดจนเกิดเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา 

.

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งพันธุกรรม ความอ้วน การรับประทานอาหารโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ และการขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจึงเป็นวิธีที่ได้ผลดีในระยะยาว ในรายที่มีความดันสูงมากๆ  เวชภัณฑ์หลายชนิดก็ใช้ได้ผลดี

.

ผู้ที่ไม่อ้วนและดูเหมือนจะมีสุขภาพดี ก็อาจมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตได้ หลีกเลี่ยงของทานเล่นที่มีไขมันสูง หรืออาหารทอดน้ำมันท่วม แล้วหันมารับประทานผัก ผลไม้มากขึ้นจะช่วยให้คุณควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้

.
6. ลดน้ำหนักส่วนเกิน

ความอ้วน และน้ำหนักส่วนเกินไม่ส่งผลดีแต่ประการใด โดยเฉพาะกับสุขภาพหัวใจ น้ำหนักเกินนั้นเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ที่มีรอบเอวหนามีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งทั้งสามโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจทั้งสิ้น

.
7. ผ่อนคลายความเครียด

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่หากเครียดมากเกินไปก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพกาย อารมณ์ และสุขภาพจิต แม้ความเกี่ยวพันระหว่างความเครียดกับโรคหัวใจจะยังไม่ชัดเจน แต่ความเครียดมีผลทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมนความเครียด อาทิ คอร์ติซอล และอะดรีนาลีน เพิ่มสูงจนเป็นอันตราย ทั้งยังส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารมากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น และออกกำลังกายน้อยลง

.

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น ขณะที่การทำสมาธิ นวดผ่อนคลาย  เล่นโยคะก็เป็นวิธีผ่อนคลายที่ได้รับความนิยมเช่นกัน 

.
8. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ข้อสุดท้ายนี้อาศัยความพยายามเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นเป็นประโยชน์มาก การตรวจสุขภาพช่วยให้พบปัญหาที่อาจกลายเป็นอันตรายได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ซึ่งการรักษาจะได้ผลดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

.

ทั้งความดันโลหิต และคอเลสเตอรอลเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดความดันและระดับไขมันในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ 

.

โดยทั่วไป ควรตรวจสุขภาพหัวใจทุกๆ 2 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ควรเพิ่มความถี่ในการตรวจมากขึ้น บางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจหัวใจขั้นสูง เช่น ทดสอบสมรรถภาพหัวใจบนสายพานวิ่ง แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจด้วย

.
ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร และสุขภาพของคุณเป็นอย่างไร การปรึกษาแพทย์ว่าคุณควรตรวจอะไร และเมื่อใดก็เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณไม่ควรละเลย
.
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์