เนื้อหาวันที่ : 2009-07-23 14:32:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1524 views

คนไทยแห้วอดใช้ "อีโคคาร์"

คนไทยอาจหมดสิทธิได้ใช้รถประหยัดน้ำมันราคาถูก โครงการอีโคคาร์สะดุดอีกแล้ว "ชาญชัย"ปัดข้อเสนอค่ายรถยนต์ ยันจำนวนผลิต-ภาษีจ่ายต้องเท่าเดิม

คนไทยอาจหมดสิทธิได้ใช้รถประหยัดน้ำมันราคาถูก โครงการอีโคคาร์สะดุดอีกแล้ว ส่อแววไม่เกิด เหตุ"ชาญชัย"ปิดประตู ไม่รับข้อเสนอค่าย"โตโยต้า"-"มิตซูบิชิ"ปรับลดจำนวนผลิต และปรับลดภาษี บอกคุยกันได้ แต่ไม่โอเคแน่นอน

.

.

กรณีผู้ประกอบการรถยนต์เตรียมยื่นข้อเสนอให้ปรับลดจำนวนการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ และขอลดภาษีลงอีกมากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติไปแล้ว

.

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวหลังเป็นประธานเปิดงาน บางกอก ยูสคาร์ 2009 ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ว่า โครงการดังกล่าวมีข้อตกลงกับบีโอไอคือต้องผลิตรถยนต์อีโคคาร์ให้ได้จำนวน 500,000 คันในปีที่ 5 แต่หากจะมีค่ายรถยนต์เข้ามาเจรจา หรือพูดคุยเพื่อขอปรับลดตัวเลขการผลิต ก็ยินดีแต่ขอบอกก่อนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

.

นายชาญชัยกล่าวว่า ส่วนที่มีค่ายรถยนต์บางค่ายแสดงความเห็นว่าน่าจะปรับลดอัตราภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กลงอีก เพราะปัจจุบันจัดเก็บอัตราภาษีที่แพงเกินไปนั้น ก็ยินดีจะพูดคุยเจรจาด้วย แต่ขอยืนยันตรงนี้เลยว่าไม่โอเคกับข้อเสนอเหล่านี้แน่นอน

.

สำหรับงานบางกอก ยูสคาร์ 2009 นายชาญชัยกล่าวว่า เป็นการจัดงานโชว์รถยนต์มือสองของบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งแรกของรถยูสคาร์และรถซุปเปอร์คาร์ที่มีมูลค่าสูง มีระยะเวลาการจัดงานถึง 5 วัน เชื่อว่าจะมียอดการซื้อขายในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมแล้วตลอด 5 วันคาดว่าจะมีเม็ดเงินเกิดขึ้นในงานทั้งหมดราว 5,000 ล้านบาท

.

"ที่ผ่านมาตลาดรถยนต์มือสองถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีภาพรวมการซื้อขายดีมาก ดูจากตัวเลขตลาดรวมของการซื้อขายรถมือสองซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ปีละ 300,000 ล้านบาท นอกจากนี้แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแต่ค่ายรถมือสองกลับไม่เคยเข้าพบหรือร้องเรียนมาทางผมแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี" นายชาญชัยกล่าว

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบีโอไอมีมติลดอากรขาเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนผลิตอีโคคาร์ ในอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 90% เป็นเวลา 2 ปี โดยจะพิจารณาอนุมัติคราวละ 1 ปี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอีโคคาร์ลงได้คันละ 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายโตโยต้าได้แสดงความเห็นว่ามติดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าต้องผลิตรถยนต์อีโคคาร์ให้ได้ตามจำนวนที่กำหนดคือ ปีละ 100,000 คัน

.

โดยจะนัดผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นๆ หารือถึงข้อเสนอดังกล่าวเพื่อขอเจรจากับรัฐบาลขอลดจำนวนการผลิตลง เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลต่อการทำตลาด ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายมิตซูบิชิเห็นว่าควรลดภาษีให้กับรถอีโคคาร์ลงอีกเพื่อให้ต้นทุนถูกลงและสามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้ถูกลง เป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจซื้อ

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์